ผู้ประกอบการชุดนักเรียนหวั่นใจ ยอดขายไม่พุ่ง แม้รัฐจะให้งบ 500

ผู้ประกอบการชุดนักเรียนหวั่นใจ ยอดขายไม่พุ่ง แม้รัฐจะให้งบ 500

คุณปอ – คณินธร มณีธรรมนิตย์ ผู้จัดการทั่วไป ห้างหุ้นส่วนจำกัด คอตตอน สปอร์ต ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย ชุดนักเรียน คอตตอน สปอร์ต ดำเนินธุรกิจร่วม 20 ปี ผลิตเสื้อนักเรียนส่งห้างค้าปลีกบิ๊กซี สาขากรุงเทพฯ และปริมณฑล 34 สาขา ระบุว่า ยอดขายในปีนี้ ถือว่าดีพอๆ กับปีที่แล้ว แม้ว่าเศรษฐกิจจะแย่ลง แต่คิดว่าไม่กระทบต่อยอดขาย เพราะชุดนักเรียนคือสิ่งจำเป็นสำหรับนักเรียน

“ในแต่ละปีโรงงานจะผลิตเสื้อนักเรียนด้วยต้นทุนที่สูงถึงปีละ 20 ล้านบาท โดยจะคาดเดาจากยอดขายของปีที่แล้ว อาทิ หากปีก่อนเสื้อไซซ์ใหญ่ขายดี ปีนี้ก็จะผลิตเสื้อไซซ์ใหญ่มากกว่าปกติ ซึ่งในปีนี้เสื้อผ้าไซซ์ใหญ่ของนักเรียนวัยประถม – มัธยมต้น ขายดีเป็นพิเศษแทบจะไม่พอจำหน่ายเลยด้วยซ้ำ และคาดว่าในปี 2563 เสื้อไซซ์ใหญ่อาจจะขายดีเหมือนเดิม เพราะเด็กสมัยนี้เจริญเติบโตเร็ว  รวมถึงผู้ปกครองมักซื้อเสื้อเผื่อโต”

คุณปอ แนะนำวิธีการเลือกชุดนักเรียนว่า สิ่งสำคัญต้องลองใส่ดูก่อนว่าพอดีกับขนาดตัวหรือไม่ ต่อมาให้ดูเนื้อผ้า ควรเลือกผ้าที่ไม่หนาจนเกินไป เพราะจะทำให้ร้อนจนขาดสมาธิเรียน นอกจากนี้ ควรเลือกเสื้อผ้าให้ใหญ่กว่าขนาดตัวประมาณ 1 เบอร์ โดยเฉพาะวัยประถมและมัธยมต้น เพราะร่างกายของเด็กกลุ่มนี้สามารถเจริญเติบโตได้เรื่อยๆ ทั้งยังช่วยรักษารูปร่าง เมื่อใส่แล้วจะทำให้ไม่ดูอ้วนจนเกินไปหากร่างกายใหญ่ขึ้น

สำหรับมาตรการที่กระทรวงการคลังจะให้เงิน 500 บาท ต่อบุตร 1 คน ที่กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นประถมและมัธยม เพื่อนำเงินไปซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน  คุณปอ กล่าวว่า “เห็นด้วยกับนโยบายให้เงินค่าชุดนักเรียน เพราะยอดขายอาจจะเพิ่มขึ้น ที่สำคัญยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นด้วย” 

ด้านคุณกิจ – สรกิจ สรพลพิพิธกุล อายุ 38 ปี ทายาทรุ่นที่ 2 ของร้านสรคุณพาณิชย์ ลาดกระบัง ร้านจำหน่ายชุดนักเรียนครบวงจรเปิดมาแล้วกว่า 50 ปี กล่าวว่า ยอดขายในปีนี้จะไม่แตกต่างจากปีที่แล้ว โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นเด็กนักเรียนที่เพิ่งเข้าโรงเรียน เช่น เริ่มเข้าอนุบาล หรือเลื่อนชั้นเข้าสู่ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ช่วงที่ขายดีที่สุดจะเป็นต้นพฤษภาคม เพราะช่วงกลางเดือนพฤษภาคมโรงเรียนก็จะเปิดแล้ว ถ้าไม่ซื้อช่วงนี้จะปักชื่อไม่ทัน เพราะการปักชื่อต้องใช้เวลา 1 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย

ด้านราคา คุณกิจ ย้ำว่า ยังคงขายเท่าเดิม ไม่แตกต่างจากปีก่อน แต่สินค้าบางรายการ อาทิ ชุดที่สั่งตัดพิเศษพวกเสื้อแขนยาว หรือชุดเฉพาะ จะปรับราคาขึ้นเล็กน้อย แต่ถ้าชุดนักเรียนในโรงเรียนรัฐบาลขายราคาปกติ

ส่วนไซซ์ที่ขายดี เจ้าของร้านสรคุณพาณิชย์ บอกว่า ถ้าเป็นเด็กผู้ชายวัยประถม เสื้อเบอร์ที่ขายดีจะเป็นเบอร์ 36 กลุ่มมัธยม เสื้อเบอร์ 42 กับ 44 ส่วนเด็กผู้หญิง วัยประถม เสื้อเบอร์ 34 ส่วนมัธยมเบอร์ 40 – 42 ส่วนมากผู้ปกครองจะซื้อเสื้อไซซ์ใหญ่กว่าขนาดตัวเผื่อลูกโต มียอดซื้อเฉลี่ย 2-3 ชุดต่อคน เพราะบางโรงเรียนให้เด็กใส่ชุดนักเรียนเพียงสัปดาห์ละไม่ถึง 3 วัน ฉะนั้น ยอดซื้อต่อคนจะลดลงตามไปด้วย

“ในช่วงเศรษฐกิจที่ย่ำแย่แบบนี้ แต่ยอดขายยังดีเหมือนเดิม เพราะทางรัฐบาลมีการให้เงินช่วยเหลือค่าอุปกรณ์การเรียนอยู่แล้ว โดยจำนวนเงินที่ได้ จะขึ้นอยู่กับระดับชั้นของบุตรหลาน เริ่มต้นที่ระดับชั้นอนุบาล จะได้รับเงินจำนวน 300 บาท เด็กประถม 360 บาท มัธยมต้น 450 บาท และมัธยมปลาย 500 บาท ทำให้มีผู้ปกครองมาซื้อของ เพื่อแลกกับใบเสร็จรับเงิน”

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังเตรียมเติมเงินเข้าไปในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่ม 500 บาท ต่อบุตร 1 คน ให้ผู้ที่มีบุตรกำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นประถมและมัธยม ถ้ามีบุตร 3 คน ก็จะได้รับเงินรวม 1,500 บาท เพื่อนำเงินไปซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน คุณกิจ คิดว่า ถ้ามีเงินส่วนนี้มาช่วยเหลือเพิ่มเติม ก็จะได้ประโยชน์กันทั้งฝ่ายผู้ปกครองและร้านค้า เพราะผู้ปกครองอาจจะซื้อสินค้าอย่างอื่นนอกจากชุดนักเรียนเพิ่มเติม อาทิ รองเท้า ถุงเท้า หรือกระเป๋า ส่วนทางผู้ประกอบการก็จะมียอดขายเพิ่มขึ้น

ก่อนจบบทสนทนา คุณกิจได้แนะนำวิธีการเลือกชุดนักเรียน มาว่า อย่างแรกให้ดูเนื้อผ้า ควรเลือกผ้าที่รีดง่าย ไม่หนาหรือบางจนเกินไป  ต่อมาให้ดูที่การตัดเย็บ อาทิ กระโปรง ควรดูลักษณะว่าใส่ไปแล้วจะกลีบแตก หรือบานจนเสียรูปหรือไม่ และให้ดูที่รูปทรง ควรเลือกชุดที่เข้าทรงแล้วสวยงาม เช่น ถ้าเด็กผู้ชาย ปกแข็งจะดีกว่าปกอ่อน เพราะใส่แล้วเข้าทรงสวย ไม่ยับ นอกจากนี้ ควรเลือกเสื้อขนาดเผื่อโต เพราะเด็กมีการเจริญเติบโต ร่างกายอาจเปลี่ยนแปลงไป โดยให้เลือกขนาดที่แขนเสื้ออยู่เกือบถึงข้อศอก เพราะไซซ์นี้จะเผื่อโตได้ประมาณ 2 ปี

คุณชิดชนก ทิพย์พานทอง อายุ 25 ปี เจ้าของร้านชาติบางใหญ่ กล่าวว่า เปิดร้านจำหน่ายชุดนักเรียนมานาน 20 ปี ยอดขาย 2-3 ปีมานี้ ขายไม่ค่อยดี หากไม่ใช่ช่วงเปิดเทอมก็จะขายไม่ค่อยได้ โดยเฉพาะในปีนี้ แม้คนจะแน่นร้านในช่วงใกล้เปิดเทอม แต่ยอดขายกลับต่ำกว่าปีที่แล้วพอสมควร

“เศรษฐกิจช่วงนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ลูกค้าเลือกซื้อสิ่งของเท่าที่จำเป็น ต่างจากเมื่อก่อน ผู้ปกครองเวลามาซื้อชุดนักเรียนก็จะซื้อของอย่างอื่นกลับไปด้วย อาทิ รองเท้า ถุงเท้า เครื่องเขียน แต่เดี๋ยวนี้ ซื้อแค่ชุดนักเรียนเท่านั้น”

ด้านราคา ชุดนักเรียนปรับขึ้นตัวละ 10 บาท เพราะโรงงานมีการปรับราคามา  โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ปกครองของเด็กที่เลื่อนระดับชั้น อาทิ เด็กที่ขึ้น ป.1 ป.4 ม.1 และ ม.4 ซึ่งมักจะซื้อเสื้อไซซ์ใหญ่กว่าขนาดตัวของเด็ก เผื่อลูกโตไปอีก 3 ปี ยอดซื้อต่อคนอยู่ที่ประมาณ 3 ตัว

สำหรับนโยบายให้เงินค่าเล่าเรียนผ่านบัตรสวัสดิการ คุณนก ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะเป็นการเพิ่มเงินช่วยผู้ปกครองที่ไม่มีเงินซื้อชุดนักเรียนให้ลูก แต่นโยบายนี้ ไม่น่าจะส่งผลใดๆ กับทางร้าน เพราะปกติ ลูกค้าส่วนใหญ่ซื้อชุดนักเรียนครั้งละ 2-3 ตัวอยู่แล้ว เงินที่จ่ายมาก็เกือบพันบาท หากมีเงินส่วนนี้เข้ามาสนับสนุน ลูกค้าก็อาจจะซื้อของในจำนวนเท่าเดิม แค่ลดค่าใช้จ่ายไป 500 บาทเท่านั้น

คุณฉวีวรรณ กองผาพา เจ้าของร้านขายเครื่องแบบนักเรียน บริเวณห้างพันธ์ุทิพย์พลาซ่า งามวงศ์วาน แสดงความคิดเห็นว่า ถือเป็นเรื่องดีที่ทางรัฐบาลให้ความสำคัญต่อเครื่องแบบของนักเรียนวัยประถม มัธยม แต่คิดว่าเงิน 500 บาท ไม่เพียงพอ เพราะเสื้อนักเรียนราคาขั้นต่ำ ก็ตัวละ 250  บาทแล้ว ไหนจะเครื่องแบบอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น ชุดพละ ลูกเสือ เนตรนารี รองเท้า ถุงเท้า สุดท้ายผู้ปกครองก็ต้องออกตังค์เพิ่มอยู่ดี

คุณฉวีวรรณ กล่าวว่า ในมุมมองของผู้ประกอบการร้านขายเครื่องแบบนักเรียน คิดว่าเงิน 500 บาท ที่รัฐบาลจะอุดหนุนนั้นไม่เพียงพอ โดยเฉพาะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มัธยมศึกษาปีที่ 1 และ มัธยมศึกษาปี 4 ผู้ปกครองเสียค่าใช้จ่ายค่าเครื่องแบบเพื่อเริ่มปีการศึกษาใหม่ ขั้นต่ำ 2,000 บาท

คุณมะลิ แสงอาวุธ เจ้าของร้านขาย-ส่ง เครื่องแบบนักเรียน บริเวณตลาดอมรพันธ์ มีความคิดเห็นเสริมว่า แม้ปัจจุบันเศรษฐกิจภายในประเทศไทยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ธุรกิจอื่นๆ ต่างทยอยปิดตัวลง เพราะทนภาวะขาดทุนไม่ไหว แต่ธุรกิจเครื่องแบบนักเรียนได้รับผลกระทบตรงนี้ส่วนน้อย เนื่องจากชุดนักเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กไทยขาดไม่ได้ในการเข้าสถาบันศึกษา แม้ว่าจะมีราคาแพงแค่ไหนผู้ปกครองก็ต้องยอมจ่ายอยู่ดี