เกษสุดา ไรวา ต้นแบบผู้หญิงเก่งแห่งอาณาจักรความอร่อย S&P

ย้อนกลับไปในอดีต ผู้หญิงมักจะถูกจัดวางให้อยู่ในบทบาทการเลี้ยงลูกหรือทำงานบ้านเสียส่วนใหญ่ ส่วนผู้ชายก็มีหน้าที่รับผิดชอบทำงานนอกบ้านเป็นเสาหลักให้กับครอบครัวเพียงคนเดียว กระทั่งเมื่อเวลาผ่านไปบทบาทของผู้หญิงได้วิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ และไม่ได้ถูกจำกัดแต่พื้นที่ภายในบ้านเท่านั้น ผู้หญิงยังสามารถบาลานซ์หลากหลายบทบาททั้งความเป็นแม่ ภรรยา และเวิร์กกิ้งวูแมนไปพร้อม ๆ กันได้ด้วย

สำหรับแวดวงนักธุรกิจ-ผู้ประกอบการหญิงในอาเซียนได้มีการรวมกลุ่มจนเกิดเป็นเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน (AWEN) และมีการมอบรางวัลผู้ประกอบการสตรีที่มีผลงานโดดเด่นแห่งอาเซียนประจำปีต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว เพี่อเชิดชูและให้กำลังใจผู้ประกอบการสตรีที่สร้างผลงานธุรกิจโดดเด่น เป็นแบบอย่างผู้ประกอบการที่ดี และเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของอาเซียน

ในปีนี้คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลผู้ประกอบการสตรีที่มีผลงานโดดเด่นแห่งอาเซียน มี เกษสุดา ไรวา หัวเรือใหญ่แห่งอาณาจักรขนมหวาน S&P ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกรางวัล

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้พูดคุยกับเกษสุดา ไรวา หรือ “นาย” ทั้งในฐานะประธานการคัดเลือกรางวัล รวมถึงเส้นทางความสำเร็จในการพาธุรกิจความอร่อย S&P เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์และเติบโตภายใต้การนำของผู้หญิงเก่งคนนี้

เกษสุดาบอกว่า ปีนี้กระบวนการคัดเลือกค่อนข้างเข้มงวดพอสมควร มีมากถึง 4 ด่าน จากคณะกรรมการ 8-15 ท่าน เมื่อเธอได้มานั่งแท่นประธานการคัดเลือกในปีนี้ทำให้ได้เห็นภาพรวมของแวดวงนักธุรกิจหญิงอาเซียนชัดเจนขึ้น เธอบอกว่า ปัจจุบันผู้หญิงได้รับโอกาสดีขึ้นมากกว่าแต่ก่อน ซึ่งประเทศที่ผู้หญิงมีบทบาทค่อนข้างโดดเด่นเห็นชัดคือ ประเทศเวียดนาม และประเทศไทย

“เนื่องจากรางวัลนี้ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกที่ประเทศเวียดนาม ฉะนั้น เวียดนามจึงค่อนข้างมีบทบาทมากพอสมควร แต่ดิฉันคิดว่าเรื่องความเก่ง ความพร้อม และการสนับสนุนจากภาครัฐ ไทยเราค่อนข้างโดดเด่น เวลาไปออกงานผู้บริหารของเราหรือเจ้าของธุรกิจจะนำเอาผลิตภัณฑ์ไปเผยแพร่อย่างมีนัยเสมอ ในช่วง 2 ปีที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพก็ได้สร้างความยิ่งใหญ่ให้สังคมในเรื่องของสตรีมากขึ้นด้วย”

เมื่อถามว่าปัจจัยเรื่องเพศมีผลต่อการทำงานมากน้อยแค่ไหน เกษสุดาบอกว่า ในภาคเอกชนไม่ค่อยพบมากนัก แม้ว่าอัตราส่วนพนักงานผู้หญิงต่อผู้ชายอาจจะน้อยกว่า แต่ระยะหลังมานี้ตัวเลขสัดส่วนผู้หญิงก็ขยับขึ้นมาเรื่อย ๆ ที่น่ากังวลคือ ในภาครัฐ เพราะเพศชายยังมีสัดส่วนค่อนข้างมาก เธอและทางสมาคมจึงพยายามผลักดันเครือข่ายผู้ประกอบการเพื่อขยายธุรกิจของตนเองเข้าสู่ระดับอาเซียนให้ได้ นี่คือเป้าหมายที่สำคัญที่สุด

รองลงมาจึงเป็นเรื่องการช่วยเหลือและคืนกำไรให้แก่สังคม ทั้งปัญหาเด็กด้อยโอกาส การศึกษา หรือบางประเทศที่มีปัญหาด้านสิทธิสตรี ทางสมาคมก็จะพยายามเร่งผลักดันตรงนี้เข้าสู่การดูแลของภาครัฐเช่นกัน

จากภาพรวมเรื่องเครือข่าย และรางวัล ขยับมาที่พาร์ตส่วนตัวกันบ้าง ซึ่งเกษสุดา ไรวาถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของผู้หญิงเก่งในแวดวงธุรกิจด้วย เธอพูดติดตลกพร้อมใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า “ถ้านายพูดแบบนี้ทางคุณผู้ชายเขาจะน้อยใจหรือเปล่า แต่ว่าจริง ๆ แล้ว S&P เนี่ยถือว่าเป็นตัวอย่างความสำเร็จของผู้หญิงเก่งเลยนะ”

เกษสุดาเริ่มต้นเล่าถึงเส้นทางความสำเร็จของแบรนด์ให้ฟังว่า S&P เริ่มจากร้านเบเกอรี่เล็ก ๆ ในครอบครัว ก่อตั้งโดยภัทรา ศิลาอ่อน ที่มีความชอบในธุรกิจด้านอาหารและเบเกอรี่ ภัทราดูแลด้านอาหาร โดยมีพันทิพา ไรวา เข้ามาดูงานด้านเบเกอรี่ และพรพิไล ไรวาดูแลส่วนงานบริหาร ซึ่งเป็นผู้หญิงด้วยกันทั้งหมด สำหรับตัวเธอเองเริ่มเข้ามาในช่วงที่ S&P ก้าวสู่ที่ปี 32 ด้วยฐานะสะใภ้ บทบาทสำคัญของเกษสุดาคือ การนำ S&P เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ให้ได้

“นายเรียนจบด้านธุรกิจการเงินแล้วไปต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่อเมริกา พอจบมาก็ได้ทำงานประจำในบริษัทการเงิน ตำแหน่งนักวิเคราะห์สินเชื่อ มีความชอบในโครงสร้างของธุรกิจ อยู่ในวงการการเงินมาสิบปี พอแต่งงานก็ได้มีโอกาสมาทำส่วนของการเงินในการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ จัดโครงสร้างธุรกิจ และเป็นตัวเซ็นเตอร์ในการดูด้าน business development ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย สิงคโปร์ หรือจีน”

ด้านอุปสรรคในการทำงานเกษสุดา บอกว่า เรื่องเพศไม่เป็นปัญหาในการบริหารงานของครอบครัวเลย แต่ปัญหาหลัก ๆ จะเป็นปัญหาทั่วไปอย่างเรื่องของการวางกรอบธุรกิจเพื่อส่งต่อให้เจเนอเรชั่นที่สองมากกว่า เพราะเมื่อธุรกิจโตขึ้น ใหญ่ขึ้น รุ่นแรกต้องมีการวางทิศทางที่ชัดเจนเพื่อส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป ต้องเทรนเขาแบบไหน ต้องหาความชอบที่เขาถนัดอย่างไร เป็นสิ่งที่รุ่นแรกต้องช่วยเกลาเสริมไปด้วย ซึ่งตอนนี้เจเนอเรชั่นที่สองก็เริ่มเข้ามารับช่วงต่อบ้างแล้ว ทั้ง วิทูร ศิลาอ่อน ลูกชายคนโตของอมเรศ-ภัทรา ศิลาอ่อน, กำธร ศิลาอ่อน เข้ามาดูเรื่อง supply chain หรือ มณีสุดา ศิลาอ่อน ดูในส่วนของงานด้านสื่อสารมวลชน เรียกว่าทุกคนทำตามสิ่งที่ตัวเองถนัด รวมถึงทายาทของเกษสุดาอย่าง เนม-ปราการ ไรวา และ นาม-ปรมา ไรวา ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการบริหารบ้างแล้ว

“เนมยังไม่เข้ามาแต่ให้เรื่องความคิดมากกว่า นามเข้ามาดูแลแบรนด์วานิลลาใน S&P ซึ่งเป็นแบรนด์น้องใหม่ แต่ก็ยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ ทั้งเนมและนามชอบในเรื่องของการตลาดเหมือนกัน ดิฉันคิดว่าเด็กรุ่นใหม่เขาจะมีความไวในเรื่อง how to คือ ทำอย่างไรให้คนพูดถึง เป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ แต่ถ้าเรื่องของระบบ หรือกระบวนการที่วางรากฐานไว้เขาต้องมาเรียนรู้อีกมาก อย่างนามเองมีธุรกิจส่วนตัว ก็จะได้เรียนรู้เรื่องการทำบัญชี การทำอะไรเองเหมือนเป็นเสมียนของบริษัท ถ่ายรูปเอง เขียนใบส่งของเอง ทำจากจุดเล็ก ๆ ตรงนี้ ต่อไปจะทำให้เขาเข้าใจกระบวนการจากรากได้”

ซื่อสัตย์ มุ่งมั่น และมีคุณธรรม คือ หลักการทำงานของผู้หญิงเก่งอารมณ์ดีคนนี้ เธอคิดเสมอว่า ต้องทำสิ่งที่ชอบ มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของตัวเองตลอดเวลา เพราะการที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน แม้ภายนอกจะดูเป็นคนยิ้มง่าย แต่เกษสุดาบอกว่า เวลาทำงานเธอเอาจริงเอาจังมากถึงขนาดที่พนักงานร้องไห้ขอลาออกหลังจากเธอตำหนิเสร็จเลยก็มี ทำให้ธรรมะกลายมาเป็นอีกหนึ่งหลักยึดของชีวิตเพื่อบาลานซ์อารมณ์ความรู้สึกในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น เธอเล่าปนขำว่า ทุกครั้งที่เกิดความทุกข์ต้องฉลาดที่จะไม่คิดผิด หัดปล่อยวางให้ได้ ต้องคิดแบบนี้เพื่อเตือนตัวเองบ่อย ๆ แม้จะทำไม่ค่อยได้ก็ตาม (หัวเราะ)

“work hard, play hard” เกษสุดาให้นิยามในการใช้ชีวิตของตัวเอง เวลาว่างเธอมักจะชอบทำอาหารเลี้ยงรับแขกที่บ้าน เธอเล่าว่า โต๊ะกินข้าวที่บ้านสามารถรองรับแขกได้มากถึง 20 คน เพราะส่วนตัวชอบคิดค้นเมนูใหม่ ๆ ให้เพื่อน ๆ ได้รับประทานกัน อีกอย่างคือ การท่องเที่ยวแนวแอดเวนเจอร์ลุย ๆ หน่อย หรือบางครั้งก็ถือโอกาสพักผ่อนพร้อมกับดูธุรกิจในเครือที่ต่างประเทศไปพร้อม ๆ กันด้วย ส่วนอีกหนึ่งกิจกรรมใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเริ่มมาได้ประมาณสองเดือน คือ การอุ้มหลานคนแรกทุกเช้า

จนถึงตอนนี้ S&P เดินทางเข้าสู่ปีที่ 46 ด้วยพนักงานกว่า 7,500 ชีวิตแล้ว เกษสุดามองทิศทางการเติบโตของแบรนด์ในอนาคตว่า ต้องมีการขยายสาขาในต่างประเทศเพิ่มขึ้น อย่างตอนนี้ที่กัมพูชามีทั้งหมด 5 สาขา และกำลังจะขยายเพิ่มเป็น 6 สาขา

แต่ที่กำลังเรียนรู้และต้องใช้เวลาสักหน่อย คือ การทำธุรกิจในประเทศจีน เธอบอกว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้ในครั้งนี้คือความจริงจังและความจริงใจระหว่างหุ้นส่วน ซึ่งก็ยังต้องมีการปรับเข้าหากันอยู่บ้าง สำหรับธุรกิจในไทยเองเกษสุดาบอกว่า ทิศทางจะเป็นอย่างไรคงจะให้ปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของเจเนอเรชั่นที่สองมากกว่า แต่หลักการทั่วไปของ S&P ยังคงเหมือนเดิม คือ ยึดหลัก “สามคุณ” ได้แก่ คุณภาพ คุณค่า และคุณธรรม

“อยากให้ S&P เป็น house of mind ของครอบครัวสมัยใหม่ ทุกรุ่นทุกวัยเข้าร้านเราได้ สินค้าต้องมีคุณภาพ ของต้องสะอาดปลอดภัย นั่นคือสิ่งที่ S&P ภูมิใจมาโดยตลอด ดูแลกระบวนการทุกอย่างตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พยายามรักษามาตรฐาน และเร่งการมองเรื่อง service excellent ให้ดีมากที่สุด” ผู้บริหารหญิงเก่งกล่าวปิดท้าย