5 กิจกรรมคลายเหงา สำหรับคน “วัยเก๋า” ที่ทำเป็นอาชีพเสริมได้

5 กิจกรรมคลายเหงา สำหรับคน “วัยเก๋า” ที่ทำเป็นอาชีพเสริมได้

เคยสังเกตไหมว่าผู้สูงอายุในบ้านชอบพูดว่า “เบื่อจัง”  “เหงามากเลย”  “อยู่บ้านไม่มีอะไรให้ทำเลย” “อยู่ลำพังตามประสาคนแก่” ออกมาบ่อยๆ นี่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอก ถึงความผิดปกติของสภาวะร่างกายและจิตใจที่จะนำไปสู่ทั้งความรู้สึกโดดเดี่ยว ภาวะซึมเศร้า ความเครียด ฯลฯ เพราะในปัจจุบัน โลกกำลังขับเคลื่อนไปสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งกลุ่มคนในวัยนี้ ยังคงเป็นช่วงอายุที่ยังคงมีไฟ มีกิจกรรมหรือสิ่งที่อยากทำไม่แพ้วัยรุ่นและวัยทำงาน และการอยู่เฉยๆ หรือนอนพักผ่อนอยู่บ้าน ไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการชีวิตวัยเกษียณได้เหมือนเดิม

เพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวรุ่นใหญ่ให้มีความสุขมากกว่าที่เคย “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ขออาสา พาเหล่าวัยเก๋าไปเปิดโลก 5 กิจกรรมที่ทำแล้วช่วยผ่อนคลายความเหงา และทำให้แต่ละวันยังมีคุณค่า ไม่แพ้กับช่วงที่อยู่ในวัยทำงาน นอกจากจะสนุก ได้เพื่อน และได้ความรู้แล้ว บางกิจกรรมยังช่วยสร้างรายได้และประกอบเป็นอาชีพเสริมได้อีกด้วย

เริ่มต้นที่กิจกรรมแรก กับ เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และห้องสมุด เพราะการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด และไม่ได้ถูกจำกัดด้วยอายุ โดยสถานที่ที่ผู้สูงอายุสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้นั้นมีหลากหลาย อาทิ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ โบราณคดี  มรดกโลก  พิพิธภัณฑ์มีชีวิต  พิพิธภัณฑ์ที่จำลองเอาชีวิตคนเมืองหรือวิถีชุมชน หรือแม้แต่การไปห้องสมุดอ่านหนังสือ ก็ถือว่าเป็นกิจกรรมที่เหมาะสม เพราะที่ผ่านมาพบว่าผู้สูงอายุส่วนมากมักจะเกิดภาวะ “ความจำเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์” ดังนั้นการกระตุ้นสิ่งใหม่ๆ หรือการกระตุ้นการคิด การอ่าน เพียงวันละ 30 นาที 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์จะเป็นการกระตุ้นให้สมองได้ทำงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถลดภาวะการเกิดอัลไซเมอร์ได้เป็นอย่างดี

Team of volunteers stacking hands

กิจกรรมที่ 2 เป็นอาสาสมัคร ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่เกษียณและมีความรู้ติดตัวมาในด้านต่างๆ ที่หลากหลาย โดยการเป็นอาสาสมัครจะช่วยให้ผู้สูงอายุได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ถนัดและเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังถือว่าเป็นอีกกิจกรรมที่จะสร้างประโยชน์แก่ตนเองและคนอื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็น การเป็นวิทยากรด้านวิชาการ  อบรม การสอนทำอาหาร เย็บปักถักร้อย งานฝีมือต่างๆ ทั้งนี้ ข้อดีของการเป็นอาสาสมัครนั้นจะทำให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้นและสามารถนำความรู้ที่มีอยู่ไปต่อยอดให้แก่คนรุ่นหลังได้  เพราะผู้สูงอายุส่วนมากจะมีภาวะเครียด และไม่เห็นคุณค่าในตัวเองเนื่องจากสูญเสียสถานภาพทางสังคมไป

Asian elderly couple using tablet and drinking coffee in living room at home, couple enjoy love moment while lying on sofa when relaxed at home. Enjoying time lifestyle senior family at home concept.

กิจกรรมถัดมา ฝึกเล่นโซเชียลและอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ และรู้ช่องทางการติดต่อสื่อสารใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการฝึกใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) เฟซบุ๊ก (FACEBOOK) หรือ ยูทูบ (YOUTUBE) นอกจากนี้ การเรียนรู้วิธีใช้โซเชียลและอินเตอร์เน็ตยังเป็นอีกกิจกรรมที่สามารถเรียนรู้กันได้ง่ายๆ โดยการสอนของลูกหลาน หรือโรงเรียนสอนผู้สูงอายุที่มีระยะเวลาการเรียนสั้นๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันโลกโซเชียลแล้ว การใช้อินเตอร์เน็ตยังเป็นกิจกรรมคลายเหงา และเป็นการหาความสุขได้ง่ายๆ ด้วยตนเองโดยที่ไม่รบกวนผู้อื่น

Asian elderly man using tablet checking social media near window in living room at home. Lifestyle senior men at home concept.

กิจกรรมที่ 4 การทำอาชีพเสริม แม้หลายคนจะมองว่าผู้สูงวัยเมื่อถึงวัยเกษียณจะต้องหยุดทำงานและพักผ่อนอยู่บ้าน แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่เข้าวัย 60+ ยังคงมีประสิทธิภาพในการทำงานที่หลากหลาย รวมทั้งยังคงมีศักยภาพทางด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาที่ดีเยี่ยม สำหรับการทำอาชีพเสริมในกลุ่มผู้สูงวัยนั้นสามารถทำได้ทั้งงานที่แต่ละบุคคลถนัดอยู่เป็นทุนเดิม เช่น การเป็นติวเตอร์ การดูแลเด็ก การเป็นที่ปรึกษา การอาศัยความสนใจส่วนตัวหรือความสามารถพิเศษ เช่น การค้าขายอาหาร การทำเบเกอรี่ การเลี้ยงสัตว์ หรือแม้แต่กระทั่งการอาศัยบริบทจากสภาพแวดล้อมหรือสิ่งรอบตัว เช่น การเป็นไกด์นำเที่ยวท้องถิ่น

กิจกรรมแนะนำอันดับสุดท้าย การเข้าร่วมอบรมเวิร์กช็อป การเข้าโครงการอบรม หรือเรียนฝึกอาชีพในระยะสั้นๆ  ถือเป็นข้อดีที่จะทำให้ผู้สูงอายุได้เปิดโลกการปฏิบัติตนหรือแนวทางการทำอาชีพใหม่ๆ โดยใช้ระยะเวลาที่ไม่นานมากนัก ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีให้เลือกอย่างหลากหลายทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยหนึ่งในโครงการที่น่าสนใจและจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้คือ “โครงการ 60+ ค้าออนไลน์ ขายทั่วโลก” ที่จัดขึ้นโดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) นับเป็นโครงการแรกที่ช่วยให้ผู้ประกอบการวัย 60+ ได้เรียนรู้เรื่องการค้าขายออนไลน์ครบวงจร อาทิ การทำโฆษณา เทคนิคการถ่ายภาพและแต่งภาพอย่างง่าย ขั้นตอนการขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม พร้อมเพิ่มศักยภาพและสร้างโอกาสการขายสินค้าออนไลน์ได้จริง ด้วยการมีหน้าร้านง่ายๆ ภายใต้เว็บไซต์ไทยเทรดดอทคอม (Thaitrade.com)และ อาลีบาบา ดอทคอม ทำให้ผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าออนไลน์ได้ทั่วโลก นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในวัย 60+ รู้จักกับเทคโนโลยีดิจิตอลที่จำเป็น แอพพลิเคชั่นง่ายๆที่ใช้สำหรับแต่งภาพสินค้า พร้อมนำไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี

คุณนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA )

คุณนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA ) กล่าวว่า จากโครงสร้างประชากรโลกที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้กลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งในส่วนของประเทศไทยพบว่า ปัจจุบันมีประชากรผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 10.5 ซึ่งในปี 2564 จะมีประชากรผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 20 ของประเทศ ด้วยเหตุนี้ สถาบันผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ จึงได้เล็งเห็นถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจด้วยการทำการค้าออนไลน์ให้กับกลุ่มสูงวัย ด้วยโครงการ “60+ ค้าออนไลน์ ขายทั่วโลก” สำหรับหลักสูตรนี้ ถือเป็นหลักสูตรแรกที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่มีความสนใจด้านการค้าออนไลน์ มีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่พร้อมส่งออก เข้ามาร่วมพัฒนาแนวคิดทั้งด้านการตลาด เทคนิคการทำธุรกิจใหม่ๆ การใช้โซเชียลมีเดีย การรู้จักรูปแบบธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ และยังเป็นแนวทางในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกและการจ้างงานให้มีทิศทางที่ดียิ่งกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องส่งเสริมความสามารถ และยกระดับคุณภาพชีวิตไม่แพ้กับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบดิจิตอลที่กำลังเจริญรุดหน้าในทุกประเทศทั่วโลกในขณะนี้ สำหรับการส่งเสริมในเรื่องดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะกระทำได้ในเรื่องการค้ายุคใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ในอีกหลากหลายด้าน เช่น การดูแลสุขภาพ การสร้างสังคมออนไลน์ การรับข้อมูลข่าวสารและความบันเทิง การใช้เทคโนโลยีป้องกันอุบัติเหตุ หรือแม้แต่กระทั่งการใช้เป็นเครื่องมือทุ่นแรงในการดำเนินชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้หลายภาคส่วนควรมีการพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สายด่วน 1169 หรือ nea.ditp.go.th และ facebook.com/nea.ditp

เผยแพร่ครั้งแรก วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2562