“ร่องสวนมะพร้าว” พื้นที่แค่นิดเดียวสามารถใช้เลี้ยงหอยขม ลูกค้าซื้อถึงที่ ขาย 100/กก.

“หอยขม” เป็นหอยฝาเดียวอาศัยในน้ำจืดมีขนาดเล็ก เปลือกเป็นเกลียวกลมยอดแหลม เปลือกหนาและแข็ง ผิวชั้นนอกเป็นสีเขียวแก่ ฝาปิดเปลือกเป็นแผ่นกลม ตีนใหญ่ จะงอยปากสั้นทู่ ตามีสีดำอยู่ตรงกลางระหว่างโคนหนวด ตัวผู้มีหนวดเส้นข้างขวาพองโตกว่าเส้นข้างซ้าย

ลักษณะพิเศษของหอยชนิดนี้ จะมีอวัยวะเพศทั้งเพศผู้และเพศเมียอยู่ในตัวเดียวกัน   ออกลูกเป็นตัว และผสมพันธุ์ได้ด้วยตัวของมันเองเมื่ออายุได้ 60 วัน และออกลูกเป็นตัวครั้งละประมาณ 40-50 ตัว โดยมากการเลี้ยงหอยขมมักเลี้ยงในกระชัง หรืออีกวิธีคือการเลี้ยงในร่องสวน

นายสัญญา โยธวงษ์ อายุ 53 ปี เกษตรกรต้นแบบ ที่ศูนย์เรียนรู้บ้านสีกายเหนือ ตำบลสีกาย อ.เมือง จ.หนองคาย ที่ทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง มีการปลูกมะพร้าวน้ำหอมกว่า 200 ต้น ปลูกมา 7 ปีมะพร้อมน้ำหอมที่ปลูกให้ผลผลิตสร้างรายได้ให้กับครอบครัวตลอดทั้งปีแล้ว ล่าสุดได้หันมาเลี้ยงหอยขมสองสายพันธุ์ คือสายพันธุ์แบบเปลือกแดงที่ได้มาจากหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหอยขมที่มีขนาดใหญ่เนื้อนุ่ม

ส่วนหอยขมอีกสายพันธุ์หนึ่ง คือ หอยขมพันธุ์เปลือกดำ เป็นหอยขมที่มีในธรรมชาติทั่วไป ที่มีขนาดตัวเล็กกว่าและเนื้อเหนียว แต่จะได้ความทนทาน เมื่อนำมาปล่อยในร่องสวนมะพร้าวพบว่า มีการผสมกัน และได้หอยสองสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ เลี้ยงง่าย เนื้อนุ่ม เปลือกสีออกน้ำตาลแก่ไปจนถึงเกือบสีดำ จึงได้มีการคัดเอามาเป็นหอยพันธุ์เพาะเลี้ยงให้กระชัง อนุบาลลูกหอยที่ออกมา ก่อนจะปล่อยเลี้ยงแบบธรรมชาติในร่องสวน ใช้ทางมะพร้าวน้ำหอมของตนเองให้หอยได้เกาะให้อาหารที่ผสมอีกเป็นบางครั้ง

จากนั้น เลี้ยง 4 – 5 เดือน ก็จะสามารถจับขายได้ ในราคากิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 25 บาท ส่วนหอยที่คัดเป็นพันธุ์จะเลี้ยงต่อจนเกือบปีจึงขาย ได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท ขณะนี้เลี้ยงขายไม่ทันกับความต้องการ เร่งขยายพื้นที่เลี้ยง ซึ่งหอยขมนิยมนำไปทำเป็นแกงคั่ว และต้มรับประทานกับส้มตำ

นายสัญญา เล่าถึงความเป็นมาในการเลี้ยงหอยขมว่า หอยขมกับคนภาคอีสานเกี่ยวพันกันมานาน และตนเห็นว่าหอยขมตามธรรมชาติขณะนี้เหลือน้อยมาก ทั้งจากการที่มีชาวบ้านหาไปขายหรือหาไปทำอาหาร ประกอบกับปัจจุบันนี้มีสารพิษไหลไปสะสมตามแหล่งน้ำที่หอยขมอยู่ทำให้หอยขมตาย หรือถ้าไม่ตายก็มีสารพิษอยู่ในตัว

นอกจากนี้ ยังพบว่าหอยขมมีเท่าไหร่ก็ขายได้หมด ในขณะปลาที่ตนเลี้ยงขายได้ยาก เนื่องจากชาวบ้านไม่นิยมรับประทานปลาเลี้ยง ประกอบกับตนเคยได้รับพันธุ์หอยเปลือกแดงจากหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้นำมาปล่อยไว้ในร่องสวนที่มีการปลูกมะพร้าวน้ำหอม พื้นที่ประมาณ 3 ไร่ รวมกับหอยพื้นบ้าน หรือหอยเปลือกดำ

ทั้งนี้ พบว่าหอยทั้งสองพันธุ์มีการผสมพันธุ์กันและเจริญเติบโตได้ดี จึงได้มีการคัดเลือกหอยพันธุ์มาเลี้ยงในกระชัง เนื่องจากหากเพาะในบ่อดินหรือในธรรมชาติ ลูกหอยขนาดเล็กที่ออกมาใหม่ ๆ จะถูกปลากิน จึงต้องเพาะในกระชัง และเลี้ยงอนุบาลไว้ก่อน

หอยขมจะออกลูกเป็นตัวหอยขม 1 ตัวจะออกลูกได้ครั้งละ 30 – 60 ตัว ค่าเฉลี่ยครั้งละ 50 ตัว และจะออกลูกทุก ๆ 2 สัปดาห์ มีอายุยืนยาวเกิน 10 ปี หากอยู่ในธรรมชาติที่เหมาะสมและไม่มีสารพิษ เมื่อลูกหอยโตขึ้นจนมีเปลือกแข็งอายุ 1 – 2 เดือน ก็จะนำออกมาปล่อยในร่องน้ำเลี้ยงแบบธรรมชาติที่โตไวกว่าการเลี้ยงในกระชัง แต่การเลี้ยงในกระชังจะมีข้อดีกว่าตรงที่หาสามารถจับขายและคัดเลือกขนาดได้ง่าย หอยไม่เปื้อนโคลนตม

“หอยที่สามารถขายเพื่อนำไปทำอาหารจะมีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป จะขายกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 25 บาท ส่วนหอยพันธุ์จะเลี้ยงประมาณ 1 ปี ซึ่งหอยประมาณ 100 – 120 ตัวจะได้น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 100 บาท ขณะนี้ไม่พอขาย มีเกษตรกรและพ่อค้า-แม่ค้ามาจองถึงที่ ตลาดยังมีอีกมาก ส่งขายต่างประเทศก็ได้ ตนกำลังเร่งขยายพื้นที่ในการเลี้ยงหอยให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งรายได้จากการขายหอยขมนั้น เกษตรกรสามารถคำนวณได้ล่วงหน้าเลย ว่าอยากจะได้หลักพันต่อเดือน หรือหลักหมื่นต่อเดือนจะต้องเลี้ยงเท่าไหร่

สำหรับอาหารที่นิยมนำหอยขมไปปรุงเป็นอาหารคือ แกงคั่วหอยขม หรือภาคอีสานก็จะเรียกว่าอ่อมหอยขม หรือจะต้มรับประทานกับแจ่ว ป่น หรือส้มตำก็อร่อยไม่แพ้กัน ซึ่งก่อนจะทำอาหารจะต้องจับหอยมาแช่น้ำสะอาดไว้ประมาณ 1 คืน เพื่อให้หอยได้คายเศษดินเศษโคลนออกก่อน”