ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้าน |
---|---|
เผยแพร่ |
เปิดเบื้องหลังการฝึกม้า กว่าจะนำมาใช้ในพิธีบวชนาค ประเพณีดีที่สืบทอดมายาวนาน
สมัยอดีต ม้า เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสัตว์ที่ถูกนำมาเป็นพาหนะในการเดินทาง การขนย้าย และใช้ประโยชน์ในชุมชน ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี แต่ละบ้านก็มีม้าไว้ใช้เป็นพาหนะเดินทางใน
อดีตเช่นกัน เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงยุคของคุณพ่อของคุณสนธยา สื่อออก เห็นประวัติการใช้ม้าในพุทธกาลเกี่ยวกับประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา คือประเพณีการบวช ให้นาคขึ้นหลังม้าไปที่โบสถ์ จึงนำมาเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมา แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แม้กระทั่งในอำเภอบ้านโป่ง ก็มีเพียง 3-4 หลัง ที่นำม้าไปใช้ในงานประเพณีเช่นนี้
ยุคนั้น คุณพ่อของคุณสนธยา ไม่ได้รับเป็นเม็ดเงิน แต่ขอรับเป็นข้าวเปลือก 1 ถัง เงินหกสลึง และเหล้าขาว 1 ขวด ในการนำม้าไปช่วยงาน แต่ต่อมางานประเพณีมีว่าจ้างมากขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าสู่ยุคที่คุณสนธยา เข้ามาดูแลแทนคุณพ่อ ก็มีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเริ่มให้เป็นเม็ดเงิน ซึ่งระยะแรกก็ตามแต่ศรัทธาของผู้ที่ขอให้นำม้าไปช่วยงาน ต่อมา จึงเริ่มคิดค่าใช้จ่ายเป็นตัวเลขที่แน่ชัด เพื่อให้เป็นมาตรฐาน
ปัจจุบัน มีการรวมกลุ่มของผู้เลี้ยงม้าในอำเภอบ้านโป่ง หลายกลุ่ม เพื่อรับงานประเพณีที่ต้องใช้ม้าเป็นส่วนประกอบ และยังมีจังหวัดอื่นๆ อีกหลายจังหวัด ที่สืบทอดประเพณีโบราณ นำม้ามาใช้ในงานพิธีต่างๆ โดยเฉพาะงานบวช แต่รูปแบบการใช้อาจแตกต่างกัน
กลุ่มของคุณสนธยา เป็นกลุ่มหนึ่งในอำเภอบ้านโป่ง ที่เป็นที่รู้จักมักคุ้น และมีชื่อเสียงโด่งดังไปไกลข้ามภาค เรียกได้ว่ากระจายไปทั่วประเทศ เพราะการควบคุมม้าให้อยู่ในระเบียบแบบแผน มีกฎเกณฑ์ของการนำม้ามาใช้ในงานประเพณีอย่างถูกต้อง และที่สำคัญ ไม่เคยมีสักครั้งที่ทำให้เสียงาน
คุณสนธยา บอกว่า การควบคุมให้ได้ตามที่ผู้ว่าจ้าง หรือเจ้าภาพงานนั้นๆ ต้องการ ขึ้นอยู่กับการฝึกม้าของเรา การควบคุมม้าให้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดคะเนได้ เพราะทุกงานมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการควบคุมไม่ให้คนเข้ามาแหย่ม้า จะทำให้ม้าตกใจหรืออารมณ์เสีย จนทางเราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
“ก่อนรับงาน นอกเหนือจากค่าว่าจ้างที่ตกลงกันตามขอบเขตของงาน ระยะทางแล้ว ยังต้องทำความเข้าใจกับเจ้าของงานที่มาว่าจ้างก่อนว่า ต้องไม่ให้คนนอก คนเมา คนไม่สมประกอบ หรือคนที่ขาดสติเข้ามาใกล้ม้า มาแหย่ม้า เพราะจะทำให้ม้าตื่นตกใจ งานที่กำลังดำเนินไปด้วยดีอาจจะเสียได้”
การนำม้าออกรับงานต่างๆ คุณสนธยา บอกว่า ต้องเป็นม้าที่ผ่านมาฝึกมาแล้วเท่านั้น
ม้า ในกลุ่มของคุณสนธยา เป็นม้าลูกผสม นำเข้าม้าเทศมาจากต่างประเทศ นำมาผสมเข้ากับม้าไทยที่มีอยู่ คุณสนธยา บอกว่า ม้าลูกผสมที่ได้จะมีความอดทน ความแข็งแกร่ง ตามลักษณะของม้าไทย และได้โครงร่างสูงใหญ่ หนา เหมือนม้าเทศ เพราะลักษณะแบบม้าแกลบ ม้าแคระ การนำมาใช้งานประเพณีจะไม่ได้รับความนิยม
การผสมพันธุ์ม้า ต้องให้ม้าเพศเมียอายุมากกว่า 3 ปี ส่วนพ่อพันธุ์ควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 4 ปี จึงจะผสมได้ หากต่ำกว่านั้นโอกาสได้ลูกม้าที่ไม่สมบูรณ์สูงมาก
การผสม ต้องสังเกตให้ม้าเพศเมียเป็นสัด แล้วจึงปล่อยม้าเพศผู้ไปอยู่ด้วยกันในคอก ม้าเพศเมียจะแสดงอาการอยากเข้าหาม้าเพศผู้ และถ้าม้าเพศเมียยอมให้ผสมแล้ว เราก็นำม้าเพศผู้ออกจากคอกได้ และนับจากวันที่ผสมไปอีกประมาณ 21 วัน หรือการเป็นสัดครั้งต่อไปของม้าเพศเมียตัวนั้น ให้นำม้าเพศผู้เข้าไปไว้ในคอกเดียวกัน หากม้าเพศเมียแสดงอาการอยากเข้าหาม้าเพศผู้ แสดงว่าการผสมครั้งที่ผ่านมาไม่ติด เพราะถ้าผสมติด ม้าเพศเมียจะไม่ยอมให้ม้าเพศผู้เข้าใกล้
การตั้งท้องของม้า อยู่ที่ 10 เดือนโดยประมาณ ม้าตกลูกครั้งละ 1 ตัว กรณีม้าแฝดพบ 1 ใน 100 และลูกม้าจะไม่แข็งแรง โอกาสตายทั้งคู่มีสูงมาก
เมื่อใกล้คลอด นมม้าจะตั้งเต้า ฐานนมจะกว้างมาก และมีน้ำนมหยด ให้นำเชือกที่ผูกหรือล่ามไว้ออก จากนั้นปล่อยไว้ในคอก ทำความสะอาดคอกให้ดี เมื่อถึงเวลาคลอด ม้าจะลงนอนบิดไปมา จากนั้นเมื่อคลอดก็จะเลียรกที่ออกมากับลูกม้า แม่ม้าจะทำความสะอาดเอง โดยไม่ต้องเข้าไปช่วย
หลังคลอด ปล่อยให้ลูกม้าอยู่กับแม่ม้านาน 6 เดือน แล้วจึงแยกออก
อาหารปกติของม้า มีอาหารเม็ดสำเร็จรูป หญ้าแพงโกล่า หญ้าขน แคลเซียม
ม้าปกติ จะให้หญ้าสดวันละ 6 กิโลกรัม ต่อตัว อาหารเม็ดเช้าและเย็น ครั้งละ 1 กิโลกรัม ต่อตัว และให้มากให้ช่วงที่ม้าต้องฝึกหนักเพื่อเตรียมออกงาน
ส่วนม้าตั้งท้อง จะให้อาหารเสริมเป็นแคลเซียมแขวนไว้ในคอก และให้อาหารเม็ดตลอดการตั้งท้อง เพื่อให้ได้วิตามิน โปรตีน และเกลือแร่ครบถ้วน
หญ้าสดจะต้องหามาให้ม้าทุกวัน ส่วนหญ้าแพงโกล่า เป็นหญ้าที่มีโปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ ครบถ้วน จึงให้สลับกัน เพราะม้ากินได้ทั้งวัน
การอาบน้ำม้าก็เป็นเรื่องจำเป็น ควรอาบทุกๆ 2 วัน ใช้แชมพูสระผมปกติ ช่วยให้ม้าสบายตัว หลังอาบเสร็จก็ปล่อยให้ม้าวิ่งเล่นนอกคอก
ลูกม้า หลังแยกจากแม่ม้าแล้ว ยังไม่เริ่มฝึก เพราะม้ายังเด็ก การเริ่มฝึกม้าต้องให้ม้ามีอายุไม่ต่ำกว่า 1 ปีครึ่ง เพราะกระดูกหลังและโครงสร้างอื่นยังแข็งแรงไม่เต็มที่ หากนำมาฝึก อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องกระดูกและโครงสร้างของม้าได้
การนำลูกม้าออกมาฝึก ต้องเริ่มจากนำมาสร้างความคุ้นเคยกับคนก่อน ด้วยการลูบคลำ สร้างความสนิทสนม เมื่อลูกม้าเริ่มเชื่อง ก็เริ่มนำยางในรถยนต์คล้องที่ขา ใช้เชือกผูกอ้อมด้านหลัง เพื่อดึงจากบริเวณกลางท้องขึ้นมาเป็นรูปตัววี เป็นการฝึกให้ม้ายกขาตามจังหวะกลองในแตรวง
จากนั้นเริ่มนำกระสอบทรายถ่วงบนหลังม้า ให้น้ำหนักทิ้งลงด้านข้างตัวม้า แต่ให้ม้ารู้สึกว่ามีน้ำหนักอยู่บนหลัง น้ำหนักของกระสอบทรายที่ใช้ ไม่ต่ำกว่า 50 กิโลกรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักที่ใกล้เคียงกับน้ำหนักคน
การฝึกให้ม้าทำตามคำสั่ง ก็ขึ้นกับเทคนิคของแต่ละที่ เช่น การฝึกม้าให้นอน ทำโดยการใช้เชือกผูกขาหน้าข้างขวา แล้วดึงขึ้นมาให้ขางอ แล้วจับขาข้างซ้ายของม้า ใช้ไม้เคาะเบาๆ ที่หน้าแข้งซ้าย เพื่อให้ม้าคุกเข่าลง เมื่อม้าทำได้ ก็ค่อยๆ ต้อนขาหลังให้เอนลงไปนอน
การฝึกม้าแต่ละตัว ใช้ระยะเวลาแตกต่างกัน ขึ้นกับนิสัยม้า อย่างเร็ว 5-6 เดือนก็ฝึกได้ แต่บางตัวใช้เวลาเป็นปี
คุณสนธยา บอกว่า ม้าแต่ละตัวมีนิสัยไม่เหมือนกัน และคนจับม้าหรือผู้ดูแลม้าก็อาจจะเข้ากับม้าได้ไม่ทุกตัวเช่นกัน ต้องลองให้จับหรือฝึก หากเข้ากันได้การฝึกจะไปได้รวดเร็วมาก แต่ถ้าเข้ากันไม่ได้ อาจต้องเปลี่ยนคนฝึกเลยทีเดียว
ในทุกเช้าจะปล่อยม้าออกไปวิ่งออกกำลังกายยังแปลงปล่อย ทำความสะอาดคอก เปลี่ยนน้ำ และให้อาหารไว้ หรือจับอาบน้ำก่อนนำมาฝึก บ่ายแก่ๆ นำกลับเข้าคอก
การรับงาน ต้องให้ม้ามีอายุไม่ต่ำกว่า 3 ปี และต้องฝึกให้มั่นใจว่าไม่เกิดปัญหาขณะอยู่ในงาน และสามารถควบคุมม้าได้เมื่อเกิดกรณีใดๆ ก็ตาม
คุณสนธยา บอกว่า ในกลุ่มมีม้าจำนวนมาก นอกเหนือจากรับงานประเพณีแล้ว การว่าจ้างแสดงละคร ออกกองถ่ายก็ยังรับ และที่ผ่านมามีการว่าจ้างม้าจำนวนหลายสิบตัวเพื่อเข้าถ่ายภาพยนตร์หลายเรื่อง ก็ได้รับการไว้เนื้อเชื่อใจมาแล้ว และรับฝึกม้าด้วย แต่ก็ขึ้นกับม้าว่าตอบสนองได้ดีแค่ไหน อาจใช้เวลามากน้อยไม่เท่ากัน ดังนั้น ค่าฝึกจึงคิดตามระยะเวลาและความยากง่ายในการฝึก
หากท่านใดสนใจ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ไม่ได้ไกลเกินจะไปเยี่ยมชม คุณสนธยาและกลุ่ม พร้อมเปิดให้เข้าไปพูดคุย เพราะยังมีเรื่องของความเชื่อเกี่ยวกับการเลือกซื้อม้าตามแบบโบราณไทย ที่คุณสนธยา บอกว่า เป็นสิ่งที่คนเลี้ยงม้าควรรู้ แม้จะพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นสิ่งที่ควรเชื่อหรือไม่ แต่ในฐานะคนไทย ก็ไม่ควรมองข้ามหรือละเลย
เข้าไปพูดคุยกันได้ แต่ขอให้โทรศัพท์นัดหมายก่อน เพราะในทุกวันมีกิจกรรมฝึกม้าและรับงานไว้ไม่เว้นแต่ละวัน
ติดต่อได้ที่ คุณสนธยา สื่อออก หมู่ที่ 9 บ้านคอกวัว ตำบลนครชุมน์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โทรศัพท์ (092) 620-2204 หรือ เข้าชมหน้าเฟซบุ๊ก ที่ อาชาแดนซ์ ทไวไลท์โชว์