Eat At Home เทรนด์ใหม่มาแรง

Eat At Home เทรนด์ใหม่มาแรง
Eat At Home เทรนด์ใหม่มาแรง

Eat At Home เทรนด์ใหม่มาแรง


นักการตลาดยุคนี้มองว่า คน Gen Z คือกลุ่มที่มีบทบาทสูงสุดต่อตลาดในยุคปัจจุบัน สอดคล้องกับรายงาน NPD Group ที่ระบุว่า การสั่งอาหารแบบออนไลน์และสั่งแบบ Take-Away เพิ่มขึ้น เทรนด์เหล่านี้ในประเทศไทยก็เริ่มเห็นชัดเจน นับเป็นเรื่องที่ธุรกิจร้านอาหารควรศึกษา
#EatAtHome #GenZ #NewNormal #bangkokbank #bangkokbanksme #sme

พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องการทั้งคุณภาพและความสะดวกสบายในการสั่งซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก เป็นตัวเร่งทำให้ธุรกิจบริการด้านอาหารอย่างการสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ ส่งตรงถึงบ้านในลักษณะดีลิเวอรี่เติบโตแบบก้าวกระโดด

ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง เป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานว่า ผลการสำรวจการรับประทานอาหารนอกบ้านของบริษัท NPD Group ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยทางการตลาดในสหรัฐ พบปรากฏการณ์น่าสนใจยิ่ง

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

Mr. David Portalatin รองประธาน บริษัท NPD Group รายงานในการประชุม Global Seafood Market Conference เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ว่า จากการสำรวจตลาดภาคบริการด้านอาหารในสหรัฐ เห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังเกิดขึ้น เนื่องจากข้อมูลจากการสำรวจชี้ชัดว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มจะรับประทานอาหารที่บ้าน มากกว่าการไปรับประทานอาหารในร้านอาหารนอกบ้าน

อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารในบ้านไม่ได้หมายความว่าชาวอเมริกันจะปรุงอาหารเพื่อรับประทานเอง แต่พบว่าบ่อยครั้งเป็นการสั่งอาหารผ่านทางออนไลน์ หรือสั่งซื้อจากร้านอาหารเพื่อรับประทานที่บ้าน

ในปี 2562 ที่ผ่านมาพบว่าการจับจ่ายใช้สอยด้านอาหารของผู้บริโภคในสหรัฐคิดเป็นมูลค่ารวม 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้นร้อยละ 1.8 โดยสิ่งที่สะท้อนชัดเจนคือผู้บริโภคมีความต้องการความสะดวกสบายในบริการด้านอาหารเพิ่มขึ้น ควบคู่กับต้องการและมีความคาดหวังด้านคุณค่า ความรวดเร็ว และความมีประสิทธิภาพในการให้บริการ

โดยหลักๆ มาจากความนิยมของกลุ่มผู้บริโภคซึ่งเป็นคนในกลุ่ม Gen Z ที่กำลังย่างเข้าสู่วัยทำงาน หรือเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ในช่วงศตวรรษที่ 21 ในขณะที่กลุ่มประชากรที่อยู่ใน Gen Y ที่เคยมีส่วนสำคัญที่จะชี้ทิศทางตลาดธุรกิจอาหารเริ่มมีอิทธิพลต่อตลาดนี้น้อยลง ส่วนใหญ่กลายเป็นหัวหน้าครอบครัว ส่งผลให้คน Gen Z เริ่มจะครอบงำอุตสาหกรรมบริการอาหาร และถือว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่สุดในตลาด ทั้งนี้กระแสความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นแนวโน้มที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก

Mr. Portalatin ระบุว่า สาเหตุที่กลุ่มคน Gen Z เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นตามลำดับ ส่วนหนึ่งมาจากคนกลุ่มนี้เริ่มมีอายุมากขึ้น มีหน้าที่การงาน มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจนคือ เมื่อเทียบผลการสำรวจครั้งล่าสุดกับการสำรวจปีก่อนหน้านี้พบว่า คน Gen Z รับประทานอาหาร ซื้อสินค้าและบริการจากร้านอาหารเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม และแนวโน้มดังกล่าวจะดำเนินต่อเนื่องไปอีกหลายปี

แม้จะสวนทางกับสถานการณ์ทางการตลาดของอุตสาหกรรมร้านอาหาร ที่กำลังเผชิญปัญหาธุรกิจชะลอตัวลง สาเหตุมาจากความต้องการในการบริโภคอาหารในร้านอาหารสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นก่อนยุค Baby Boomers รวมทั้งคนรุ่น Baby Boomers ลดน้อยลง จนถึงจุดอิ่มตัวแล้ว โดยมีกลุ่ม Gen Z เข้ามาแทนที่

ขณะเดียวกันจากที่ บริษัท NPD Group ได้ศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้า Gen Z คาดการณ์แนวโน้มได้ว่า ปีนี้คนกลุ่มนี้จะเข้าร้านอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ส่วนใหญ่เป็นการรับประทานอาหารในร้านอาหารทั่วไปที่บริการรวดเร็ว และร้านอาหารจานด่วน

จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมร้านอาหาร จะต้องทำความเข้าใจความต้องการ ตลอดจนพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มนี้ เพื่อหาทางตอบสนองความต้องการในการบริโภคของคน Gen Z ที่จะมีส่วนสำคัญในการชี้เป็นชี้ตายทิศทางตลาดในอนาคตอันใกล้

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตจากการสำรวจว่า สถานที่ที่ชาวอเมริกันรับประทานอาหารนั้นไม่ใช่ที่ร้านอาหาร แต่ส่วนใหญ่เป็นการรับประทานที่บ้านของตนเองแทน ส่งผลให้การจัดส่งอาหารในลักษณะดีลิเวอรี่ ที่สั่งซื้อผ่านระบบดิจิตอล เติบโตเพิ่มขึ้นตามไปด้วยถึงร้อยละ 16 ต่อปี ขณะที่การสั่งซื้ออาหารกลับบ้านในลักษณะ Take- Away ที่สั่งผ่านระบบดิจิตอลเติบโตขึ้นร้อยละ 30 ต่อปี

แนวโน้มดังกล่าวชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นเรื่องผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร รวมทั้งคู่ค้า ซัพพลายเชนจำเป็นต้องปรับรูปแบบการให้บริการด้านอาหาร ตลอดจนรูปแบบของร้านอาหาร ให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

 

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏให้เห็นยังสอดคล้องกับการเติบโตขยายตัวของสินค้าและบริการอีกหลากหลาย อาทิ วิดีโอเกม ตลาดเสื้อผ้า อุปกรณ์อัจฉริยะภายในบ้าน ฯลฯ โดยผู้บริโภคพร้อมจะจ่ายเงินซื้อหรือลงทุน เพื่อแลกกับความสะดวกสบายภายในบ้านของตนเองมากยิ่งขึ้น เช่น การมีตู้เย็นที่สามารถสแกนสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายใน การแนะนำอาหารตามความชอบของผู้บริโภค หรือการสั่งซื้อวัตถุดิบปรุงอาหารโดยอัตโนมัติ โดยมีระบบบริการจัดส่งถึงบ้าน

แม้จะเป็นการปรับเปลี่ยนท่ามกลางวิกฤต และก็เป็นโอกาสและท้าทายสำหรับผู้ประกอบธุรกิจอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอาหารไทยจึงต้องไม่นิ่งนอนใจ เพราะเมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่เปลี่ยน ธุรกิจก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดรับกระแส ธุรกิจอาหารไทยกับอีกหลากหลายธุรกิจก็ไม่มีข้อยกเว้น

สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<< 

ทิศทาง “โลกหลังโควิด” จะเปลี่ยนไปอย่างไร

โควิด-19 ปรับพฤติกรรมกินอาหารของคนเอเชีย

Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิก หรือ สายด่วน 1333