รายแรกในไทย ขนมหม้อแกงถ้วยเนื้อไอศกรีม – หม้อแกงกรอบสไลซ์แผ่น ฟรีซดราย

รายแรกในไทย ขนมหม้อแกงถ้วยเนื้อไอศกรีม – หม้อแกงกรอบฟรีซดราย ไอเดียพ่อค้าเมืองเพชร โกยเงินปีละ 75 ล้าน

 

แม้จะเติบโตมากับอาชีพทำขนมขาย แต่ทว่าในเบื้องต้น คุณประวิทย์ เครือทรัพย์ ไม่คิดสานต่ออาชีพของพ่อกับแม่ ด้วยเพราะการทำขนมไทยจำหน่ายเป็นอาชีพเหนื่อยหนักหนากว่าจะได้เงินแต่ละบาท ยิ่งเห็นพ่อที่ต้องหอบขนมหนีเทศกิจ เพราะวางจำหน่ายในจุดต้องห้าม ทำให้เห็นถึงความไม่มั่นคง

จวบจนโอกาสเดินทางมาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพียงแค่เพื่อนๆ ในที่ทำงานต้องการกินขนมหม้อแกงจึงฝากให้หิ้วส่ง

ใครจะคิดว่า อาชีพรับขนมไปจำหน่ายกลับทำรายได้มากกว่าเงินเดือนประจำ

และนั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยนให้คุณประวิทย์ เลือกเดินทางสายเดียวกับพ่อ เพียงแต่นำความรู้ ควบคู่แนวคิดของคนรุ่นใหม่ สรรค์สร้างขนมหม้อแกงให้แตกต่าง นอกจากนั้น ยังมีขนมหวานเมืองเพชรอีกหลากหลายรายการที่ขับเคลื่อนแบบให้คนในชุมชนก้าวไปด้วยกัน

จนบัดนี้ “ลุงอเนก ขนมหวานเมืองเพ็ชร์” และ “บ้านเดือนขนมไทย” ขึ้นแท่นแบรนด์ขนมไทยมาตรฐาน เครื่องหมาย อย. และฮาลาล การันตี ส่งจำหน่ายไปทั่วประเทศ นำมาซึ่งรายได้ปีละ 75 ล้านบาท

โอกาสมา นำพาไป สุดท้ายได้เดินตามพ่อ 

กว่าจะมาเป็นวันนี้ คุณประวิทย์ เล่าย้อนไปถึงรุ่นคุณยายซึ่งมีฝีมือทำขนมหวานดีกรีแม่ครัวงานวัดงานบุญ เมื่อคุณอเนก เครือทรัพย์ (คุณพ่อของคุณประวิทย์) เข้ามาเป็นลูกเขยก็สนใจทำขนมขาย โดยได้แม่ยายเป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชา

“คุณพ่อเข้ามาเป็นเขยก็สนใจค้าขายขนม แต่ขายไปต้องระวังเทศกิจจะมาไล่ เพราะไม่มีพื้นที่แน่นอน ผมจำได้ว่าตอนอยู่ประมาณ ป.5 เคยไปช่วยไม่บ่อยนัก เพราะไม่ชอบ ตอนนั้นขนมหลักที่ทำคือ ข้าวต้มมัด ขาย 7 ชิ้น 5 บาท คือมันถูกมาก ซึ่งผมมองว่าถ้าให้ทำแบบพ่อไม่เอาดีกว่า”

กระทั่งต่อมามีการจัดสรรพื้นที่ เรียกว่าตรอกขายขนมหวานเมืองเพชร คุณอเนกและภรรยา ได้พื้นที่หน้าปากตรอก เริ่มขายตั้งแต่ตี 3 ไปสิ้นสุดไม่เกิน 10 โมงตลาดเริ่มวาย

ในขณะคุณประวิทย์ ศึกษาจบวิศวกรรมโทรคมนาคม จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็ตัดสินใจทำงานตามสาขาที่ได้ร่ำเรียน       

“ตอนเรียนจบผมคิดกลับบ้าน แต่มีทางเลือกแค่ 2 ทาง คือต้องไปสมัครงานในโรงงานที่เขาย้อย กับอีกทางหนึ่งคือ ต้องช่วยพ่อขายขนม จึงตัดสินใจไม่กลับ แต่เลือกเป็นวิศวกรดูแลระบบอุตสาหกรรมให้กับโรงงานแห่งหนึ่งย่านบางแค ซึ่งระหว่างทำงานนี้เอง เพื่อนๆ เขาทราบว่าผมเป็นคนเพชรบุรี และจะเดินทางกลับบ้านทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ จึงสั่งให้หิ้วขนมหวานมาขายให้เขา ที่โดดเด่นก็หม้อแกง และก็มีขนมอื่นๆ ตามมา ผมบวกเพิ่มไปถาดละ 5 บาท ขนมหม้อแกงลังหนึ่งมี 18 ถาด เท่ากับว่าได้แล้ว 90 บาท ทำไปทำมาขายได้พอค่าน้ำมันรถ หลังๆ จึงเริ่มฝากเพื่อนให้ช่วยขาย ครั้งหนึ่งได้เป็นสิบลัง”

เมื่อเห็นโอกาสดี คุณประวิทย์จึงสบช่องสร้างรายได้เพิ่มด้วยการเปิดเว็บไซต์ โดยเริ่มจากขายผ่าน Weloveshopping กระทั่งมีผู้ติดตามและติดต่อสั่งซื้อซึ่งส่วนใหญ่อยู่พื้นที่ต่างจังหวัด จึงใช้ระบบส่งไปกับรถทัวร์โดยสาร บขส. และต่อมาได้ส่งไปกับรถตู้โดยสารอีกทางหนึ่ง

 “ลูกค้าคนแรกที่สั่งซื้อเข้ามาอยู่จังหวัดร้อยเอ็ด และเริ่มมีตามมาเรื่อยๆ ทำให้เห็นโอกาสต่างจังหวัด เพราะตอนอยู่เมืองเพชร รูปแบบการขายเปลี่ยนไป เราต้องนำสินค้าไปฝากขายตามร้านดังต่างๆ บางแห่งกดราคา ไม่สนใจสินค้าที่เรานำไปส่ง ในขณะเดียวกัน เราในฐานะผู้ผลิตก็ไม่มีโอกาสได้รู้จักลูกค้าเลย เช่นเดียวกับลูกค้าก็ไม่รู้จักเรา แต่พอเข้าสู่ระบบออนไลน์ลูกค้าต่างจังหวัดเห็น สั่งซื้อ ภายหลังจึงได้เปิดเว็บไซต์เป็นของตนเองในชื่อ kanommuangphet.com”

ลาออกจากงานประจำ ทำขนมขายได้มากกว่า

คุณประวิทย์ตั้งใจไว้หากยอดขายขนมหวานเกินเงินเดือนที่ได้รับ จะลาออกจากงานประจำทันที ซึ่งเพียงผ่านไป 6 เดือน ยอดสั่งซื้อขนมเกินเงินเดือน 39,000 บาท

“ยื่นใบลาออกครั้งแรกก็ถูกคัดค้าน เขาไม่ให้ลาออก แต่ผมมองว่าเวลาของงานเสริมเริ่มเบียดเบียนงานประจำ จึงแจ้งความจริงให้ทราบ เมื่อเขาเห็นเจตนาแน่วแน่จึงอนุมัติ ผมได้เดินทางกลับบ้านเกิดอย่างเต็มตัว โดยเข้ามาดูแลพัฒนาระบบโรงงานให้ได้มาตรฐาน อย. และฮาลาลก่อน ซึ่งตอนนั้นถ้าใช้เงินสดอย่างเดียวคงไม่ทันการณ์ เพราะมีไม่มากพอ จึงตัดสินใจขอสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. เพื่อหนุนสภาพคล่อง สร้างอาคารโรงงาน ระบบ และซื้อเครื่องจักร ซึ่งจากจุดนี้ทำให้ผมได้รับโอกาสเข้ารับอบรมความรู้ต่างๆ ซึ่งทาง ธพว. พาไป”

ความรู้เป็นสิ่งที่คุณประวิทย์ไม่เคยปฏิเสธ หน่วยงานใดจัดอบรมสัมมนา เป็นต้องมีชื่อคุณประวิทย์เข้าร่วมงานเสมอ รวมไปถึงการเข้าร่วมกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในจังหวัดเพชรบุรีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสดงความคิดเห็น นำมาสู่กระบวนการต่อยอดในเชิงธุรกิจให้รุดไปข้างหน้า

ความมุ่งมั่นตั้งใจของคุณประวิทย์ คือ ต้องการให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง อนุรักษ์ขนมไทยให้คงอยู่ และเกิดการซื้อขายอย่างเป็นธรรม จึงเข้าไปพูดคุยกับผู้ผลิตขนมหวานในชุมชนที่ยังไม่มีตลาดส่งขายแน่นอน เพื่อให้เขามีที่ยืน มีรายได้เลี้ยงครอบครัว

“คนเพชรบุรีฝีมือดีด้านทำขนมหวาน โดยได้รับถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และเขาไม่หวงสูตรกัน ทำให้ทุกบ้านทำขนมได้ และผู้ผลิตจำนวนมากอยู่ในชุมชนเล็กๆ ซึ่งเขาเหล่านั้นไม่มีตลาดแน่นอน หลายคนไปส่งให้ร้านดัง ก็ดังที่บอก คือ ถูกกดราคา สุดท้ายวัตถุดิบดีๆ ไม่อาจนำมาใช้ทำขนมได้ เมื่อผมเข้าไปคุย เจรจารับซื้อสินค้า แต่ขอให้ผลิตแบบคุณภาพดี และเข้าสู่มาตรฐาน เขาก็ยินดีส่งสินค้าให้ ส่วนจะให้จัดจำหน่ายในแบรนด์ของเขา หรือให้เป็นแบรนด์ของเรา ก็ไม่มีปัญหา”

สืบสานขนมไทยให้คงอยู่ หม้อแกงเด่น ดังได้เพราะต่าง

เพียงไม่นาน ลูกค้าทั่วประเทศต่างสนับสนุนขนมไทยภายใต้แบรนด์ ลุงอเนก ขนมหวานเมืองเพ็ชร์ และบ้านเดือนขนมไทย รวมไปถึงสินค้าชุมชนที่เข้าร่วม รวม 13 กลุ่ม หรือกว่า 50 ครอบครัว โดยขนมหวานเพิ่มจำนวนขึ้นจนนับแทบไม่ถ้วน แบ่งแยกเป็น 2 ส่วน คือ ทำเอง ได้แก่ หม้อแกง ลูกชุบ ฝอยทอง เป็นต้น และส่วนที่รับซื้อจากผู้ผลิตในชุมชน อาทิ ทองหยิบ ทองหยอด เม็ดขนุน กลีบลำดวน ขนมตาล ขนมผิง ขนมชั้น

“เราเริ่มทำขนมที่คนเพชรไม่ค่อยทำ อย่าง ลูกชุบ ฝอยทอง ซึ่งขายดีมาก มีโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมารับฝอยทองไปเป็นส่วนประกอบของขนม ยอดผลิตสูงถึง 1.7-1.8 ตันต่อสัปดาห์”

หม้อแกง ขนมเด่นดังของเมืองเพชร ที่มีหน้าตาอยู่ในถาดสี่เหลี่ยม ถึงคราวนี้คุณประวิทย์คิดปรับจนเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน

 “ผมเป็นคนชอบเดินดูบรรจุภัณฑ์ และสะสมไว้จำนวนมาก วันหนึ่งไปเห็นอาหารสุนัขในรูปแบบถ้วย ผมสะดุดตาตรงถ้วยสี่เหลี่ยม จึงศึกษาว่าถ้วยแบบนี้ทำมาจากอะไร และมีอายุการเก็บเป็นอย่างไร ปรากฏว่าเป็นฟู้ดเกรดคุณภาพดี ผมจึงทดลองนำมาเป็นบรรจุภัณฑ์ขนมหม้อแกง แต่ครั้งแรกนำไปจำหน่ายไม่มีใครซื้อเลย เขาเข้าใจว่า คือ อาหารสุนัข กระทั่งผมลองปรับเปลี่ยนเป็นแบบถ้วยกลมๆ มารู้ทีหลังว่าหน้าตาเหมือนกับบรรจุภัณฑ์อาหารแมว แต่ด้วยทำฉลาก และจัดเป็นชุดอยู่ในถุงหิ้วสวยงาม ทำให้สินค้าเริ่มเป็นที่สนใจ และตอนนี้ยอดสั่งซื้อสูงมาก”

คุณประวิทย์ ยังกล่าวถึงเหตุผลในการปรับเปลี่ยนรูปแบบขนมหม้อแกงในบรรจุภัณฑ์ใหม่ว่า เกิดจากคำถามที่ว่าทำไมหม้อแกงต้องถาดใหญ่ เพราะสุดท้ายลูกค้าทานไม่หมดต้องนำเข้าตู้เย็นในสภาพไม่สวยงาม ถ้าทำขนาดถ้วยพอดีกินหมดในครั้งเดียวน่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดีกว่า

“ถ้าจะปรับปลี่ยนก็ต้องให้เห็นแล้วว้าว ซึ่งพอทำออกมาตอบโจทย์มากครับ ขนมหม้อแกงของเราจึงไม่ใช่แค่ขนมที่ซื้อไปฝาก แต่เขาซื้อไปกินกันเองในครอบครัว เราได้ลูกค้าที่หลากหลายขึ้น แม้แต่คนรุ่นใหม่ก็หันมากินขนมหม้อแกง”

ขนมหม้อแกงโฉมใหม่ ตอบโจทย์ทุกวัยในรูปถ้วย

เมื่ออยู่ในรูปแบบถ้วยจึงต้องมีปรับสูตรเพื่อให้เนื้อขนมนิ่มลง นำไปแช่ตู้เย็นจะมีความหอมมันคล้ายเนื้อไอศกรีม ส่วนรสชาติปรับเพิ่มทั้งหมด 6 รส ได้แก่ ถั่ว ฟักทอง เผือก แคนตาลูป ทุเรียน และธัญพืช ซึ่งเผือกทำรายได้สูงสุดราว 40 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายขนมหม้อแกง

จากการปรับโฉมขนมหม้อแกง ส่งผลให้ราคาขายขยับตามได้โดยไม่ลำบากใจผู้ซื้อ “บรรจุภัณฑ์นำมาใช้เป็นสินค้านำเข้าจากประเทศฮอลแลนด์ ราคาใบละ 4.70 บาท ต้นทุนตรงนี้สูงมาก แต่เมื่อหน้าตาขนมออกมาถูกใจลูกค้า ต้องบอกว่าทุกเพศวัยจริงๆ ราคาขายที่ปรับขึ้นจึงไม่ส่งผลกระทบต่อยอดสั่งซื้อ โดยในส่วนของเนื้อขนมจะมีปริมาณ 1 ใน 4 ของถาดใหญ่ปกติ แต่ราคาขายเท่ากัน คือ 35 บาท หากจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งระยะทางขนส่งไกล จะขาย 3 ถ้วย 100 บาท แต่ถ้าเป็นภาคใต้จะขาย 4 ถ้วย 100 บาท”

ฉะนั้นในวันนี้ คุณประวิทย์จึงถือเป็นรายแรกที่กล้าใส่ความแตกต่างให้ขนมหม้อแกง และเกิดการยอมรับในหมู่ลูกค้าทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่คนเมืองเพชร “เราอยู่ในอาชีพทำขนมหวานมานานมาก แต่คนเมืองเพชรไม่รู้จักแบรนด์ของเรา พอมาทำขนมหม้อแกงถ้วย กลายเป็นว่าคนเมืองเพชรรู้จัก ลุงอเนก ขนมหวานเมืองเพ็ชร์ ซึ่งกว่าจะมีวันนี้ได้ใช้เวลาพัฒนาอยู่ครึ่งปี ทำทิ้งจนพ่อบอกให้ไปนอน ด้วยเพราะเขาเป็นคนรุ่นเก่าที่ไม่ชอบให้ทำทิ้งทำขว้าง เขาไม่เข้าใจถึงการพัฒนา แต่จะกลัวเสียต้นทุน ผมจึงต้องหลบทำ จนสำเร็จในวันนี้แม้พ่อจะไม่เอ่ยปากชม แต่เชื่อว่าเขาภูมิใจ”

สำหรับยอดผลิตเฉพาะหม้อแกงในรูปแบบถ้วยวันละ 2,000 ถ้วย ส่วนในรูปแบบถาดใหญ่ปกติวันละ 1,500 ถาด โดยหลักๆ ส่งจำหน่ายให้ตัวแทนในต่างจังหวัด ซึ่งหากสรุปรวมยอดขายขนมหวานทั้งหมดตกปีละประมาณ 75 ล้านบาท ซึ่งแม้ตีเป็นตัวเลขกำไรไม่สูงนัก เนื่องจากสินค้าหลายรายการไม่ได้ผลิตเอง แต่สนับสนุนชาวบ้าน กำไรในส่วนนี้จึงน้อย แต่สิ่งที่รับกลับมาคือความสุขใจที่ได้เห็นคนในชุมชนมีอาชีพมีงานทำ

การต่อยอดขนมหม้อแกง ไม่จบเพียงแค่หม้อแกงถ้วย ซึ่งมีตลาดส่งจำหน่ายได้เพียงในประเทศ และต้องส่งให้ถึงมือผู้รับภายใน 1 วัน เพื่อนำกลับไปแช่ตู้เย็นที่จะยังคงอยู่ต่อได้ 2 สัปดาห์

หม้อแกงกรอบรสดั้งเดิม เติมต่อไอเดีย ส่งขาย ตปท.

“ขนมหม้อแกงกรอบคือสินค้าใหม่ที่ทำขึ้น ด้วยเพราะเรามองตลาดต่างประเทศ โดยวิธีทำขนมหม้อแกงกรอบ จะใช้หม้อแกงปกติ เพียงลดความหวานลง แล้วสไลซ์เป็นแผ่น เข้าเครื่องฟรีซดราย เพื่อให้เกิดความกรอบ แต่ยังคงรสชาติขนมหม้อแกง ซึ่งการทำผลิตภัณฑ์นี้เราร่วมกับสถาบันอาหาร และเป็นเจ้าเดียวที่ทำขึ้นมาจากขนมหม้อแกงแท้ๆ”

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้ขนมหวานเมืองเพชรเป็นที่ประจักษ์และอยู่คู่เมืองเพชรไปตลอด คุณประวิทย์จึงเปิดศูนย์เรียนรู้ด้านการทำขนมหวาน เป็นเสมือนจุดสาธิต ให้ผู้สนใจทั้งในจังหวัดและนอกพื้นที่ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน

“ความโชคดีคือ ขนมเมืองเพชรติดตลาดด้วยชื่อเสียงอยู่แล้ว และขนมที่ทำออกมาล้วนเป็นขนมมงคล มีความหมาย สามารถขายเรื่องเล่าได้ ในขณะสังคมไทยเชื่อว่าการนำขนมมงคลไปทำบุญจะช่วยเสริมสิริมงคลต่อชีวิต ขนมไทยจึงอยู่คู่ประเพณีและความเชื่อของคนไทยมาช้านาน

ฉะนั้น หน้าที่ของผู้ประกอบการคือ ทำให้อร่อยและดี ขนมก็จะขายตัวเอง มีผู้ซื้อตามมา ยิ่งถ้าได้เสริมความแปลกแตกต่างลงไปด้วย ก็จะยิ่งสร้างคุณค่า ต่อยอดไปในวงกว้าง”

การยกระดับขนมไทยให้ได้มาตรฐาน และสร้างความแตกต่าง ดังที่คุณประวิทย์ทำ จึงไม่เพียงแต่สร้างคุณค่าให้ขนมไทยคงอยู่ แต่ยังสร้างชุมชน สร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย อันจะทำให้ขนมไทยยืนหยัดได้อย่างมั่นคง กลายเป็นขนมประจำบ้าน ไม่ใช่เพียงแค่ซื้อนำไปใช้ในงานประเพณีเท่านั้น

คุณประวิทย์ กล่าวฝากถึงคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการก้าวมาสานต่ออาชีพ “เราต้องยอมรับเรื่องยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ตอนรุ่นคุณพ่อเขาทำตามแบบของเขาแล้วตลาดมันก็เดินไปได้ตามยุคสมัยนั้น แต่พอมาถึงรุ่นเรา จะมาทำแบบเดิมๆ ผมว่าคงไม่เกิดการเติบโตต่อยอด ต้องนำระบบ นำเทคโนโลยี เครื่องจักรเข้ามาช่วย แต่ก่อนพ่อทำอยู่ในเพิง สองคนตายาย ไม่มีระบบบัญชี ไม่มีระบบหลังร้านหน้าร้าน ไม่มีการวางแผน เขาทำไปตามวิถีของเขา แต่สามารถส่งผมร่ำเรียนจนมีความรู้ เราก็ควรต้องนำความรู้นั้นมาพัฒนา และก้าวต่อไปให้ไกลให้ได้”

สนใจติดต่อ ลุงอเนก ขนมหวานเมืองเพ็ชร์ ตั้งอยู่ เลขที่ 9 หมู่ 5 ตำบลสำมะโรง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี โทรศัพท์หมายเลข 089-796-5052, 084-899-9549 หรือคลิก www.kanommuangphet.com