‘พินิจ’ มอบพันธุ์ไม้ให้เครือมติชน ปลูกต้นไม้คืนธรรมชาติ สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ-ลดก๊าซคาร์บอนฯ

‘พินิจ' มอบพันธุ์ไม้ให้เครือมติชน ปลูกต้นไม้คืนธรรมชาติ สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ-ลดก๊าซคาร์บอนฯ
‘พินิจ' มอบพันธุ์ไม้ให้เครือมติชน ปลูกต้นไม้คืนธรรมชาติ สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ-ลดก๊าซคาร์บอนฯ

‘พินิจ’ มอบพันธุ์ไม้ให้เครือมติชน ปลูกต้นไม้คืนธรรมชาติ สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ-ลดก๊าซคาร์บอนฯ


เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ มอบพันธุ์ไม้มงคลให้เครือมติชน จำนวน 1,950 ต้น ประกอบด้วย ไม้พะยูง 1,000 ต้น ไม้มะเกลือ 200 ต้น ไม้ชิงชัน 150 ต้น ไม้ยางนา 100 ต้น ไม้แดง 100 ต้น ไม้ประดู่แดง 100 ต้น ไม้มะขามป้อม 100 ต้น ไม้ตะเคียนทอง 100 ต้น ไม้ประดู่ลาย 50 ต้น และไม้สะเดา 50 ต้น โดยมีนางสาวปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นายฐากูร บุนปาน รองประธานกรรมการ บมจ.มติชน, นายสุรพล พิทยาสกุล ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการ บมจ.มติชน, นายพานิชย์ ยศปัญญา บรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน และนายวรศักดิ์ ประยูรศุข บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน เป็นตัวแทนรับมอบ

นายพินิจ กล่าวว่า ได้รับทราบว่านิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านเป็นหนังสือที่มีคุณค่า มีความหมาย นำพาให้เกษตรกร รวมทั้งพี่น้องประชาชนที่มีความสนใจด้านเกษตรได้ความรู้อย่างครบวงจร หลายปีก่อนสื่อฉบับนี้พูดถึงอินทผลัม ซึ่งคนยังมองไม่เห็นว่าจะออกมาประสบความสำเร็จหรือไม่ รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แต่นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านแนะนำว่านี่เป็นพืชเกษตรตัวใหม่ จนกระทั่งกลายเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยม มีความต้องการในตลาดมุสลิม ตะวันออกกลางจำนวนมาก รวมถึงจีน แสดงว่านิตยสารฉบับนี้ได้แนะนำแนวทางให้พี่น้องเกษตรกร หรือผู้ที่มีอาชีพอื่นได้รับความเข้าใจอย่างดียิ่ง ตลอดจนยังส่งผลดีต่อการส่งออกผลไม้ไปยังต่างประเทศ เนื่องจากประชาชนอาศัยความรู้และคำแนะนำจากนิตยสารเล่มนี้

นายพินิจ กล่าวว่า ช่วงที่เกิดวิกฤตโลกร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น ฝนตกหนัก น้ำท่วม ภัยแล้ง รวมทั้งการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายอย่างหยุดชะงัก หรือปิดตัวไป แต่ในด้านการเกษตรยังไปได้ มีความขยายตัวต่อเนื่อง จึงคิดว่าน่าจะส่งเสริมให้นิตยสารฉบับนี้ได้ร่วมเผยแพร่ อย่างไรก็ตาม ต้นไม้บางชนิดสูญพันธุ์แล้ว หรือใกล้สูญพันธุ์แล้ว เช่น ประดู่ลาย ซึ่งในประเทศไทยหาต้นพันธุ์เกือบไม่ได้ จึงติดต่อกับหน่วยงานกสิกรรมและป่าไม้ สปป.ลาว ช่วยเก็บเมล็ดพันธุ์ และให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ความดูแลของนายวราวุธ ศิลปอาชา ร่วมกับปลัดกระทรวง อธิบดี และหน่วยงานต่างๆ ใน จ.อุดรธานี หนองคาย สกลนคร บึงกาฬ เพาะพันธุ์จนประสบความสำเร็จ ช่วงหลายปีมานี้เราแจกกล้าประดู่ลายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2-3 หมื่นต้น ให้แก่พระสงฆ์และวัดต่างๆ 


“ปีนี้เรามีวิกฤตหลายเรื่อง ทำให้คนมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น ไปต่างประเทศไม่ได้ มีเวลาว่าง มีเวลาสร้างบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่ดี จึงนำกล้าไม้มามอบให้กับเครือมติชนได้แจกให้กับพี่น้องประชาชน หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่มติชนจะมอบให้ เพื่อส่งเสริม ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยไม้ที่เป็นพระเอกในตอนนี้คือไม้พะยูง มีราคาแพงกว่าไม้สัก โดยต้นพะยูง 1 ต้น ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 0.95 กิโลกรัม/ปี ซึ่งไม้แต่ละชนิดดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เท่ากัน ดังนั้น หากปีหนึ่งคนไทยเกือบ 70 ล้านคน ปลูกต้นไม้คนละต้น ก็จะลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 70 ล้านกิโลกรัม/ปี ลดอุณหภูมิให้กับประเทศไทย เพิ่มความชุ่มชื้น ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเกิดคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจ เพราะตลาดโลกยังต้องการเนื้อไม้อีกมาก” นายพินิจ กล่าว

นายพินิจ กล่าวว่า ได้พูดคุยกับผู้บริหารมติชน และเราเห็นพ้องต้องกันว่าเครือมติชนสนับสนุนเรื่องการปลูกต้นไม้คืนธรรมชาติ จึงคิดว่าน่าจะนำเอาต้นไม้ที่มีคุณค่ามาร่วมกับเครือมติชนมอบให้พี่น้องประชาชน รวมถึงสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน พร้อมกันนี้ จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันปลูกต้นไม้ ดูจากความเหมาะสมของพันธุ์ไม้และพื้นที่ หากเป็นสวนใหญ่อาจปลูกได้เยอะ