ครูสอนแบดฯ รักงานศิลป์ ปั้น “เซรามิก” เป็นเครื่องประดับทำมือ มีชิ้นเดียวในโลก

ครูสอนแบดฯ ผสมผสานเซรามิกกับเครื่องสาน เกิดเป็นเครื่องประดับ ขายความแปลกใหม่ มีเพียงชิ้นเดียวในโลก เรียบง่ายสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน

สินค้าแฮนด์เมด เป็นชิ้นงานที่มีจุดขายชัดเจน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เจ้าของได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ปัจจุบันจึงมีผู้ประกอบการหลายรายหันมาสร้างสรรค์ผลงานทำมือให้เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อ

Ra Fu Chaa (ราฟุชา) เครื่องประดับเซรามิกแฮนด์เมด ที่ผสมผสานระหว่างเซรามิกกับงานถัก งานสาน เกิดความแปลกใหม่ ลวดลายไม่ซ้ำกัน มีเพียงแบบละชิ้น เรียบง่ายสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน

เจ้าของแบรนด์ “ราฟุชา” นามว่าคุณแอ๊นท์ – ชัชชญา หิรัญปุณณดา สาววัย 25 ปัจจุบันยังรับบทบาทเป็นอาจารย์สอนแบดมินตันด้วย

คุณแอ๊นท์ บอกว่า ด้วยความรักในงานเซรามิก จึงนำสิ่งที่ชอบมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ และทดลองขายตอนเรียนที่มหาวิทยาลัยก่อน ปรากฏผลตอบรับออกมาดีมาก กอปรกับเป็นคนช่างคิด จึงนำงานประเภทอื่นๆ มาประยุกต์กัน จนเกิดเป็นเครื่องประดับทำมือ ชิ้นเดียวในโลก

สินค้าของทางร้าน ส่วนใหญ่เป็นชิ้นงานขนาดเล็ก มีต่างหู แหวน สร้อย เข็มกลัด ถ้วยกาแฟ จาน ราคาเริ่มตั้งแต่ 100 – 550 บาท สินค้าที่ขายดี เจ้าของร้านบอกว่า แหวน ต่างหู เพราะลูกค้าผู้หญิงชอบในเครื่องประดับแฮนด์เมด

ปัจจุบันธุรกิจของหญิงสาวเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ด้านของรายได้ เจ้าตัวบอกว่า อยู่ที่ประมาณหลักหมื่นต่อเดือน กลุ่มลูกค้ามีนักศึกษาไปจนถึงวัยทำงาน ส่วนใหญ่เป็นคนไทย

สำหรับขั้นตอนการทำ เจ้าของผลงานไม่หวง เปิดเผยว่า หลังจากปั้นเซรามิกเสร็จแล้ว นำไปเผารอบแรกที่อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส จากนั้นนำมาเพ้นท์ ชุบเคลือบ ขั้นตอนต่อไปนำไปเผารอบที่สอง 1200 องศาเซลเซียส ส่วนลายเพ้นท์ จะใช้เทคนิคสีใต้เคลือบ (Underglaze) ลายเส้นจะเป็นลายผ้าไทย และลายผ้าญี่ปุ่น บางลายก็หยิบยกมาผสมผสานกัน ลายส่วนใหญ่ที่ลูกค้าชอบ คือ ลายธรรมชาติ ดอกไม้ ใบไม้

“การทำสินค้าขนาดเล็กจะดูเหมือนง่ายดาย แท้จริงแล้ว กลับยากไปด้วยรายละเอียดยิบย่อย สินค้าขนาดใหญ่ ทำง่ายกว่าของชิ้นเล็ก เพราะยิ่งมีขนาดเล็ก ยิ่งใช้เวลาเก็บรายละเอียดนาน”

เมื่อถามถึงหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ นักออกแบบสาวตอบว่า ความตั้งใจ เอาใจใส่สินค้าทุกชิ้น คุณภาพสูง และความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า

“เมื่อลูกค้าเห็นความตั้งใจ เขาจะเกิดความประทับใจในผลงาน และอุดหนุนสินค้า แม้จะไม่มาก แต่นั่นคือกำลังใจที่ทำให้ดิฉันอยากจะทำธุรกิจต่อไป” คุณแอ๊นท์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเซรามิกแฮนด์เมด ยังติดปัญหาเรื่องกำลังคน หญิงนักปั้น เพิ่มเติมว่า ธุรกิจจึงเติบโตช้า เนื่องจากไม่มีกำลังคนมากพอที่จะทำให้ราฟุชาก้าวไปอย่างรวดเร็ว

ด้านแผนธุรกิจในอนาคต คุณแอ๊นท์ เผยว่า มีแผนเจาะกลุ่มตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพราะสินค้ามีกลิ่นอายความเป็นไทย จึงอยากสนับสนุนงานหัตถกรรมไทยให้เผยแพร่สู่สายตาชาวต่างชาติ