เกษตรเจนวาย สานต่ออาชีพทำสวน ส่งผลผลิตออกนอก-เปิดคาเฟ่ทุเรียน แห่งแรกในจันทบุรี

เกษตรเจนวาย สานต่ออาชีพทำสวน ส่งผลผลิตออกนอก-เปิดคาเฟ่ทุเรียน แห่งแรกในจันทบุรี

การทำสวน ไม่ได้เป็นอะไรที่แปลกใหม่ เพราะอยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน หลายคนเห็นปู่ย่าตายายยึดอาชีพเป็นเกษตรกรทำสวนกันมาตั้งแต่ยังเล็ก แต่ด้วยยุคสมัยเปลี่ยนไป เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เราเห็นในปัจจุบันมักเป็นคนเฒ่าคนแก่ ส่วนลูกหลานนั้นเมื่อเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ต่างทิ้งที่ทางกันไปหมด ไม่กลับมาต่อยอดอาชีพดั้งเดิม

แต่ถึงอย่างนั้นยังมีหนุ่มสาวเจนวายอีกส่วน ที่ไม่คิดทิ้งงานอาชีพเกษตรกรรม เมื่อเรียนจบมุ่งหน้ากลับบ้านเกิดเพื่อสานต่ออาชีพดั้งเดิมที่พ่อแม่สร้างไว้อย่างภูมิใจ เช่น คุณน้ำ-พลอยณิศา เรืองชัยโชค ทายาทสาวชาวสวนจังหวัดจันทบุรี วัย 26 ปี ดีกรีไม่ธรรมดา เธอเป็นลูกสาวคนโตของ คุณณัฐวัฒน์ เรืองชัยโชค นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลพลับพลานารายณ์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาจีน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จันทบุรี

หลังจบการศึกษา คุณน้ำยึดอาชีพตามที่ได้ร่ำเรียนมาเป็นครูสอนภาษาจีนให้กับเด็กนักเรียนชั้น อนุบาล 3 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนวัดทองทั่ว วัดเนินสูง และวัดดอนตาล ในจังหวัดบ้านเกิด สอนอยู่นาน 3 ปี เธอได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นเกษตรกรสาวชาวสวน ดูแลเรื่องช่องทางการกระจายผลผลิตที่ได้จากสวนของตนเองและสวนของกลุ่มเกษตรกรพลับพลานารายณ์ราว 20 หลังคาเรือน

ทายาทสาววัย 26 ปี เล่าว่า หลังจบการสอนภาษาจีนให้กับเด็กนักเรียน ได้หันมาต่อยอดกิจการทำสวน ที่ครอบครัววางรากฐานมาอย่างดีไว้ตั้งแต่รุ่นตารุ่นยาย ซึ่งเป็นเจ้าของสวนมังคุด เงาะ ทุเรียน ลองกอง บนพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ในจังหวัดจันทบุรี

“ตั้งแต่จำความได้ ช่วงปิดเทอม น้ำมักจะไปช่วยคุณตาคุณยายทำสวนอยู่บ่อยๆ ทั้งเก็บผลผลิต พ่นยา จนได้ซึมซับการทำสวนมาไม่น้อย เราได้เห็นถึงความเหนื่อยยากของชาวสวนบ้านเราทุกคน เขาตั้งใจดูแลผลผลิตเพื่อให้ผู้บริโภคได้ทานผลไม้อร่อยๆ จึงอยากเป็นส่วนช่วยเล็กๆ ผลักดันผลไม้จากจังหวัดจันทบุรีให้ไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่” คุณน้ำ เล่าด้วยรอยยิ้ม

ด้วยมีความสามารถด้านการพูดภาษาจีนเป็นตัวช่วย ทำให้คุณน้ำสามารถติดต่อกับพ่อค้าชาวจีนจนสามารถส่งออกสินค้าเกษตรคุณภาพดีจากสวนของตนเอง และสวนของกลุ่มเกษตรกรพลับพลานารายณ์ ไปจำหน่ายที่เกาะกง ติดชายแดนประเทศกัมพูชา ได้สำเร็จ กลายเป็นลูกค้าประจำกันไปแล้ว

“ชาวสวนจันทบุรีส่วนใหญ่จะปลูกเงาะ ทุเรียน มังคุด ผลผลิตที่ได้จะนำไปจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง และออกไปจำหน่ายเอง ส่วนใหญ่ก็จะมีปัญหาโดนกดราคา ราคาปุ๋ยแพง ทำให้เกษตรกรหลายคนท้อใจ เพราะกว่าจะได้ผลผลิตนั้นเหนื่อยมาก แต่ก็ไม่คิดขายที่ทางไปทำอย่างอื่น หลังจำหน่ายให้กับพ่อค้าชาวจีนโดยตรง ช่วยให้กลุ่มเกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น หลายคนยิ้มออก” ทายาทสาว เล่าอย่างภูมิใจ

ก่อนเล่าต่อว่า นอกจากรายได้ที่มั่นคงของกลุ่มเกษตรกรแล้ว ยังเป็นความภาคภูมิใจที่ได้คัดสรรผลไม้คุณภาพจากสวนส่งให้คนจีนได้ทาน โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ในแต่ละครั้ง พ่อค้าชาวจีนจากเกาะกงจะสั่งผลไม้ครั้งละประมาณ 2 ตัน

นอกจากรับช่วงต่อดูแลสวนแล้ว ด้วยความเป็นสาวรุ่นใหม่ไฟแรง คุณน้ำยังช่วยคุณแม่ต่อยอด นำผลไม้สดๆ จากสวนมาเพิ่มมูลค่า ด้วยการเปิดร้านคาเฟ่ทุเรียนแห่งแรกในจังหวัดจันทบุรี ชื่อ “พลอยจันทร์ คาเฟ่ทุเรียน” ตั้งอยู่บริเวณหน้าปั๊ม LPG ทางเข้าน้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี

นำทุเรียนพันธุ์โบราณหายากที่คนไม่ค่อยรู้จักแต่รสชาติอร่อย อาทิ กบสุวรรณ กบชายน้ำ จันทบุรี 10 พลอยจันทร์ ฯลฯ มาสร้างสรรค์เป็นเมนูคาวหวานต่างๆ เช่น มัสมั่นไก่ใส่ทุเรียน แกงป่าทุเรียน แกงเป็ดกะลา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดื่มและขนมหวาน อาทิ กาแฟทุเรียนพลอยจันทร์ เค้กทุเรียน วุ้นทุเรียน ฯลฯ ให้ได้ทานกันแบบชิลๆ

ถามถึงการเป็นสาวเจนวาย ภาพลักษณ์ทันสมัยดูขัดแย้งกับการทำสวน ทายาทสาว บอกว่า ไม่ชอบเมืองหลวงเพราะแออัด สู้อยู่บ้านเกิดไม่ได้สบายกว่ามาก เห็นพ่อแม่ทำงานหลายอย่างตั้งแต่เด็ก เลยกลับมาช่วยท่านดีกว่า

“สนุกนะกับการทำงานร่วมกับเกษตรกร เป็นงานที่ท้าทายมาก ไม่ใช่แค่เรานะที่หันมาทำสวน เพราะเกษตรกรในจันทบุรีส่วนใหญ่ตอนนี้วัยเท่าเราหมดเลย ไม่ค่อยมีใครไปทำงานในกรุงเทพฯ แล้ว ทำสวนมีรายได้ดีกว่า แม้บางปีจะไม่มากแต่ก็ยังได้”

การเข้ามาดูแลสวนเต็มตัวในฐานะทายาทสาว เธอบอกว่า ต้องดูแลเต็มที่ ต้องโฟกัสคุณภาพของผลไม้เป็นสำคัญ อาจมีปัญหาและอุปสรรคบ้างในเรื่องอายุ ทุกครั้งที่ไปเจรจาหรือติดต่องานกับคนอายุมากกว่าจะประหม่าเล็กน้อย แต่โชคดีที่ส่วนใหญ่แล้วมักได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่หลายท่าน

“อายุเราน้อย ต้องมีเคล็ดลับการสื่อสาร คุยให้เหมือนคุยกับเพื่อนเอาเรื่องมาแชร์กันว่าของเราคุณภาพดียังไง ให้คำตอบได้ในทุกคำถาม ไม่ใช่คุยกันแบบพ่อค้าแม่ค้าคุยกัน แบบนั้นจะเกร็งกันทั้งคู่ ส่วนใหญ่ที่คุยมีบ้างที่ไม่สำเร็จ แต่ไม่ได้เก็บมาคิดมาก เป็นประสบการณ์ แล้วกลับไปพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น”