NEA ร่วมมือพันธมิตร ติดสปีด SMEs ไทย ติวเข้มการพิทชิ่ง พร้อมดันเข้าอาเซียน

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ (NEA) เร่งผลักดันสตาร์ตอัพไทยในรายสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น สุขภาพและการแพทย์ ให้ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ พร้อมชี้อาเซียนเป็นตลาดที่น่าสนใจ

แต่อย่างไรก็ตาม การพิทชิ่งถือเป็นปัญหาหนึ่งที่พบเห็นได้ในการก้าวเข้าสู่ตลาดต่างชาติของสตาร์ตอัพไทย ดังนั้นทางสถาบันจึงได้ร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห้งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จัดโครงการ “Pitch2Siccess : สานฝันสตาร์ตอัพไทยสู่สากลเพื่อแก้ไขอุปสรรคดังกล่าวพร้อมผลักดันผู้ที่เข้าร่วมโครงการไปสู่เวทีพิทชิ่งระดับนานาชาติซึ่งจะสร้างโอกาสให้ได้เข้าถึงแหล่งทุนในการขยายธุรกิจได้มากขึ้น  

นายวิทยา มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการส่งเสริมสตาร์ตอัพไทยที่อยู่ในประเทศเป็นหลัก ซึ่งมีจำนวนน้อยรายที่สามารถก้าวเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้ กรมเล็งเห็นความสำคัญในการผลักดันกลุ่มสตาร์ตอัพไทยให้สามารถเติบโตได้เช่นเดียวกับธุรกิจเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีการทำการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะในรายสาขาที่ตอบโจทย์กับอุตสาหกรรมเป้าหมายเช่น การบริการและการท่องเที่ยวสุขภาพและการแพทย์เทคโนโลยีการเกษตรอาหาร ฯลฯ ซึ่งจะต้องผลักดันให้มีการลงทุนอย่างจริงจังพร้อมทั้งสร้างโอกาสให้ได้เข้าถึงแหล่งทุนในการขยายธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากมีประชากรสูงถึง 600 ล้านราย โดยตลาดที่น่าสนใจในการขยายธุรกิจสตาร์ตอัพคือประเทศอินโดนีเซียที่มีประชากรสูงถึง 250 ล้านคน รวมถึงกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) สามารถผลักดันให้ธุรกิจดังกล่าวเติบโตได้อย่างรวดเร็วด้วยการอาศัยความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความคล้ายคลึงกับไทย โดยเฉพาะในด้านการบริการและการอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น บริการด้านการขนส่งและการเดินทางบริการด้านการเงินธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจบันเทิงบริการด้านการแพทย์ รวมถึงเทคโนโลยีด้านการเกษตรเพื่อตอบสนองการทำเกษตรกรรมที่ถือเป็นอาชีพพื้นฐานของภูมิภาคอาเซียน

นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กล่าวว่า ทักษะด้านหนึ่งที่ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพไทยยังขาดก็คือ การพิทชิ่งซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดใจนักลงทุนให้เข้ามาร่วมลงทุนและให้ความช่วยเหลือต่างๆ สำหรับการดำเนินธุรกิจโดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่มีทั้งการวางแผนกลยุทธ์ การสื่อสารทักษะ การนำเสนอการตั้งคำถามคำตอบระหว่างผู้นำเสนอและผู้รับฟัง การสร้างเนื้อหา (Content) ที่จำเป็นสำหรับการฟิชชิ่ง

ดังนั้น สถาบันจึงได้ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ซึ่งเป็นองค์กรหลักเจ้าภาพหลักด้านการพัฒนาสตาร์ตอัพของประเทศดำเนินโครงการ “Pitch2Success : สานฝันสตาร์ตอัพไทยสู่สากลเพื่อแก้ไขอุปสรรคดังกล่าวพร้อมมุ่งให้ความรู้ในการนำเสนอแนวคิดและแผนธุรกิจสตาร์ตอัพ (Pitching) ในต่างประเทศซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับโอกาสในการต่อยอดธุรกิจไปสู่เวทีการค้านานาชาติได้ง่ายขึ้น โดยโครงการดังกล่าวได้มีการเชิญวิทยากรที่มากด้วยความสามารถและประสบการณ์มาให้ความรู้แก่สตาร์ตอัพทั้งรายเก่าและรายใหม่จำนวน 40 รายอย่างใกล้ชิด

ด้าน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรมสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ตลาดการแข่งขันสตาร์ตอัพในระดับอาเซียนปี 2019 คาดว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะเรื่องการลงทุนและการระดมทุนในกลุ่มธุรกิจที่เติบโตแล้ว ตัวอย่างเช่น Grab (แกร็บ) และ Gojek (โกเจ็ก) หรือที่รู้จักกันในนาม Get (เก็ท) จากประเทศอินโดนีเซีย

ส่วนของประเทศไทยคาดว่าจะอยู่ในกลุ่ม Deep Technology เช่น เอไอบล็อกเชน บิ๊กดาต้า ไอโอทีสตาร์ตอัพ ด้านเกษตรกรรมอาหาร การท่องเที่ยว เทคโนโลยีการแพทย์ รวมทั้งสมาร์ตซิตี้ หรือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ถือว่ามีความได้เปรียบในการแข่งขันและโอกาสเติบโตสูง ส่วนสตาร์ตอัพที่การแข่งขันเริ่มมีปริมาณมากและคาดว่าจะล้นตลาดคือกลุ่มโมบายล์แอพพลิเคชั่น ซึ่งทางรอดคือจะต้องพัฒนาแพลตฟอร์มให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้และเน้นให้เกิดความเร็วทันใจมากที่สุด

สำหรับการส่งเสริมด้านดังกล่าวของ NIA ในระยะแรกจะมีการเชิญชวนสตาร์ตอัพที่เป็นต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนและทำธุรกิจในไทย ซึ่ง NIA จะอำนวยความสะดวกทั้งด้านการจัดตั้งบริษัทและพื้นที่การดำเนินธุรกิจ (landing pad) สมาร์ทวีซ่าศูนย์บริการที่เป็น One Stop Service ที่ทรูดิจิทัลพาร์คย่านนวัตกรรมปุณณวิถี และ Global Hub ที่ Chiang Mai & CO จังหวัดเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนตามแนวทางข้างต้น มั่นใจว่าจะทำให้สตาร์ตอัพไทยเข้าใจมาตรฐานการทำสตาร์ตอัพระดับนานาชาติ รวมถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีและแนวคิดที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น พร้อมนำไปประยุกต์ใช้ในแต่ละสินค้าและบริการที่มีอยู่ได้อย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทรศัพท์ (02) 507-7999 เว็บไซต์ www.nea.ditp.go.th และ Facebook.com/nea.ditp