ที่มา | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
3 ผู้ประกอบการภาคใต้ แชร์ประสบการณ์ธุรกิจ “กล้าคิด กล้าทำ และกล้าที่จะแตกต่าง”
รู้หรือไม่ว่า? แท้จริงแล้ว “ภาคใต้ชายแดน” เป็นอีกกลุ่มพื้นที่หนึ่งที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพ เนื่องด้วยศักยภาพและอัตลักษณ์ของพื้นที่ที่มีความเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นในด้านศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว วิถีชีวิตของผู้คนที่ยึดโยงกับความเป็นมุสลิมและฮาลาล รวมทั้งในด้านเกษตรกรรมและการค้าขาย ซึ่งในวันนี้ ปัจจัยดังกล่าวได้ถูกผสมผสานกับองค์ความรู้และเทคนิคใหม่ๆ จนหลอมรวมให้เกิดเป็นธุรกิจนวัตกรร
วันนี้จะขออาสาพาไปทำความรู้จักกับ 3 ผู้ประกอบการต้นแบบ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์ การคิดและการต่อยอดที่ไม่หยุดยั้ง รวมถึงความมุ่งมั่นที่จะสรรหาโอกาสจากวิกฤติที่เกิดขึ้นรอบตัว
สุดยอดฟาร์มไก่ไข่ไอโอที ควบคุมทุกคุณภาพด้วยเทคโนโลยีและระบบ 4G พิสุทธิ์ ฆังคะมะโน เล่าว่า ในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน ส่วนใหญ่ยังมีการทำเกษตรกรรม การทำฟาร์ม และเลี้ยงสัตว์กันเป็นจำนวนมาก ปัญหาสำคัญที่พบก็คือคุณภาพของผลผลิตที่ยังไม่ดีหรือยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งนี้ ตนเป็นหนึ่งในผู้ที่ประกอบอาชีพดังกล่าว คือการทำฟาร์มไก่ไข่ซึ่งประสบปัญหาในการควบคุมคุณภาพของไข่ที่ยังขาดความสด และยังติดกับการแก้ปัญหาเดิมๆ คือการลงทุนด้านอาหารสัตว์ ด้วยความเชื่อที่ว่าอาหารคือตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่สามารถทำให้ไข่ไก่มีคุณภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำฟาร์มไก่ไข่นั้นยังมีอีกตัวแปรที่สำคัญที่ต้องควบคุมก็คือสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่พอเหมาะ ความเข้มของแสง ความชื้น ล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของไก่ และทำให้ไข่ไก่มีคุณภาพ ทั้งยังช่วยส่งต่อผลผลิตให้คนในพื้นที่ภาคใต้ได้บริโภคของดีๆ อีกด้วย
สำหรับนวัตกรรมที่ฟาร์มไก่ไข่พรรัตภูมิได้พัฒนาและนำมาใช้ก็คือ กระบวนการเลี้ยงไก่ไข่และการจัดการฟาร์มไก่ไข่ระบบอัจฉริยะ ผ่านการควบคุมด้วยเทคโนโลยี IoT มีเซ็นเซอร์วัดระดับความชื้น อุณหภูมิ ความเข้มของแสง และปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของไก่ อีกทั้งจะมีการรับส่งข้อมูลจากโรงเรือนของผู้เลี้ยงมายังศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลโดยตรงที่มีทีมสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเลี้ยงช่วยเป็นที่ปรึกษา และยังมีทีมเฝ้าติดตามระบบที่จะคอยตรวจสอบเฝ้าระวังสถานะการทำงานของอุปกรณ์ในโรงเรือนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น โดยยังสามารถใช้แอปพลิเคชั่นในมือถือสั่งการควมคุมระดับความชื้น อุณหภูมิและปัจัจยต่างๆ ในโรงเรือนได้ ช่วยให้เจ้าของกิจการสามารถตัดสินใจในการลงทุนและช่วยป้องกันเหตุที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ไฟไหม้ ไฟดับ อุปกรณ์ภายในโรงเรือนเสีย ถือเป็นการบริหารความเสี่ยงที่ถูกต้องและแม่นยำที่เกษตรกรมมยุคใหม่ควรมี
“สิ่งสำคัญที่การทำฟาร์มหรือการเกษตรยุคใหม่ควรจะต้องมีคือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆที่มีอยู่รอบตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะหากยึดติดอยู่กับวิถีเดิมๆ ก็จะทำให้ได้ผลลัพธ์แบบเดิมและไม่ต่างอะไรจากคู่แข่ง รวมทั้งต้องรู้จักแสวงหาโอกาสจากหน่วยงานที่ให้การส่งเสริมหรือสนับสนุนมาช่วยเติมเต็มจินตนาการหรือแนวความคิด ร่วมมือกันต่อยอดให้เป็นจริงได้ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยุคใหม่ยังควรจะต้องรู้จักศึกษาความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในทุกวัน พร้อมนำมาวิเคราะห์ว่าสิ่งไหน วิธีการอะไรที่จะทำให้หลุดพ้นจากปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ หรือควรจะต้องนำภูมิปัญญาแบบชาวบ้านมาผสมผสานกับนวัตกรรม เพื่อสร้างการเติบโตที่ดีอีกขั้น ทั้งนี้ หากไม่มีการปรับตัวก็จะทำให้ตามโลกไม่ทัน และกลายเป็นเกษตรกรรมล้าหลังในที่สุด”
เส้นใยจากสับปะรด มิติใหม่ของนวัตกรรมผ้าไทยปริยากร ธรรมพุทธสิริ กรรมการผู้จัดการ หจก.รักษ์บ้านเรา เปิดเผยว่า เส้นใยผ้าจากสับปะรดถือเป็นเส้นใยที่มีคุณสมบัติดีมาก มีความแข็งแรงทนทานอันดับต้นๆของโลก ไม่ขาดง่าย ไม่จำเป็นต้องรีด สามารถต่อต้านแบคทีเรีย และดูดซึมสีได้ดี สำหรับการนำสับปะรดมาถักทอเป็นเส้นใยเสื้อผ้านั้นจะใช้พันธุ์สับปะรดปัตตาเวียซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นที่มีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว โดยนำเศษเหลือทิ้งในส่วนของใบที่มีมากมายหลายพันกิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งของเสียเหล่านี้เป็นภาระต่อเกษตรกรผู้ปลูกมารีดให้เป็นเส้นใย ซึ่งการแปรรูปดังกล่าวได้ช่วยสร้างตลาดใหม่ของผลิตภัณฑ์สิ่งทอให้สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากเส้นใยอื่นๆ ทั้งยังแตกหน่อเป็นสินค้าได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋า รองเท้า ชุดสำเร็จรูป สร้างมูลค่าได้ในตลาดผู้ที่ชื่นชอบสินค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) สร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่และคนในเรือนจำ (เนื่องจากมีการนำเส้นใยดังกล่าวให้คนในเรือนจำได้ทำเป็นกิจกรรมและฝึกวิชาชีพ) และยังช่วยลดสิ่งของเหลือทิ้งที่อาจยากต่อการกำจัด และตอบกระแสเศรษฐกิจสีเขียวได้เป็นอย่างดี
“คำว่านวัตกรรม จริงๆแล้วอยากให้ทุกคนเปลี่ยนมุมมองว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่มีความซับซ้อน หรือเป็นเรื่องที่ยาก ต้องใฝ่หาความรู้หรือเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาใช้ในการประกอบธุรกิจ หากแต่เป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่มีใครทำหรือมีคนทำน้อย แต่สิ่งนั้นทำแล้วจะต้องก่อให้เกิดความแตกต่าง เกิดมูลค่า ทำไปได้ในระยะยาว ยกตัวอย่างเส้นใยผ้าจากสับปะรดเป็นสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ของดังกล่าวแม้จะเกิดจากสิ่งของเหลือทิ้งก็สามารถนำมาเป็นของใหม่ และเมื่อทำสำเร็จแล้วสินค้าก็เป็นที่ต้องการและเป็นทางเลือกใหม่ในตลาดได้ นอกจากนี้ ยังอยากให้มองว่าภูมิปัญญาชาวบ้านก็เป็นศาสตร์หรือนวัตกรรมประเภทหนึ่งที่หากนำมาปรุงแต่งกับองค์ความรู้ใหม่ๆ ก็ยิ่งทำให้เกิดวิธีการใหม่ๆที่ดีหรือมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอาวุธสำคัญที่ผู้ประกอบการยุคใหม่ควรนำมาปรับใช้ เพื่อสร้างทางรอดและความยั่งยืนให้กับธุรกิจในอนาคต”
เตมเป อาหารฟังก์ชั่นจากอินโดสู่ไทย สร้างยอดขายในระดับอัปเปอร์มาร์เก็ต สุวัฒนา ลิ้มยุ่นทรง ผู้ประกอบการจากร้านเตมเป ปัตตานี เล่าว่า ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเตมเปเป็นหนึ่งในอาหารมังสวิรัติเพื่อสุขภาพ (มีต้นกำเนิดจากประเทศอินโดนีเซีย) ซึ่งได้จากการหมักถั่วเหลืองด้วยเชื้อรา Rhizopus oligosporus เป็นแหล่งของสารอาหารประเภทโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ โดยผู้บริโภคนิยมนำเตมเปสดไปประกอบเป็นอาหารชนิดต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเตมเปจะอยู่ในกลุ่มอาหารเพื่อสุภาพที่มีมูลค่าการตลาดสูง แต่ก็ยังคงพบปัญหาในการขยายฐานลูกค้าที่เป็นไปได้อย่างจำกัด เนื่องจากมีฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ ผู้บริโภคมังสวิรัติ และประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์เตมเปชนิดสด ที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น มีกลิ่นและรสชาติที่คนไทยไม่คุ้นเคย ประกอบกับเป็นอาหารที่จำเป็นต้องนำไปปรุงต่อโดยการผัดหรือทอดก่อนรับประทาน
ด้วยเหตุนี้ ร้านเตมเป ปัตตานี จึงมีความต้องการที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการแปรรูปเตมเปให้เป็นขนมอบกรอบ (Tempe snack) โดยอาศัยกระบวนการเอ็กซ์ทรูชัน (extrusion) โดยมีนักวิจัยจากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้พัฒนากรรมวิธีการแปรรูปดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหากลิ่นยีสต์ในเนื้อถั่วเตมเป และปรับปรุงเนื้อสัมผัสโดยการพัฒนาสูตรส่วนผสมต่างๆ โดยมีเตมเปเป็นส่วนผสมหลัก ปรุงรสชาติให้ถูกปากคนไทย มีการผสมข้าวสังหยดเพื่อเพิ่มอัตลักษณ์ให้แก่ผลิตภัณฑ์ และทำให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น ทำให้ทางร้านฯ สามารถขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั่วประเทศ และสามารถขยายตลาดไปสู่บุคคลทั่วไปเพิ่มเติมจากผู้รับประทานมังสวิรัติ รวมถึงขยายช่องทางการจำหน่ายในท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเร็วๆนี้จะมีการขยายสาขาอีกกว่า 10 สาขาในกรุงเทพมหานคร
“สิ่งสำคัญในการทำนวัตกรรมคือต้องมองช่องว่างในตลาดว่าสิ่งไหนยังขาด และสามารถเติมเต็มอะไรเข้าไปเพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับช่องทางนั้นได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวทำได้ทั้งในลักษณะการคิดค้น การต่อยอด และการดัดแปลง นอกจากนี้ ยังต้องรู้จักที่จะมองว่าโมเดลแบบไหนที่เคยประสบความสำเร็จ หรือเป็นที่นิยมในต่างประเทศ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในตลาดผู้บริโภคเมืองไทยได้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับตลาดและผู้บริโภคในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องสร้างความแตกต่าง ความสามารถในการใช้งานและคุณประโยชน์ กรรมวิธีในการผลิต คอนเซปต์ของสินค้าที่ชัดและเป็นเอกลักษณ์ เพื่อส่งมอบสิ่งดีๆให้กับผู้ใช้ต่อไป”
นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) NIA ได้มียุทธศาตร์ในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ชายแดนให้เติบโตในด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตด้วยการผลักดันองค์ความรู้ เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ การสนับสนุนเงินทุน และเทคนิคใหม่ๆไปสู่ผู้ประกอบการและประชาชนในเขตพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งในช่วงระยะที่ผ่านมาถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จทั้งผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ นักเรียน-นักศึกษา และประชาชนทั่วไปให้การตื่นตัวและตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามประเภทของกลุ่มธุรกิจหรือรูปแบบนวัตกรรมที่มีโอกาสเติบโตในพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ Halal Innovation หรือนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล Culture & Tourism Innovation โดยเป็นการหยิบนำความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมมาผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการด้านดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและดึงดูดใจมากขึ้น Market Place and E-Commerce ซึ่งเป็นการสร้างช่องทางการค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะที่ผ่านระบบออนไลน์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ค และการทำ Smart Farming หรือการทำเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งตอบโจทย์กับอาชีพที่ประชากรภาคใต้ส่วนใหญ่ดำเนินมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในการส่งเสริมนวัตกรรมในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญใน 3 ด้าน คือ การเข้าถึง หมายถึง การรู้ข้อมูลหรือบริบททางพื้นที่ในลักษณะต่างๆ ด้วยการเข้าไปสำรวจและคลุกคลีกับผู้ประกอบการ ประชาชน เพื่อให้ได้รายละเอียด และข้อมูลที่ถูกต้อง พร้อมนำมากำหนดโจทย์และเป้าหมายในการพัฒนา การเข้าใจ ซึ่งเป็นการรู้ความต้องการที่ถ่องแท้ของผู้ประกอบการหรือสังคมว่าในภาคส่วนนั้นยังขาดอะไร และต้องเติมเต็มสิ่งไหน เพื่อทำให้สิ่งเหล่านั้นมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น และสิ่งสุดท้ายคือ การเข้าให้โอกาส โดยเป็นการหยิบยื่นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการหรือสังคมควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็น องค์ความรู้ การฝึกพัฒนาทักษะ การอัพเดทเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งภาคใต้ชายแดนยังขาดสิ่งเหล่านี้อีกมาก สวนทางกับความมุ่งมั่นตั้งใจและความมีอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ที่มีอย่างเต็มเปี่ยม
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด หรือสนใจในการขอรับการสนับสนุนนวัตกรรม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ http://www.nia.or.th , facebook.com/NIAThailand