อวดโฉม 10 สินค้าของฝากพื้นบ้าน 3 จังหวัดท่องเที่ยวภาคตะวันออก ดีไซน์ใหม่ดันขึ้นขายห้างหรู

ผู้ประกอบการขายของฝากต้องรู้!! อวดโฉม 10 สินค้าของฝากพื้นบ้าน 3 จังหวัดท่องเที่ยวฉะเชิงเทรา – ชลบุรี – ระยอง เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งใหม่ดันขายห้างหรู 

“ของฝาก” นับเป็นสิ่งที่สะท้อนอัตลักษณ์แต่ละท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นการหยิบยกวัตถุดิบหรือผลผลิตในท้องที่ที่มีอยู่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ แต่ทั้งนี้ ของฝากที่วางจำหน่ายในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังคงใช้บรรจุภัณฑ์รูปแบบเดิมๆ

แต่เมื่อยุคเปลี่ยนไป ถึงเวลาแล้วที่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องก้าวข้ามกรอบความคิดเดิมผ่านการนำความคิดสร้างสรรค์และแนวคิดในการออกแบบที่ทันสมัยมาปรับโฉมผลิตภัณฑ์ให้มีสีสันและความน่าสนใจ แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการเลือกซื้อของนักท่องเที่ยวในอนาคต

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จับมือผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และออกแบบบรรจุภัณฑ์ ดำเนินโครงการพิเศษ ยกระดับบรรจุภัณฑ์ให้มีภาพลักษณ์โฉมใหม่ที่ตรงใจนักท่องเที่ยวมากขึ้น ผ่านลงพื้นที่สำรวจหน้าตาสินค้าและของฝาก 3 จังหวัดในพื้นที่อีอีซีอย่าง “ฉะเชิงเทรา – ชลบุรี – ระยอง” พร้อมปรับรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ เช่น ขนมฝอยทอง มะยมเชื่อม ปลาหมึกอบแห้ง และอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การยกระดับของฝากโลคอลแบรนด์ ให้มีความทันสมัย แปลกใหม่ ตลอดจนสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดและเทียบชั้นกับสินค้าในตลาดโมเดิร์นเทรดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายบุญฤทธิ์ อรัญกูล

นายบุญฤทธิ์ อรัญกูล ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริษัท Ihapstudio สตูดิโอออกแบบครบวงจร ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับผู้ผลิตแบรนด์ไทยและต่างประเทศมานานกว่า 10 ปี กล่าวว่า คณะทำงาน ได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับผู้ผลิตและผู้ประกอบการชุมชน โดยมี ซีอีเอ เป็นผู้ประสานงานตลอดการดำเนินงาน เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการพัฒนา “บรรจุภัณฑ์ท้องถิ่น” สู่บรรจุภัณฑ์ที่พร้อมจำหน่ายในตลาดโมเดิร์นเทรดและเหมาะสำหรับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ภายใต้แนวคิด “Eat.East: EEC Packaging for everyone” ผ่านการทำความเข้าใจร่วมกันในลักษณะของการขาย วิธีการนำเสนอ รวมถึงปัญหาต่างๆ ขณะเดียวกัน ยังได้แลกเปลี่ยนแนวคิดในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อหาจุดยืนในการสร้างเอกลักษณ์ สร้างการจดจำแก่นักท่องเที่ยว สร้างคุณค่าให้กับของฝากแบรนด์โลคอล ตลอดจนเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในชุมชน

โดยคณะทำงานได้อาศัยแนวคิดการออกแบบเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ที่ยกระดับสินค้าท้องถิ่นด้วย “งานดีไซน์-ความครีเอทีฟ” การผสานไอเดียสร้างสรรค์และลูกเล่นต่างๆ ในการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อดึงดูดสายตานักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัย สู่ 10 บรรจุภัณฑ์ของฝากประจำท้องถิ่นใน 3 จังหวัดอีอีซีที่ควรค่าแก่การเลือกซื้อเป็นของฝากเป็นอย่างมาก โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ปลาทูหอม ของดีจากใจคนชลบุรี บรรจุภัณฑ์ปลาทูหอม จากจังหวัดชลบุรี ได้รับการออกแบบในลักษณะของปลอกสวมขนาดแคบ และยาว เพื่อโชว์ตัวปลาด้านใน โดยที่ตัวปลาบรรจุอยู่ในถาดพลาสติกซีลร้อนขอบทุกด้าน เพื่อคุ้มกันสินค้าและถูกสวมด้วยปลอกกระดาษเเข็ง 

  • ปลาหมึกบด ของดีจากใจคนชลบุรี บรรจุภัณฑ์ปลาหมึกบด จากจังหวัดชลบุรี ได้รับการปรับขนาดให้มีไซซ์ที่เล็กลง ดูทันสมัยขึ้น โดดเด่น แต่คงปริมาณปลาหมึกบดเท่าเดิม เพื่อความสะดวกต่อการรับประทาน โดยปลาหมึกบดจะถูกบรรจุไว้ในถุงซิปล็อกใส พร้อมติดสติ๊กเกอร์กระดาษ

     

  • ปลาหมึกอบกรอบ จากทะเลเมืองชล บรรจุภัณฑ์ปลาหมึกอบกรอบ จากจังหวัดชลบุรี ได้รับการออกแบบให้ง่ายต่อการใช้งาน โดยลดขนาดปลาหมึกอบกรอบให้มีขนาดพอดีคํา ง่ายต่อการฉีกรับประทาน พร้อมกันนี้ ยังออกแบบฉลากกระดาษเป็นลายกราฟิกรูปปลาหมึก เพื่อเพิ่มลูกเล่นและสร้างความแปลกใหม่แก่นักท่องเที่ยว

     

  • ทุเรียนกวนพอดี ของดีเมืองระยอง บรรจุภัณฑ์ทุเรียน จากจังหวัดระยอง ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับรูปทรงของทุเรียนกวนที่มีลักษณะยาว ด้วยฟอร์มสามเหลี่ยมที่มีความทนทาน ง่ายต่อการขนส่ง และมีฟันสามเหลี่ยมปิดหัวและท้าย ที่ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับทุเรียนกวน นอกจากนี้ ยังออกแบบลายกราฟิกลงบนบรรจุภัณฑ์ในแบบต่างๆ ทั้งหนามแหลมของทุเรียนในโทนสีเขียวและเหลือง รวมถึงภาพผีเสื้อสมุทร นางยักษ์จากเรื่องพระอภัยมณี

     

  • ทุเรียนทอด ของดีจากระยอง บรรจุภัณฑ์ทุเรียนทอด จากจังหวัดระยอง ที่ได้รับการออกแบบฉลากในลวดลายกราฟิกพระอภัยมณี สัญลักษณ์สร้างชื่อของจังหวัดระยอง ซึ่งช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้กับสินค้าได้อย่างชัดเจน ขณะที่ตัวซองบรรจุจะเป็นซองพลาสติกใสซีลร้อน ซึ่งผู้ขายสามารถนำไปใช้งานได้ง่าย
  • มะยมเชื่อม ของดีจากระยอง บรรจุภัณฑ์มะยมเชื่อม จากจังหวัดระยอง ได้รับการปรับรูปทรงบรรจุภัณฑ์ให้เป็นทรงกระบวก และมีสัดส่วนความสูงที่พอดีกับไม้มะยมเชื่อม เพื่อให้ง่ายต่อการรับประทานหรือพกพาไปสถานที่ต่างๆ นอกจากนี้ ยังทำการลดขนาดของจำนวนไม้ลงเพื่อควบคุมการบริโภคที่พอเหมาะของผู้บริโภค 

  • มะม่วงกวน ของดีเมืองระยอ บรรจุภัณฑ์มะม่วงกวน จากจังหวัดระยอง ได้รับการออกแบบในลักษณะบรรจุภัณฑ์ที่มีหูหิ้วในตัว เพื่อความสะดวกต่อการใช้งาน โดยมาพร้อมลวดลายกราฟิกของผงมะม่วง และภาพสุนทรภู่ ผู้แต่งนิทานพระอภัยมณี ขณะที่มะม่วงกวนที่อยู่ด้านใน จะได้รับการหุ้มห่อด้วยกระดาษไข เพื่อรักษาคุณภาพของเนื้อมะม่วงกวน
  • ขนมเปี๊ยะ ของดีจากฉะเชิงเทรา บรรจุภัณฑ์ขนมเปี๊ยะ ของดีจากฉะเชิงเทรา ได้รับการออกแบบมาให้ง่ายต่อการใช้งาน โดยภายในบรรจุขนมเปี๊ยะ 2 ชิ้น ในขนาดที่รับประทานแบบพอดี แต่ยังคงรสอร่อยและกระบวนการผลิตแบบโบราณดั้งเดิมจากรุ่นสู่รุ่น
  • โบราณกาละแม กะทิจัดเต็มจากฉะเชิงเทรา บรรจุภัณฑ์โบราณกาละแม จากจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับการออกแบบกะละแมในขนาดเล็กพิเศษกว่าเดิม เพื่อให้เหมาะแก่การพกพาหรือเปิดทานได้อย่างสะดวกใน 1 ครั้ง โดยมาพร้อมกับกราฟิกหลายลวดลายทั้ง น้ำกะทิจากผลมะพร้าว และวิถีชีวิตของประชาชนในชุมชน
  • ฝอยทองกรอบ สูตรต้นตำรับจากแปดริ้ว บรรจุภัณฑ์ฝอยทองกรอบ จากจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการออกแบบลวดลายกราฟิกลงบนบรรจุภัณฑ์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเสิร์ฟขนมไทยโบราณในสมัยก่อน โดยเลือกจัดวางองค์ประกอบให้เกิดความเรียบง่ายและใช้สีโทนอุ่น เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่น่ารับประทาน โดยที่บรรจุภัณฑ์จะเป็นเเบบฉลากยาวคาดสวมตัวกล่อง ด้านบนไดคัตสามารถถือได้ ขณะที่ภายในจะเป็นกล่องหลุมพลาสติก เพื่อรักษารูปทรงของฝอยทองกรอบ

ด้าน นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่าได้จัดตั้ง “มินิ ทีซีดีซี เซนเตอร์” ครีเอทีฟฮับแห่งใหม่ของภาคตะวันออก สาขาที่ 6 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา แหล่งรวมไอเดียสำหรับการคิด พัฒนา ออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการสร้างสรรค์ สำหรับนักศึกษา นักออกแบบ ผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ ให้สามารถเข้าใช้บริการ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-105-7400 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ cea.or.th