แห่งเดียวในไทย “โรงรับจำนำปูม้า” ช่วยชาวประมงให้มีปูม้าขายทั้งปี

ผมชอบกินปูม้า เพราะเนื้อปูมีสีขาวนุ่มแนบแน่น จิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู้ดอร่อยอย่าบอกใคร

คนที่ชอบกินอาหารทะเลทุกคน รับรองว่าจะต้องชอบกินปูม้า ก็เพราะเป็นเช่นนี้ ปูม้าจึงมีราคาแพง

เหตุที่แพงก็เพราะมีคนกินมากขึ้น ขณะที่มีปูม้าน้อยลงนั่นเอง

เมื่อปูม้าเหลือน้อยจึงทำให้มีราคาแพง สมัยเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ปูม้าราคากิโลกรัมละไม่กี่สิบบาท

สมัยที่ว่านี้ เวลามีปูม้าติดอวน ชาวประมงจะส่ายหน้าอย่างเหนื่อยอ่อนเพราะรู้ว่าตอนแกะปูม้าแต่ละตัวออกจากอวนนั้นค่อนข้างยาก เสร็จแล้วยังขายได้ราคาถูกอีกต่างหาก

คุณณรงค์ ม่วงทองคำ

ทว่ามาถึงวันนี้ ชาวประมงทุกคนอยากให้ปูม้าติดอวน มากเท่าไรยิ่งดี ติดอวนมาแค่ 10 กิโลกรัม ก็จะขายได้ร่วม 3,000 บาททีเดียว

ดูตามแนวโน้มแล้ว ปูม้าจากทะเลจะต้องเหลือน้อยลงอีก นับว่ายังโชคดีที่หมู่บ้านชาวประมงหลายแห่งของไทย จัดให้มีการนำปูม้าที่มีไข่มาเลี้ยง เพื่อให้มันสลัดไข่ แล้วนำไข่ไปปล่อยลงทะเล ถือเป็นการขยายพันธุ์อย่างได้ผล

สถานที่ที่นำปูม้าที่มีไข่มาขยายพันธุ์ที่ว่า ส่วนใหญ่จะตั้งชื่อหน่วยงานนี้ว่า ธนาคารปูม้า

มีที่เรียกตัวเองว่า โรงรับจำนำปูม้า น่าจะมีอยู่แห่งเดียว ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 18 หมู่ 1 ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร

โรงรับจำนำแห่งนี้ได้จัดตั้งเป็นชุมชน โดยมี คุณณรงค์ ม่วงทองคำ เป็นประธาน

มีหน้าที่หลักก็คือรับจำนำปูม้าที่มีไข่จากชาวประมงมาเลี้ยงเพื่อให้มันสลัดไข่ แล้วนำลูกปูไปปล่อยลงทะเล

ผมมีโอกาสได้ไปที่โรงรับจำนำปูม้าแห่งนี้ คุณณรงค์ ได้เล่าความเป็นมาคร่าวๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ปูม้าว่า

สมัยที่คุณณรงค์ยังเป็นหนุ่ม อายุ 25 ปี ได้ออกทะเลจับปูม้าได้ครั้งละ 100-200 กิโลกรัม

จากนั้นจับปูม้าได้น้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบัน คุณณรงค์อายุ 62 ปี ชาวประมงออกไปจับปูม้าแต่ละครั้งได้ไม่ถึง 10 กิโลกรัม เป็นเรื่องน่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง

หลังจากนั้นได้มีการรับจำนำปูม้ามาเพียงไม่กี่ปี ทำให้มีปูม้าให้จับมาขายมากขึ้นถึงวันละอย่างน้อยได้รายละประมาณ 20 กิโลกรัม

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปูม้าเจริญเติบโตเร็ว ใช้เวลาจากเป็นไข่เพียง 7 เดือนก็จะโตขนาด 7 ถึง 8 ตัวโล กำลังน่ากิน

ขั้นตอนในการขยายจำนวนปูม้ามีดังนี้

เริ่มต้นด้วยการรับซื้อปูม้าที่มีไข่มาตัวละ 20 บาท แล้วนำมาขังไว้โดยให้ออกซิเจน เพื่อให้มันหายใจได้สะดวก แต่ไม่ต้องให้อาหารแก่แม่ปู

แม่ปูที่มีไข่สีดำเพียง 2 วันก็จะสลัดไข่ออกจนหมด

แม่ปูที่มีไข่สีเทา ใช้เวลา 5 วันจึงจะสลัดไข่ออก

ส่วนแม่ปูที่มีไข่สีเหลือง ใช้เวลา 7 วันในการสลัดไข่

แม่ปูแต่ละตัวจะสลัดไข่ได้ประมาณ 700,000 ฟอง โรงรับจำนำปูม้าจึงสามารถนำไข่ออกไปปล่อยทะเลได้ทุกวัน วันละหลายล้านตัว

สำหรับเรื่องนี้ คุณณรงค์ อธิบายว่า พอไข่หลุดจากตัวแม่ปู ก็จะกลายเป็นปูตัวเล็กๆ ถ้าไม่รีบนำไปปล่อย ลูกปูจะกินกันเอง

ทำให้ต้องตายเกือบหมด แต่ถ้านำไปปล่อยทันทีจะทำให้มีโอกาสรอดบ้าง

อัตรารอดของลูกปูโดยเฉลี่ยประมาณเปอร์เซ็นต์เดียวก็ถือว่ามาก เพราะแม่ปู 1 ตัวออกไข่ 700,000 ฟองก็เท่ากับจะมีปูรอดตายเกือบ 10,000 ตัว

พอแม่ปูสลัดไข่เรียบร้อยแล้ว ก็จะเอาแม่ปูขายได้กิโลกรัมละ 220 บาท เป็นรายได้หลักของโรงรับจำนำปูม้า ซึ่งนำรายได้ส่วนนี้จ่ายค่าไฟ ค่าออกซิเจน และค่าแรง (เรียกว่าโรงรับจำนำ แต่ปรากฏว่าไม่มีการไถ่ถอนแต่ประการใด)

คิดแล้วได้กำไรไม่มาก แต่ที่อยู่ได้ก็เพราะมีเงินสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐบ้าง จากนักท่องเที่ยวบ้าง

คุณณรงค์ ยืนยันว่า การตั้งโรงรับจำนำปูม้าของที่นี่ได้ผลดี โดยวัดจากชาวประมงสามารถจับปูม้าได้มากขึ้นเรื่อยๆ

“วันหนึ่งๆ แต่ละรายจับปูม้าได้มากขึ้นหลายเท่า แล้วยังสะดวกในการขายด้วย เพราะจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ ประกอบกับในปัจจุบัน รัฐบาลได้ช่วยชาวประมงชายฝั่ง ด้วยการตรวจจับเรือประมงขนาดใหญ่ที่ชอบเข้ามาลากอวนและลอบดักจับปูม้าของชาวประมงพื้นบ้าน”

หมายถึงว่า ห่างจากชายฝั่งไป 5 ไมล์ เป็นที่หากินของชาวประมงชายฝั่ง ห้ามเรือประมงขนาดใหญ่เข้ามาแย่งจับ

หลังจากชาวประมงสามารถจับปูม้าได้มากขึ้นกว่าที่เคย ระยะหลังๆ ชาวประมงจะไม่เอาปูไข่มาขายโรงรับจำนำปูม้าเหมือนเคย แต่จะนำมาให้ฟรีๆ จึงทำให้ต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน

หลังจากที่ผมได้ไปดูงานที่โรงรับจำนำปูม้าและได้พูดคุยกับประธานชุมชนแล้ว ทำให้ผมมั่นใจได้เลยว่า จะต้องมีปูให้ผมได้กินตลอดไปแน่ๆ หมายถึงถ้ามีเงินซื้อกิน