เผยแพร่ |
---|
เจ้าของเซเว่นฯ ตัวจริง มองโลตัสคือโอกาสเปิดตลาดเอสเอ็มอี เผยซีพีไม่ผูกขาด แต่สร้างโอกาส จากมนุษย์เงินเดือนสู่การเป็นเถ้าแก่ ทำได้อย่างไร
วันนี้ ความกดดันทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหาสังคม ทำให้คนมองผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นภาพมโนคติ ว่าต้องเอาเปรียบ ผูกขาดการแข่งขัน โดยอาจมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถสร้างโอกาสให้ผู้คนมากมาย สร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งหลายครั้ง เรามักพูดกันว่าธุรกิจต้องปรับตัว ต้องใช้เทคโนโลยี แต่มาปรับตัวมาเป็นร้านค้า 4.0 ในรูปแบบเซเว่นอีเลฟเว่น คนกลับไปเปรียบกับโชห่วยแล้วมองร้านสะดวกซื้อในแง่ลบ ทั้งนี้ เจ้าของร้านตัวจริงคือเอสเอ็มอี ซึ่งเซเว่นฯ มี 12,000 สาขา มีเจ้าของเป็นเถ้าแก่เอสเอ็มอีเกินครึ่ง ถึงกว่า 7,000 สาขา แต่ทำไมคนไทยกลับไม่สนับสนุน แถมมองเป็นเรื่องของระบบทุน ทั้งที่จริงเป็นต้นแบบของการมีส่วนร่วมแบบ Inclusive โตไปด้วยกัน คนที่ได้มาทำจะรู้ว่า การทำธุรกิจต้องร่วมมือกัน อยู่คนเดียวไปไม่รอด
หากคุณเป็นเพียงลูกจ้าง แต่มีความใฝ่ฝันจะเป็นเจ้าของธุรกิจ ความฝันนั้นจะเป็นจริงได้อย่างไร อย่ามองธุรกิจใหญ่เป็นฝั่งตรงข้าม ไม่ต้องเริ่มใหม่จากศูนย์ แต่จะยืนบนไหล่ของยักษ์ได้อย่างไร เช่นเดียวกับ “มลุด พรมจารี” เจ้าของร้านแฟรนไชส์เซเว่นอีเลฟเว่น ถึง 3 สาขา จากมนุษย์เงินเดือน สู่บทบาทเจ้าของร้านแฟรนไชส์เซเว่นอีเลฟเว่นของมลุด พรมจารี สร้างความแปลกใจให้กับวงการธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อพอสมควร เพราะเขาเริ่มต้นจากการเป็นพนักงานเซเว่นฯ และเพื่อนพนักงานเซเว่นอีเลฟเว่นนับพันคน และได้รับโอกาสสำคัญจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ให้ใช้เงินลงทุนเพียง 30,000-50,000 บาท ในขณะเริ่มทำครั้งแรก กับสิทธิพิเศษเงินผ่อนชำระเป็นรายเดือน ก็สามารถเป็นผู้ประกอบการเจ้าของร้านตัวจริงได้อย่างง่ายดาย
มลุด เล่าว่า เริ่มต้นจากการเป็นพนักงานในร้านเซเว่นฯ ใช้ความตั้งใจทำงาน ศึกษา เรียนรู้ เชี่ยวชาญจนได้เป็นผู้จัดการร้าน กระทั่งวันหนึ่งเขาฝันไกล ต้องการสร้างอนาคตใหม่ จึงสอบถามเพื่อนพนักงานที่เคยเข้าโครงการแฟรนไชส์พนักงาน ซึ่งประสบความสำเร็จกับเส้นทางเดินใหม่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ขอใช้เวลาศึกษารายละเอียดและเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองถึง 3 เดือน
“พอได้ทำร้านแรกย่านบางหว้า ก็ทุ่มเทให้ร้านเต็มที่ การเป็นเจ้าของทำให้เราได้บริหารคน ได้รู้จักคนมากขึ้น รายได้เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ พอเห็นว่าความขยันและตั้งใจของเราได้ส่งผลทั้งยอดขายและการประเมินต่างๆ เราก็ยิ่งขยันทำมากขึ้น จนกระทั่งมีนโยบายให้พนักงานสามารถขยายสาขาที่ 2 ได้ ซึ่งผลการคัดเลือก ทำให้เราติด 1 ใน 9 รายที่ได้รับโอกาสช่วงแรกๆ จึงเปิดอีกหนึ่งแถวๆ พรหมวัฒน์ และนอกจากผลตอบแทนเป็นตัวเงิน ผมก็ยังได้รับรางวัลทุกปี เลยได้รับโอกาสให้เปิดสาขาที่ 3 แถวพระราม 2 อีกด้วย”
การเป็นพนักงานเซเว่นอีเลฟเว่น ทำให้สนุกกับการแข่งขันกับตัวเอง สร้างผลงานให้เป็นที่พึงพอใจ มีความสุขที่ได้เห็นรอยยิ้มของลูกค้า รู้สึกผูกพันกับลูกค้าประจำในชุมชน กลายเป็นความสบายใจในการทำงาน เขาจึงเป็นคนมุ่งมั่นมากขึ้น และเชื่อมั่นว่าเส้นทางเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขา
มลุด บอกว่า ความถนัดในงานค้าปลีกและประสบการณ์ทำงานนานหลายปีของเขาเปรียบได้กับปริญญาหนึ่งใบ แต่ที่เหนือกว่านั้นคือ การได้ ‘คลุกวงใน’ รู้ซึ้งทุกระบบการทำงาน ทั้งการขาย และการบริการลูกค้า เนื่องจากตลอดชีวิตการทำงานที่ร้าน เขาต้องเข้ารับการอบรมหลายหลักสูตร จึงซึมซับความรู้และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง
“เพราะบริษัทฯ ให้โอกาสพนักงานมาเป็นเจ้าของร้านแฟรนไชส์ จึงทำให้ผมมีวันนี้ และบริษัทฯ ยังให้การช่วยเหลือ รวมถึงสนับสนุนสอนงานหลายๆ ด้าน ให้เรารู้ขั้นตอนกระบวนการบริหารจัดการร้าน มีการอบรมหลักสูตรต่างๆ ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดการ ตอนผมเริ่มเข้ามาทำงานแรกๆ ผมเองก็จบแค่ม. 6 แต่ผมเชื่อว่าการอยู่มาก่อน ทำมานาน ทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้ระบบงาน รู้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน มีอะไรบ้าง และสถานการณ์แบบนี้จะแก้ไขได้ยังไง ทำซ้ำจนชำนาญ นั่นเป็นข้อได้เปรียบ”
มลุด เล่าต่อว่า สิ่งที่เขาต้องเรียนรู้เพิ่มเติม คือเรื่องการบริหารคน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ท้าทายชีวิตของเขาอย่างมาก เนื่องจากต้องรับผิดชอบชีวิตคนอื่นและรับภาระมากขึ้น ตั้งแต่รับสมัครและคัดเลือกพนักงานด้วยตัวเอง บริหารเงินเดือนพนักงาน ตลอดจนจัดการสวัสดิการและแก้ปัญหาจุกจิกทั้งเรื่องการทำงานและเรื่องครอบครัว
นอกจากนั้น พนักงานยังเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญทำให้เขาต้องขยายสาขาที่ 2 และ 3 เพิ่มขึ้น เนื่องจากมองว่าน้องๆ ในร้านต้องเติบโตไปพร้อมกันกับเขา เมื่อผู้ช่วยผู้จัดการหรือพนักงานที่มีผลงานดี มีความสามารถต้องการก้าวขึ้นเป็นผู้จัดการร้าน โดยมีความพร้อมและอยากมีรายได้เพิ่ม การเข้าไปอยู่ร้านแห่งใหม่จึงเป็นคำตอบที่เหมาะสมอย่างที่สุด หรือหากใครมีความพร้อมจะเป็นผู้ประกอบการ มลุดก็พร้อมที่จะส่งต่อให้เข้าโครงการแฟรนไชส์พนักงานเช่นเดียวกับเขา
“เรื่องคนเป็นเรื่องใหญ่ ผมคิดว่าร้านที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเจ้าของร้านไม่สร้างคน และถอดใจ ไม่มีกำลังใจจะทำธุรกิจต่อ หรือคิดว่าจะทำไม่ได้ แต่ผมอยากให้เขาคิดใหม่ว่า ทำไมคนอื่นยังทำได้ อยู่ได้ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ เพียงแต่เราต้องมีเทคนิคในการพูดคุยกับน้องๆ พนักงานในร้าน แต่ละคนร้อยพ่อพันแม่จึงต้องอธิบายอย่างใจเย็น และให้ผลตอบแทนคืนกลับพนักงานอย่างเหมาะสม ให้รางวัลบ้าง เมื่อเราได้มากก็แบ่งให้น้องๆ พนักงานบ้าง เพื่อให้เขารักเรา อยู่กับเราได้นานๆ”
ส่วนเทคนิคการครองใจลูกค้าและทำให้ยอดขายเติบโตจนสามารถขยายสาขาได้เรื่อยๆ นั้น มลุด เผยเคล็ดลับว่า การขายในร้าน ไม่ใช่แค่ยืนขายหน้าแคชเชียร์เท่านั้น แต่เราต้องรักษามาตรฐานของร้านไว้ซึ่งสามารถตรวจสอบระบบการให้บริการได้ต้องใส่ใจกับรายการโปรโมชั่นใหม่ๆ เคลียร์ลูกค้าหน้าแคชเชียร์ได้เร็ว ทำให้ลูกค้าประทับใจและมั่นใจในคุณภาพสินค้าและบริการ เพื่อให้ลูกค้าติดใจแล้วมาซื้อที่ร้านของเราอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีแฟรนไชส์รายอื่นเปิดไม่ห่างกันมาก ลูกค้าคนละกลุ่มกันก็จริง แต่แฟรนไชส์ก็ต้องใส่ใจในการให้บริการ อย่าทิ้งลูกค้าที่เป็นของเราอย่างเด็ดขาด
สำหรับคนที่สนใจธุรกิจแฟรนไชส์เซเว่นอีเลฟเว่น ถ้าอยากทำต้องมุ่งมั่นที่จะทำตรงนี้จริงๆ และมีความทะเยอทะยาน ไม่ลังเลที่จะกระโจนลงไป ตั้งใจลุยทำงานร้านของตัวเองอย่างเต็มที่ เมื่อทุกคนคิดและทำได้อย่างนั้นจริงๆ ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่นอีเลฟเว่น ได้ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการแฟรนไชส์มากว่า 25 ปีแล้ว และยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งสร้างเจ้าของกิจการร้านค้าปลีกยุคใหม่ ปัจจุบันมีร้านบริษัทจำนวน 3,721 สาขา คิดเป็น 44% ร้านแฟรนไชส์จำนวน 4,669 สาขา คิดเป็น 56% ในจำนวนดังกล่าวเป็นร้านแฟรนไชส์พนักงาน จำนวน 1,015 สาขา ซึ่งจำนวนร้านที่เป็นแฟรนไชส์เติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
ทั้งนี้ โลตัสเมื่อกลับมาอยู่กับซีพีอีกครั้ง ก็จะเป็นโอกาสในการสร้างผู้ประกอบการ โดยเฉพาะคู่ค้าที่เป็น เอสเอ็มอี โดยมีเป้าหมายสร้างยอดขาย เอสเอ็มอี เพิ่มขึ้น 10% ทุกปี นับว่ายิ่งเป็นโอกาสให้คนไทยได้สร้างอาชีพ และที่สำคัญ การส่งไปต่างประเทศ ตลาดใหญ่ขึ้น ก็ยิ่งทำให้เป็นการเติบโตไปพร้อมๆ กันอย่างยั่งยืน