ลดความแออัด นำร่อง 6 รพ. ในปราจีนบุรี ใช้เทคโนโลยี “จัดระบบคิวพบแพทย์ ระบบการจ่ายยา” 

ลดความแออัด นำร่อง 6 รพ. ในปราจีนบุรี ใช้เทคโนโลยี “จัดระบบคิวพบแพทย์ ระบบการจ่ายยา” 

จากนโยบายการส่งเสริมการใช้งานบริการจากกลุ่มสตาร์ตอัพในภาครัฐ นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ได้เป็นประธานเปิดตัวโครงการ ปราจีนบุรีเมืองสุขภาพดี หรือ PMID Prachinburi Medical Innovation District Opening Day ขึ้นที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โมเดลต้นแบบ เพื่อหวังยกระดับการให้บริการ และใช้เทคโนโลยีของกลุ่มสตาร์ตอัพให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน โดยมี 2 บริษัทสตาร์ตอัพไทย ได้แก่ บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท อรินแคร์ จำกัด ร่วมเปิดโครงการ

สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในโรงพยาบาล คือ ระบบบริหารจัดการคิว จาก บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด นำมาพัฒนาร่วมกับระบบจองคิวของโรงพยาบาล เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ป่วย โดยผู้ป่วยสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นในการจองคิวล่วงหน้าจากที่บ้าน สามารถเข้ารับบริการตามนัดหมายโดยไม่ต้องนั่งรอคิวให้เสียเวลา และเสร็จสิ้นการรับบริการได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยลดขั้นตอนการทำงานของพยาบาลและคุณหมอได้ด้วย

อีกเทคโนโลยีที่นำมาใช้ คือ ระบบบริหารจัดการเภสัชกรรมครบวงจร จากบริษัท อรินแคร์ จำกัด ซึ่งจะช่วยให้เภสัชกรและผู้ประกอบการร้านยา สามารถบริหารคลังยา จ่ายยา เก็บประวัติคนไข้ รวมถึงเชื่อมต่อส่งต่อไปยังสถานพยาบาลเพื่อรักษาต่อ นอกจากนี้ อรินแคร์ ยังมีระบบใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Prescription ให้ผู้ป่วยสามารถรับยาได้ด้วยตัวเองจากร้านขายยาใกล้บ้าน ซึ่งมีเครือข่ายร้านยาประมาณ 3,000 ร้านทั่วประเทศไทย โดยระบบนี้จะช่วยลดความแออัดให้กับโรงพยาบาล สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ป่วยในการรับยาโดยไม่ต้องมารับยาที่โรงพยาบาล

 

โดยระบบบริหารจัดการคิว  และระบบบริหารจัดการเภสัชกรรมครบวงจร จะถูกนำมาใช้ใน 6 โรงพยาบาลนำร่องของปราจีนบุรี ได้แก่ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โรงพยาบาลกบินทร์บุรี โรงพยาบาลนาดี โรงพยาบาลบ้านสร้าง โรงพยาบาลศรีมโหสถ และโรงพยาบาลศรีมหาโพธิ

หลังจากนั้น คณะผู้บริหาร และตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล (DEPA), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) และ สมาคมเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีรายใหม่ (TTSA) ที่ได้มาร่วมสนทนาถึงแนวทางในการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัพ ในการทำงานร่วมกับภาครัฐ และผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากโครงการต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Government Procurement Transformation (GPT) จาก NIA ที่ช่วยให้สตาร์ตอัพทำงานกับภาครัฐได้ง่ายขึ้น ด้วยการเปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐและเอกชนสามารถจัดซื้อจัดจ้างบริการหรือสินค้าต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ปลดล็อกข้อจำกัด พัฒนาสตาร์ตอัพ สู่ตลาดภาครัฐ ซึ่งมีขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าหากไม่ได้โครงการนี้เปิดทางให้ QueQ และ Arincare สามารถเข้าถึงตลาดภาครัฐได้ งานความร่วมมือวันนี้ก็อาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย

และยังมีในส่วนของ DEPA Digital StartUp Fund เงินทุนสนับสนุนเริ่มต้นของผู้ประกอบการธุรกิจดิจิตอล จาก DEPA หรือ การอบรมเพื่อบ่มเพาะนักธุรกิจดิจิตอล (Business Incubator) จาก NSTDA รวมถึงกิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่ สมาคม TTSA จัดขึ้นเพื่อร่วมสร้างสังคมของผู้ประกอบการ และ Ecosystem ของสตาร์ตอัพไทยให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน