ปลูกหญ้าแฝกป้องกันดินถล่ม สานต่อทำ “ไม้กวาด” สร้างรายได้

แม้จะผ่านเหตุการณ์ดินถล่มมานานหลายปี แต่ป้าทิพย์ ผู้ที่เคยประสบภัยในจังหวัดนครศรีธรรม ราชจนสิ้นเนื้อประดาตัวก็ยังไม่หายจากความหวาดผวา เธอใช้ความรู้จากการนำ “หญ้าแฝก” มา สร้างอาชีพ นั่นคือ สานเป็น “ไม้กวาด” ของใช้ที่ทุกบ้านต้องมี งานฝีมือที่สร้างรายได้ให้สามารถลืมตาอ้าปาก พร้อมกับเห็นสัจธรรมว่ามนุษย์ยังคงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ต่อไป

 

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักถึงศักยภาพของหญ้าแฝก พืชที่จะช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและอนุรักษ์ความชุ่มชื้นไว้ในดิน จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการศึกษาทดลองเกี่ยวกับหญ้าแฝก เพื่อเป็นการลดการพังทลายของหน้าดิน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิ คุณจึงได้มีการน้อมนำแนวพระราชดำริมาปรับใช้ในพื้นที่ตำบลนบพิตำ อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ภัยพิบัติดินถล่ม เพื่อใช้เป็นพื้นที่นำร่องแก้ไขปัญหาการเกิดดินถล่มและอุทกภัยที่เกิดขึ้นแทบทุกปี

แม้วันเวลาจะล่วงเลยมานานและการล้อมวงกินข้าวจะมีเสียงพูดคุยเล่าอดีตอย่างออกรส ทุกข์ของวันนั้นจึงถูกวันเวลาทำให้เจือจางลงแต่แววตายังส่อแววขมขื่น “ผ่านมาหลายปีแล้วนะที่ดินถล่ม ถ้านึกถึงวันนั้นเหมือนคนที่หมดทุกอย่าง สูญเสียเหลือแต่บ้านที่พอได้พักอาศัย แต่ที่ทำกินไม่เหลือ หมดไปในพริบตา” ป้าทิพย์ หรือ คุณพรทิพย์ เพ็ชรเจริญ หนึ่งในผู้ประสบภัย กล่าว เมื่อฝนฟ้าคะนองมาก็ยังสร้างความหวาดผวาให้กับผู้อาศัยอยู่เสมอ การหาหนทางรอดจากความกลัวจึงต้องใช้องค์ความรู้เข้าช่วย

คุณพรทิพย์ เพ็ชรเจริญ

สถานที่ตั้งของครอบครัวเล็กๆ แห่งนี้จึงกลายเป็นพื้นที่งานวิจัยในโครงการวิจัยที่เกี่ยวกับหญ้าแฝกด้วยการร่วมกันทำงานระหว่าง กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ด้วยการทำงานที่ค่อยๆ สะสมองค์ความรู้ร่วมกับการทำงานจริงในพื้นที่ภัยพิบัติ ทำให้ครอบครัวนี้สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับป่าในเขตรอยต่ออุทยานแห่งชาติเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช

และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงยังมีการน้อมนำศาสตร์พระราชาอันเป็นวิชาความรู้ของพระมหากษัตริย์มาปรับใช้ในการสร้างงานสร้างอาชีพนอกเหนือจากการนำหญ้าแฝกมาปลูกเพื่อป้องกันดินพังทลาย ยังมีการนำต้นไม้ชนิดอื่นๆ มาปลูกผสมผสานกันจนเกิดเป็นอาชีพการทำ “ไม้กวาด” จากพืชที่ปลูกรอบๆ บ้านนั่นเอง

ลุงศักดิ์ หรือ คุณสมศักดิ์ เพ็ชรเจริญ หัวหน้าครอบครัวผู้ประสบภัย เล่าด้วยว่า ได้มีการน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในพื้นที่ประสบภัยรอบบ้านของตนเอง ทั้งการทำเกษตรแบบผสมผสานด้วยการปลูกผักพื้นบ้าน เลี้ยงไก่ ไปจนถึงการทำไม้กวาด

เนื่องจากไม้กวาดเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดที่จำเป็นมากในทุกครัวเรือน และเป็นอุปกรณ์ที่มักพบการใช้มากกว่า 1 ด้ามในแต่ละบ้าน แม้ปัจจุบันได้มีการนำเครื่องดูดฝุ่นเข้ามาใช้บ้างแล้ว แต่ยังมีสถานที่ต่างๆ อีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องการใช้ไม้กวาด ดังนั้น การทำไม้กวาดเพื่อจำหน่าย จึงเป็นการเสริมสร้างรายได้อีกทางหนึ่งให้กับครอบครัว

นอกจากนี้ งานฝีมืออย่างการทำไม้กวาดดอกหญ้าจากช่อต้นดอกหญ้าหรือต้นก๋งนั้นยังเป็นงานฝีมือที่ไม่ยากนักแต่ต้องใช้เวลาและความอดทน

โดยมีวิธีการทำคร่าวๆ คือ นำดอกหญ้ามาตีหรือฟาดกับพื้นเพื่อให้ดอกหญ้าดอกเล็กๆ หลุดออกให้เหลือแต่ก้านเล็กๆ และแกะก้านดอกหญ้าออกจากต้น จากนั้นนำมามัดรวมกันเป็นช่อให้แน่นประมาณ 1 กำมือ และใช้หวายมาแทนเชือกฟางสอยเข้าไปมัดดอกหญ้าแล้วถักไปถักมาประมาณ 3-4 ชั้น พร้อมทั้งจัดมัดดอกหญ้าให้แบนราบและใช้มีดตัดโคนรัดดอกหญ้าที่ถักแล้วให้เสมอเป็นระเบียบสวยงาม

จากนั้นจึงทำด้ามไม้กวาดด้วยการนำหวายพืชที่ปลูกในพื้นที่รอบๆ บ้านมาใช้ประโยชน์เพราะไม้หวายมีเนื้อเหนียว แข็งแรง และยืดหยุ่นได้ดีกว่าไม้ไผ่หรือไม้จักสานชนิดอื่นๆ ด้วยการมัดหวายกับดอกหญ้าให้แน่น จึงจะได้ไม้กวาดที่คงทนแข็งแรง

“ไม้กวาดจากดอกหญ้าด้ามหนึ่งนั้นจะมีอายุการใช้งานที่คงทนยาวนาน บางบ้านถ้าเก็บให้ถูกต้องก็จะใช้งานได้หลายปีเลยทีเดียว” ลุงศักดิ์ บอก ส่วนวิธีการเก็บให้ยาวนาน เช่น เมื่อใช้เสร็จแล้วควรจับทางดอกไม้กวาดตั้งเพื่อไม่ให้ไม้กวาดเสียทรงและควรใช้กวาดพื้นแห้งเพื่อไม่ให้ไม้กวาดดอกหญ้าหลุดหรือพังเร็ว เป็นต้น ซึ่งวิธีการเหล่านี้ไม่ได้ยุ่งยาก ดังนั้น หากลองเสียเวลาอีกนิดก็จะได้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

ด้านรายได้ในการทำไม้กวาดดอกหญ้า ลุงศักดิ์ เล่าอีกว่า “ปีที่ผ่านมาผลิตได้ราวๆ 300 ด้าม และขายส่งได้ด้ามละ 80 บาท ทำให้มีรายได้ต่อเดือนประมาณ 2,000 บาท ซึ่งเป็นการทำงานที่ไม่มีต้นทุนอะไรเลยเนื่องจากวัสดุทุกอย่างสามารถหาได้ในรอบบ้าน เช่น ดอกไม้กวาด ด้ามไม้กวาด และเชือกผูกไม้กวาดที่ทำจากต้นหวาย จะมีลงทุนคือแรงงานเท่านั้น และยังสามารถใช้เวลาว่างนอกเหนือจากการทำงานหลักอื่นๆ ได้ โดยวันหนึ่งจะผลิตได้ประมาณ 7-8 ด้าม สร้างรายได้ให้ครอบครัวพอสมควร”

สำหรับลูกค้าที่ผ่านมามีทั้งสถานศึกษา สถานที่ราชการต่างๆ เช่น โรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษาที่มารับซื้อไปจำนวน 150 ด้าม และลูกค้ารายย่อยอื่นๆ อย่าง แม่บ้าน ข้าราชการ ทหาร ครูอาจารย์ เป็นต้น เรียกว่ากลุ่มเป้าหมายคือแทบทุกครัวเรือนที่จะต้องมีไม้กวาดดอกหญ้า ดังนั้น ช่องทางการตลาดจึงคิดว่ายังมีอีกมาก

ลุงศักดิ์ เล่าอีกว่า การทำไม้กวาดดอกหญ้า แม้จะมีรายได้ไม่ได้สูงมากนักในแต่ละเดือน แต่เมื่อทำร่วมกับวิถีพอเพียงตามรอยพ่อ ทำให้ครอบครัวมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นควบคู่กับการทำเกษตรกรรมอื่นๆ เช่น ปลูกผักเหรียง ปลูกมะนาว เพาะชำกล้าไม้ เลี้ยงไก่ไข่ ฯลฯ ซึ่งคิดว่าครอบครัวที่ทำเกษตรกรรมอยู่แล้วสามารถทำควบคู่ไปด้วยได้

ครอบครัวเพ็ชรเจริญ หนึ่งในครอบครัวที่เคยประสบภัยดินถล่มอย่างร้ายแรง จึงเริ่มต้นการแก้ปัญหาด้วยองค์ความรู้ การดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายแต่กลับกลายเป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาในพื้นที่ภัยพิบัติอย่างยั่งยืน เนื่องจากไม่มีใครสามารถทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติหายไปได้ แต่การหาแนวทาง “อยู่ร่วมกัน” ย่อมเป็นหนทางรอดหนึ่งที่มนุษย์ต้องร่วมเรียนรู้ธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ต่อไป