วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ.พร้อมผลิตวิศวะ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมไทย 4.0

วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ.พร้อมผลิตวิศวะ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมไทย 4.0

วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (วทอ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มีหลักสูตรอยู่ด้วยกัน 3 ระดับคือ ระดับ ปวช. ระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา มีจำนวนนักศึกษา ปวช. จำนวน 1,800 คน ระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษารวมกันประมาณ 5,000 คน โดยทั้งคณะมีนักศึกษารวมกันทั้งหมดประมาณ 6,000 – 7,000 คน วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมีจุดแข็งที่เก่าแก่มาอย่างยาวนาน คือ ความเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมมากที่สุด สามารถผลิตบุคลากรให้เข้าสู่อุตสาหกรรมได้มากที่สุดของประเทศไทย โดยเมื่อเข้าสู่อาชีพการทำงานนักศึกษาสามารถปฏิบัติงานได้ทันที

คุณเจตน์ บุญญดิเรก (เจตน์) คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้า ปริญญาตรี ต่อเนื่อง ปีที่ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

คุณเจตน์ บุญญดิเรก (เจตน์) คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้า ปริญญาตรี ต่อเนื่อง ปีที่ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เล่าว่า “ผมได้เรียนพื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับไฟฟ้า แต่สาขาของผมจะเรียนเจาะลึกไปในเรื่องของการนำเอาอิเล็กทรอนิกส์กำลังมาใช้ควบคุมระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีสมาร์ตโฟนที่มีความบางขึ้นขนาดเล็กลงมาจากอิเล็กทรอนิกส์ โดยเราจะลดขนาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลงและนำไปควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ๆได้  รวมทั้งแปลงไฟฟ้ากระแสสลับอย่างไรมาให้เป็นกระแสตรงเพื่อมาใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อนำมาใช้ในครัวเรือน ซึ่งถ้าพัดลมที่บ้านพังผมก็จะมีความรู้พื้นฐานด้านไฟฟ้า เราก็จะรู้วิธีการซ่อมอย่างถูกวิธีรวมถึงวิธีตรวจเช็กสามารถทำได้ทั้งหมด ถ้าพัดลมหมุนช้าหรือลมออกมาน้อยเราก็จะเปิดวงจรดูและนำมิเตอร์มาวัดด้วยตนเอง อีกทั้งยังสามารถซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้น แอร์อินเวอร์เตอร์ โทรทัศน์ก็สามารถตรวจเช็กได้ในขั้นพื้นฐาน ในอนาคตวางแผนการทำธุรกิจของตัวเองเกี่ยวกับระบบโซล่าร์เซลล์เอาความรู้ที่ได้เรียนเกี่ยวกับระบบอิเล็กทรอนิกส์กำลังมาประยุกต์ใช้การทำงาน”

คุณธนาธร จันทราภาส (แม็ค) คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้า ปริญญาตรี ต่อเนื่อง ปีที่ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

คุณธนาธร จันทราภาส (แม็ค) คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้า ปริญญาตรี ต่อเนื่อง ปีที่ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เล่าว่า “ผมได้เรียนเกี่ยวกับระบบการส่งจ่ายไฟฟ้าควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ มีการลงห้องแล็บเพื่อเรียนรู้การลดแรงดัน เพิ่มแรงดัน ขยายแรงดันไฟฟ้า โดยที่เราเรียนมานั้นเราสามารถไปตอบโจทย์ในแวดวงอุตสาหกรรมได้ทุกโรงงานอุตสาหกรรมเพราะปัจจุบันทุกโรงงานใช้โปรแกรมTLC เกือบทุกโรงงานในการทำงาน ซึ่งมันก็ตรงกับที่เราเรียนอยู่ในขณะนี้  ซึ่งระบบไฟในบ้านเราก็สามารถเช็กเองได้เบื้องต้น ซึ่งสามารถต่อยอดในการทำงานเขียนโปรแกรมควบคุมเครื่องจักรมอเตอร์ขนาดใหญ่ๆ ของโรงงาน ให้เราสามารถตรวจเช็กในเรื่องความเสียหายเพราะสามารถตรวจเช็กได้เบื้องต้นจากโปรแกรมที่เราได้เรียนมาจากคณะสาขานี้ และควบคุมได้โดยที่เราไม่ต้องเดินไปยังอุปกรณ์นั้น แต่เราใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในการควบคุม”

คุณธเนศ ผลเกิด (เมส) คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กำลัง หลักสูตรเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กำลัง ปริญญาตรี ปีที่ 2 (วศบ.) 4 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

คุณธเนศ ผลเกิด (เมส) คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กำลัง หลักสูตรเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กำลัง ปริญญาตรี ปีที่ 2 (วศบ.) 4 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า “ทางคณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ในสาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กำลังนั้นมีหลักสูตรที่เป็นหลักสูตรเฉพาะทางเราจะเรียนเกี่ยวกับหลักสูตรในสาขาที่เราเรียนโดยที่เรียนเจาะลึกลงไปเฉพาะหลักสูตรนั้น ๆ อย่างเช่น เราเรียนในด้านอิเล็กทรอนิกส์กำลัง เราก็จะเรียนเจาะลึกลงไปในด้านอิเล็กทรอนิกส์กำลัง ไฟฟ้ากำลังโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่จะนำความรู้จากที่เรียนมามาใช้เมื่อเวลาอุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีปัญหาก็สามารถซ่อมได้ โดยนำความรู้และการปฏิบัติจริงจากที่ได้เรียนมานั้นนำมาใช้ได้ในขั้นพื้นฐาน เช่น แผงวงจร มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ลำโพง วิทยุ คอมพิวเตอร์ อันดับแรกก็จะเช็กวงจรโดยใช้เครื่องมือวัดหรือใช้ตาเปล่ามองเพื่อหาจุดที่ผิดปกติ ถ้าเราเช็กแล้วไม่มีจุดที่ผิดปกติเราก็ต้องใช้เครื่องวัดเข้ามาช่วยเช็กอย่างละเอียด เพราะมันอาจจะเกิดปัญหาจากภายใน อนาคตข้างหน้าผมวางแผนอยากที่จะทำงานที่แท่นขุดเจาะน้ำมันที่อยู่กลางทะเล เพราะอยากที่จะไปควบคุมระบบเครื่องจักร”