“สำเนียง หนูคง”ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2562 ผู้อนุรักษ์งานหัตถศิลป์ “สลักดุนโลหะ” กว่า 20 ปี

“สำเนียง หนูคง” ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2562 ผู้อนุรักษ์งานหัตถศิลป์ “สลักดุนโลหะ” กว่า 20 ปี

คุณสำเนียง หนูคง หนึ่งในบุคคลที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติเป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2562 ของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ศ.ศ.ป. หรือ SACICT เป็นโครงการอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมในปัจจุบัน ซึ่งได้ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี ภายใต้โครงการดำเนินกิจกรรมคัดสรร และเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ใน 3 สถานะ ประกอบด้วย “ครูศิลป์ของแผ่นดิน – ครูช่างศิลปหัตถกรรม – ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี 2562

โดย คุณสำเนียง เป็นผู้ที่ได้รับการคัดสรรจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ด้วยมีฝีมือและความชำนาญด้านงานโลหะหลายแขนง ทั้งการขึ้นรูป การบุหุ้มและการสลักดุนลาย ที่ยังคงอนุรักษ์และสืบสานเทคนิค และกระบวนการทำงาน “สลักดุนโลหะ” แบบดั้งเดิมไว้ทั้งหมดเป็นระยะเวลากว่า 24 ปี

คุณสำเนียง เล่าว่า  ตนชื่นชอบงานด้านศิลปะ จึงเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ในสาขาวิชาเครื่องโลหะรูปพรรณ ระหว่างศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้งานเครื่องถม และเห็นฝีมือของบรมครูรุ่นก่อนๆ ที่ทำงานเครื่องถมไว้อย่างสวยงาม จึงเกิดความประทับใจและตัดสินใจเข้ามาช่วยงานครูผู้มากด้วยฝีมือการทำงานเครื่องถมในจังหวัดนครศรีธรรมราช อย่าง ครูนิคม นกอักษร จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ที่วิทยาลัยเพาะช่าง สาขาวิชาเครื่องประดับอัญมณี และโลหะรูปพรรณ เพราะตั้งใจที่จะสืบสานงานด้านนี้ต่อไป เนื่องจากเห็นว่าในขณะนั้นงานแขนงนี้มีช่างทำอยู่น้อยมาก

กระทั่งมีโอกาสได้เข้าไปฝึกงาน ซ่อมงานต่างๆ ในสำนักพระราชวัง อยู่บ้าง จึงได้เรียนรู้งานสลักดุน งานขึ้นรูป งานบุหุ้มแบบโบราณมากยิ่งขึ้น และนำความรู้นั้นมาต่อยอดเพื่อซ่อมแซมและสร้างสรรค์งานสลักดุนอย่างต่อเนื่องจนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี

ด้วยฝีมือการทำงาน “สลักดุน” ที่ละเอียด ประณีต งดงามของคุณสำเนียง ทำให้มีโอกาสทำงานกับหน่วยงานต่างๆ อยู่เสมอ  ใช้เวลาว่างในการสร้างสรรค์งานและถ่ายทอดผลงานสลักดุนสู่สังคมอยู่เสมอ และเริ่มพัฒนาสร้างสรรค์งานชิ้นใหญ่ เช่น การสลักดุนฉัตร โดยอาศัยประสบการณ์และเทคนิคต่างๆ ที่ได้เรียนรู้มา

คุณสำเนียง ยังบอกอีกว่า งานสลักดุน จัดเป็นงานหัตถศิลป์ ที่ต้องอาศัยความชำนาญ และความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว เพราะการทำงานกับโลหะนั้นจะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ง่ายและแก้ไขยาก ซึ่งในกระบวนการสลักดุน ต้องอาศัยความชำนาญในทุกขั้นตอน

ด้วยเอกลักษณ์ผลงานที่โดดเด่นสลักดุนโลหะ จะมีทั้งแบบที่สลักดุนลงบนตัวชิ้นงาน เช่น ผอบ พาน ขัน กรอบกระจก กรอบรูป  และงานสลักดุนแบบลวดลายประดับ เช่น ดาวเพดาน ฉัตร สัพธน เป็นต้น ตนจะนิยมใช้เทคนิคสลักดุนลวดลายบนวัสดุแผ่นเรียบ ทำแยกเป็นชิ้นๆ แล้วนำมาประกอบเป็นรูปทรงเข้าด้วยกัน ชิ้นงานส่วนใหญ่ใช้สำหรับงานในพุทธศาสนา ประดับโบสถ์ วิหาร และเจดีย์ ลวดลายที่สร้างสรรค์มักจะเป็นลายไทย เช่น ลายพุดตาน ลายใบเทศ ลายก้านขด ลายกระจัง เป็นต้น

“ผลงานที่ภาคภูมิใจและถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของผม คือ การมีโอกาสทำงานที่สำคัญให้กับสำนักพระราชวังและหน่วยงานต่างๆ อยู่หลายครั้ง ได้แก่ พระโกศพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ขนาดสูง 1 ฟุต สร้างเป็นงานต้นแบบโดยใช้เทคนิคการขึ้นรูปและสลักดุนลวดลาย เพื่อนำไปหล่อเป็นทองคำ  การหุ้มทองคำยอดฉัตร พระมหาเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย เป็นเทคนิคการขึ้นรูปทองคำที่มีขนาดใหญ่ แล้วนำไปบุหุ้มบนยอดพระมหาเจดีย์พุทธคยา”

และด้วยความรักในการสร้างสรรค์งานสลักดุนโลหะ ทำให้คุณสำเนียงมุ่งมั่น ตั้งใจสืบสาน และอนุรักษ์งานแขนงนี้มาโดยตลอด ด้วยการถ่ายทอดความรู้ แก่ลูกศิษย์ และคนรุ่นหลังสอนให้คนที่มีความสนใจและได้เข้ามาเรียนรู้งานในแขนงนี้พัฒนาผลงานต่อไปมากยิ่งขึ้น

คุณสำเนียง ทิ้งท้ายว่า อนาคตตั้งใจว่าจะเปิดบ้านให้เป็นเหมือนโรงเรียนเพื่อสอนงานสลักดุนโลหะให้คนที่รักงานด้านนี้โดยเฉพาะ มีเจตนารมณ์ในการสร้างสรรค์งานด้วยจิตวิญญาณของคนที่เป็นช่าง ในด้านการพัฒนาผลงานตนยังมีแนวคิดในการประยุกต์ นำงานสลักดุน งานเครื่องถม และงานขึ้นรูป มาพัฒนาสร้างสรรค์ให้เป็นงานทางทัศนศิลป์ ที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น โดยการนำงานทั้งสามแขนงมาออกแบบร่วมกันให้เกิดงานรูปแบบใหม่ ปรับประยุกต์งานสลักดุนโลหะให้เกิดประโยชน์ และสามารถใช้สอยได้ในชีวิตประจำวัน เช่น โคมไฟ กรอบกระจก เป็นต้น เป็นการต่อยอดจากภูมิปัญญาที่มีอยู่แล้วไปสู่ผลงานเชิงสร้างสรรค์ และสืบสานงาน “สลักดุน” ให้คงอยู่สืบต่อไป