สถาบันไฟฟ้าฯ ชู 3 อาชีพ สาขาผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นสูงสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

สถาบันไฟฟ้าฯ ชู 3 อาชีพ สาขาผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นสูงสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

สถาบันไฟฟ้าฯ – เมื่อเร็วๆ นี้สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI) ร่วมกับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน : TPQI) จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น เพื่อนำเสนอผลการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพไฟฟ้า สาขาผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นสูง โดยได้รับเกียรติจาก นายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประธานเปิดงาน และ คุณสมพงศ์ นครศรี อดีตประธานกรรมการบริหารสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และประธานบริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด ให้เกียรติเข้าร่วมงานสัมมนา

นายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่าการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพไฟฟ้า สาขาผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นสูง ได้ส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มวิชาชีพในการจัดทำมาตรฐานอาชีพ ซึ่งมีผู้ที่มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ประกอบการ บุคลากรในกลุ่มอาชีพ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ให้ความสนใจเข้าร่วมงานเพื่อเสนอข้อคิดเห็นถึงผลการจัดทำมาตรฐานอาชีพทั้ง 3 อาชีพ ได้แก่ อาชีพนักพัฒนาระบบคุณภาพในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาชีพนักทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรม และอาชีพนักทดสอบหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง เพื่อเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้สามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามแบบใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในอนาคต

 

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “value-based Economy” หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมซึ่งหมายถึง การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม

ที่สำคัญ การจัดทำโครงการมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ผ่านกระบวนการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อให้บุคคลได้รับการยอมรับในความรู้ ทักษะ ตลอดจนความสามารถในการประกอบอาชีพ และได้รับคุณวุฒิวิชาชีพที่สอดคล้องกับสมรรถนะ ประสบการณ์ และความรู้ และสามารถใช้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพในการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าในสายอาชีพของตนเอง โดยคุณวุฒิวิชาชีพนี้จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อกำลังคนของประเทศทั้งผู้ที่ไม่มีวุฒิการศึกษาระดับสูง แต่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพ และผู้ที่มีวุฒิการศึกษาที่ต้องการต่อยอดความก้าวหน้าในอาชีพ ทั้งนี้คุณวุฒิวิชาชีพสามารถนำไปเทียบเคียงและเชื่อมโยงกับระบบคุณวุฒิและการรับรองอื่นๆ ทั้งภายในประเทศและระดับสากล เพื่อให้บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมได้มีโอกาสก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นไป และทำให้ประเทศไทยสามารถยกระดับมาตรฐานต่างๆ ไปสู่ระดับสากล