ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กรมชลประทานขอความร่วมมือชาวนาเริ่มทำนาปี หลังหมดภาวะฝนทิ้งช่วง รอฝนใหม่หลังกลางเดือน ก.ค. ยันบริหารจัดการน้ำเต็มที่ เพื่อให้เพาะปลูกได้ตามเป้า
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ที่ประกอบด้วย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมชลประทาน เตือนทุกฝ่ายใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะตั้งแต่ ปลาย มิ.ย.-กลาง ก.ค.นี้ จะมีปริมาณฝนตกน้อย เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง หรือสถานการณ์แล้งในหน้าฝน
ล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิ.ย.ผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้วประมาณ 4.43 ล้านไร่ หรือ 26% ของแผนการปลูกข้าวทั้งหมดที่วางไว้ 16.79 ล้านไร่ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.87 ล้านไร่, ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำนาแล้ว 1.88 ล้านไร่ คิดเป็น 23% ของแผนการปลูกข้าวที่วางไว้ 8.10 ล้านไร่ หรือน้อยกว่าปีก่อน 6.89 ล้านไร่
ภาคเหนือ ทำนาแล้ว 3.11 แสนไร่ หรือ 13.13% ของแผนการเพาะปลูกข้าว 2.37 ล้านไร่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำนาได้ 1.757 ล้านไร่ หรือ 50.46% จากแผนเพาะปลูกข้าว 3.48 ล้านไร่, ภาคกลางทำนาแล้วประมาณ 1,000 ไร่ หรือประมาณ 8.28% ของแผนเพาะปลูกข้าว 10,000 ไร่, ภาคตะวันออก ทำนาแล้วประมาณ 4.59 แสนไร่ หรือประมาณ 49.75% ของแผนเพาะปลูกข้าว 9.2 แสนไร่, ภาคตะวันตก ทำนาแล้วประมาณ 1,000 ไร่ หรือประมาณ 0.11% ของแผนเพาะปลูกข้าว 1.26 ล้านไร่ และภาคใต้ ทำนาแล้วประมาณ 1.6 หมื่นไร่ หรือประมาณ 2.57% ของแผนเพาะปลูกข้าว 6.4 แสนไร่
สำหรับกรณีที่เกษตรกรยังไม่ได้ทำนาปี ขอความร่วมมือให้เริ่มทำนาปีช่วงหลังกลางเดือน ก.ค.เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีฝนตกชุก และมีปริมาณน้ำเพียงพอในพื้นที่ จึงค่อยทำการเพาะปลูก เพราะกรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ในภาวะที่เขื่อนต่างๆ มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย เน้นส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก ด้านการเกษตรจะใช้ปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำ และลำน้ำสาขาให้เกิดประโยชน์สูงสุด เน้นเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า อย่างไม่ขาดแคลน
ด้าน นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อน ปี 2563 มีปริมาตร 30,765 ล้าน ลบ.ม. หรือ 43% ของความจุอ่างฯ และมีปริมาตรน้ำที่ใช้การได้เพียง 7,484 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาตรน้ำน้อยกว่าปีก่อน 5,563 ล้าน ลบ.ม.ที่มีปริมาตรน้ำในเขื่อน 36,328 ล้าน ลบ.ม. หรือ 51% ของความจุอ่างฯ มีปริมาตรน้ำที่ใช้การได้ 12,786 ล้าน ลบ.ม. หรือ 27% ของความจุอ่างฯ
“การทำนาในปีนี้ทำได้น้อยกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก เพราะปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อย และกรมชลประทานเก็บน้ำสำรองไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค ส่วนการทำการเกษตรสนับสนุนให้ใช้น้ำฝน ขณะนี้ฝนเริ่มทิ้งช่วง จึงขอความร่วมมือจากชาวนาและเกษตรกร ให้ชะลอทำการเกษตรจนกว่าจะมีฝนใหม่ลงมา เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อพืชเกษตร ขณะที่ปริมาณข้าวที่ปลูกได้ทั่วประเทศน้อยกว่าแผนมาก และหวังว่าหลังฝนทิ้งช่วง ชาวนาจะสามารถทำนาได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 16.79 ล้านไร่”
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า จากการติดตามสภาพฝนที่ตกในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ พบว่าปริมาณฝนที่ตกในลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาน้อยตามไปด้วย ซึ่งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา (17-23 มิ.ย. 2563) 4 เขื่อนหลัก มีน้ำไหลลงอ่างฯ รวมกันเพียง 119.94 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยน้ำไหลลงอ่างฯ รวมกันควรจะอยู่ที่ประมาณ 197 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็น เขื่อนภูมิพล มีน้ำไหลลงอ่างฯ 5.44 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ 222 ล้าน ลบ.ม. หรือ 2% ของน้ำใช้การได้ เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลลงอ่างฯ 101.19 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ 508 ล้าน ลบ.ม. หรือ 8% ของน้ำใช้การได้ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำไหลลงอ่างฯ 8.96 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ 150 ล้าน ลบ.ม. หรือ 17% ของน้ำใช้การได้ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำไหลลงอ่างฯ 4.35 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ 106 ล้าน ลบ.ม. หรือ 11% ของน้ำใช้การได้ นับได้ว่าอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก