ปรับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง รองรับการขยายตัวต่อเนื่อง

ปรับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง รองรับการขยายตัวต่อเนื่อง
ปรับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง รองรับการขยายตัวต่อเนื่อง

ปรับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง รองรับการขยายตัวต่อเนื่อง

ทาสแมวและทาสน้องหมา คงเข้าใจ! ในไทยธุรกิจด้านสัตว์เลี้ยงโตเฉลี่ยร้อยละ 10 ขณะที่ตลาดส่งออกอาหารสัตว์โตอีกกว่าเท่าตัว สหรัฐฯ อาเซียน และอินเดีย กลายเป็นตลาดสำคัญ ยิ่งจากเทรนด์การเลี้ยงแบบ ‘Pet Lover’ มาเป็น ‘Pet Parent’ ยังดันให้ตัวเลขของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงโตไม่หยุด #PetBusiness #bangkokbank #bangkokbanksme #sme

ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงยังคงเติบโตในทุกโอกาส แม้แต่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงก็ยังมีการขยายตัว เนื่องจากสัตว์เลี้ยงมีการบริโภคเป็นประจำ ประกอบกับผู้เลี้ยงมีความเอาใจใส่ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว ทำให้มีการซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงสำรองไว้เช่นเดียวกับสินค้าจำเป็นอื่นๆ สอดคล้องกับสถิติการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยในไตรมาสแรกของปี 2563 (มกราคม-มีนาคม 2563) ที่มีมูลค่าส่งออกถึง 466 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 พบว่าขยายตัวกว่า 10%

ในขณะที่การส่งออกไปประเทศคู่ค้าสำคัญหลายตลาดขยายตัวอย่างน่าพอใจ เช่น อินเดีย ขยายตัว 52% มูลค่าการส่งออก 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐอเมริกา ขยายตัว 19% มูลค่าการส่งออก 104 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาเซียน ขยายตัว 13% มูลค่าการส่งออก 111 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และออสเตรเลีย ขยายตัว 9% มูลค่าการส่งออก 22.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญในกลุ่มคืออาหารสำหรับสุนัขและแมว มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดถึง 81%

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงสุนัข-แมว ยังเติบโต

ผลการสำรวจความนิยมชมชอบสัตว์เลี้ยงแบบไม่เป็นทางการ ในกลุ่มคนที่ทำงานบรรณารักษ์และผู้ประกอบวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการข้อมูลผ่านหน้าเฟซบุ๊ก Future Ready and Library Think Tank เพื่อสำรวจว่าสัตว์เลี้ยงประเภทไหนเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านยอดนิยมมากที่สุด โดยมีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจกว่า 480 คน จากนานาประเทศเข้าร่วมทำแบบสำรวจนี้ อาทิ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย บราซิล โรมาเนีย สหรัฐอาหรับเอมิเรต จีนและพม่า พบว่า แมวและสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่บรรณารักษ์ ที่อย่างน้อยเลี้ยงสัตว์ 1 ตัว และ 47% เลี้ยงทั้งสุนัขและแมวร่วมกัน

โดยคนเลี้ยงสุนัขมักจะเป็นพวกอนุรักษ์นิยมและมักจะปฏิบัติตามกฎมากกว่าคนเลี้ยงแมว นิยมเลี้ยงทั้งในแบบครอบครัว อยู่แบบคู่ ไปจนถึงโสดตัวคนเดียว ส่วนคนที่นิยมเลี้ยงแมวจะอยู่ในกลุ่มคนโสดที่อาศัยอยู่ตามอพาร์ตเม้นต์ตัวคนเดียว ด้วยความน่ารักของสัตว์เลี้ยงทั้งสองชนิดดังกล่าว ทำให้ผู้คนนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวเอาไว้เป็นเพื่อนแก้เหงา และทำให้ความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงยังคงเพิ่มขึ้นแม้อยู่ในช่วงวิกฤต

จากเทรนด์การเลี้ยงสัตว์ของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนจากการเลี้ยงแบบ “Pet Lover” มาเป็น “Pet Parent” ซึ่งเป็นความรักความผูกพันเหมือนคนในครอบครัว อันเป็นตัวช่วยดันให้ตัวเลขของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาหารสุนัขเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี

ยิ่งคนผูกพัน ตลาดอาหารสัตว์ยิ่งขยายตัว

Georgia Regents University และ Cape Fear Community College ได้ทำการสำรวจคนอเมริกันกว่า 500 คนผ่านแบบสอบถาม เพื่อทำการศึกษาเรื่องราวความรักระหว่างคนกับสุนัข ในประเด็นที่ว่า “หากมีรถบัสเบรกแตกกำลังพุ่งเข้าชนระหว่างสุนัขที่ตัวเองเป็นเจ้าของ กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตัวเองไม่รู้จัก เจ้าของสุนัขจะเลือกช่วยใคร? จะช่วยคนต่างชาติที่ไม่รู้จัก หรือจะช่วยสุนัขแสนรักของตัวเอง โดยให้เลือกรักษาชีวิตได้เพียง 1 ชีวิตเท่านั้น? พบว่า

คนอเมริกันจำนวน 40% เลือกที่จะช่วยสุนัขของตัวเอง โดยให้เหตุผลสั้นๆ ว่า “เพราะฉันรักสัตว์เลี้ยงของฉัน” ส่วนผู้ทำแบบสอบถามอีก 25% ต่างบอกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะมีความฉลาดพอที่จะเอาชีวิตรอดด้วยตัวเองได้ แบบสำรวจนี้ช่วยตอบโจทย์เรื่องความรักความผูกพันของคนกับสัตว์เลี้ยง ที่มีอย่างเหนียวแน่นได้เป็นอย่างดีเสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือญาติพี่น้องแท้ๆ มีความรักความห่วงใยถึงขั้นทำพินัยกรรมยกเงินหรือทรัพย์สินจำนวนหนึ่งให้แก่สุนัข และจากการศึกษาของ Goldsmiths University ประเทศอังกฤษ พบว่าสุนัขสามารถสัมผัสถึงอารมณ์เศร้าของมนุษย์ได้ และมีวิธีปลอบใจเจ้าของให้คลายเศร้าด้วยการเข้ามาคลอเคลีย เข้ามาเลียเพื่อปลอบใจให้ความอบอุ่น

ประกอบกับเทรนด์การใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปด้วย จึงช่วยดันให้ยอดขายอาหารสัตว์สุนัข-แมวเติบโตพุ่งขึ้นทุกปี ตามพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ของชาว Millennials ที่มีการแต่งงานช้า มีอัตราการแต่งงานลดลง และมีบุตรน้อยลง คงอยู่ในสถานะโสดมากขึ้น นิยมพักอาศัยเพียงลำพังมากกว่าอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ จึงทำให้สัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวกลายเป็นเพื่อนคลายเหงาได้ดี 

ประกอบกับสังคมคนสูงวัยที่มีมากขึ้น ทำให้สัตว์เลี้ยงกลายเป็นเพื่อนแก้เหงาแทนลูกหลานของคนชราไปด้วย ดังนั้นเมื่อเทรนด์การเลี้ยงเปลี่ยนไปจาก “Pet Lover” เป็น “Pet Parent” ผู้เลี้ยงจึงดูแลเอาใจใส่สุขภาพของสัตว์เลี้ยงตามไปด้วย จึงทำให้ต่อให้ประสบกับสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจชะลอตัว ปิดล็อกเมืองท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไร คนที่รักสัตว์เลี้ยงเหมือนลูกก็จะไม่ปล่อยให้สัตว์เลี้ยงต้องอดอยาก ตายจากไปอย่างแน่นอน

โอกาสของผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยง

จากสถิติการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยในไตรมาสแรกของปี 2563 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10% ประกอบกับเทรนด์การเลี้ยงสัตว์ที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสขยายการส่งออกได้ โดยเฉพาะในตลาดคู่ค้าที่ประเทศไทยมีความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ ที่ทำให้สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากไทยได้แต้มต่อในการแข่งขัน จากการปลดล็อกกำแพงภาษีศุลกากรกับ 15 ประเทศคู่ค้าเอฟทีเอ ได้แก่ ประเทศในกลุ่มอาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรูและฮ่องกง ที่ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยทุกรายการแล้ว มีเพียงญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ที่ยังคงการเก็บภาษีนำเข้ากับไทยในบางรายการสินค้า  

ตลอด 27 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ประเทศไทยทำความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกกับอาเซียน ทำให้การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยกับคู่เอฟทีเอขยายตัวทุกตลาด โดยอาเซียน ขยายตัวสูงสุด 6,306%  รองลงมาคือ จีน ขยายตัว 3,969% เกาหลีใต้ขยายตัว 650% อินเดียขยายตัว 573% นิวซีแลนด์ขยายตัว 531% และออสเตรเลียขยายตัว 244% ทำให้ในปี 2562 ไทยมีมูลค่าส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงสูงถึง 1,693 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอสูงถึง 954 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นแท่นเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับที่ 4 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน และเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขและแมวอันดับที่ 3 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา

ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการด้านการผู้ผลิตอาหารสัตว์และผู้ส่งออก ที่จะได้ศึกษาแนวโน้มและวางแผนการผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยมีคำแนะนำในช่วงโควิด-19 ที่อาจเพิ่มปริมาณมากขึ้นเพื่อรองรับการกักตุน หรือลดการเลี่ยงออกไปในที่สาธารณะ เป็นการปรับไปตามวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป โดยอำนวยความสะดวกด้านขนาดบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ขึ้น และยืดระยะเวลาในการเก็บรักษาให้ยาวนานออกไป ตลอดจนเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการด้วยวัตถุดิบคุณภาพที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง ตามมาตรฐานการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับหลักการสากลด้านสุขอนามัย และปฏิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าอย่างเคร่งครัด ให้สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยสามารถครองใจผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่องตลอดไปทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

แหล่งอ้างอิง:

https://www.nobfactory.com

https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/432919 

https://marketeeronline.co/archives/68580 


สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<< 

CBD ในกัญชงสำหรับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 

Pet Business ธุรกิจน่าลงทุนยุคนี้

Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจ สามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิก หรือ สายด่วน 1333