ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เอ็กซิมแบงก์ ครบรอบ 25 ปี เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ชูบทบาทเชื่อมผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดใหม่
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในปี 2562 เอ็กซิมแบงก์ ครบรอบ 25 ปี และก้าวสู่ปีที่ 3 ของการปรับบทบาทใหม่ตามแผนแม่บท 10 ปี (ปี 2560-2570) เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และทิศทางเศรษฐกิจของไทย โดยกำหนด 6 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1. เชื่อมไทย เชื่อมโลก ด้วยการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ 2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ 3. ป้องกันความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุนไทยในต่างประเทศ 4. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ 5. เพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ 6. พัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ
จากยุทธศาสตร์ดังกล่าว เอ็กซิมแบงก์จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางสร้างเครือข่ายทางธุรกิจใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่สนใจรุกตลาดใหม่ โดยทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ จัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXIM Excellence Academy : EXAC)” ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานจัดกิจกรรม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มต้นส่งออกหรือขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยแบ่งตามระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ ได้แก่ 1. กลุ่มผู้ที่ยังไม่เคยส่งออก 2. กลุ่มผู้ที่เคยส่งออกบ้างแล้ว และ 3. กลุ่มผู้ที่ส่งออกอยู่แล้ว ซึ่งยังต้องการการสนับสนุนทางการเงิน และข้อมูลเพื่อขยายธุรกิจส่งออกให้เติบโตได้อย่างมั่นคง
และในโอกาสครบรอบ 25 ปี เอ็กซิมแบงก์ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อส่งออกเพิ่มสุข (EXIM Happier Credit)” เป็นสินเชื่อหมุนเวียนช่วงก่อนและหลังการส่งออก ผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นส่งออก และไม่เคยได้รับสินเชื่อจากเอ็กซิมแบงก์จะได้รับพิจารณาวงเงินสินเชื่อสูงสุด 700,000 บาทต่อราย ส่วนลูกค้าปัจจุบันจะได้รับวงเงินสินเชื่อสูงสุด 1 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยปีแรกอยู่ที่ 5.50% ต่อปี ปีที่ 2 อยู่ที่ Prime Rate -0.50% ต่อปี (หรือ 5.75% ต่อปี) พร้อมวงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า สูงสุดเท่ากับวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ใช้เพียงบุคคลค้ำประกัน สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมอบรม ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าและค้าขายออนไลน์ หรือ ลงทะเบียนร่วมกิจกรรม กับ เอ็กซิมแบงก์ จะได้รับส่วนลด อัตราดอกเบี้ยปีแรก 0.50% ต่อปี บริการใหม่นี้มีเป้าหมายอนุมัติวงเงินรวม 400 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดย่อมสามารถเริ่มต้นและส่งออกได้มากขึ้นไม่น้อยกว่า 550 ราย
นายพิศษฐ์ เผยผลการดำเนินงานของเอ็กซิมแบงก์ ว่า ประสบความสำเร็จเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 เอ็กซิมแบงก์ มีเงินสินเชื่อคงค้างสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 108,589 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,703 ล้านบาท หรือ 18.18% เมื่อเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 38,412 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 70,177 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ 197,120 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 106,362 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้างแก่ SMEs เท่ากับ 42,906 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,765 ล้านบาท หรือ 15.53% ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 1,365 ล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs Ratio) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 3.78% โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 4,103 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 9,385 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,436 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 4,572 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองหนี้พึงกัน 205.25% ทำให้เอ็กซิมแบงก์ยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง
ขณะเดียวกันก็ได้ขยายบริการประกันการส่งออก เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการไทยจากการไม่ได้รับชำระเงินจากคู่ค้าในต่างประเทศ ทั้งในตลาดการค้าเดิมและตลาดใหม่ ในปี 2561 เอ็กซิมแบงก์มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุนเท่ากับ 92,448 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26,545 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs จำนวน 22,278 ล้านบาท หรือ 24.10% ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม
ในส่วนของการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศ ปัจจุบันเอ็กซิมแบงก์ มีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 84,245 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 2561 จำนวน 39,265 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผู้ส่งออกไทยมีโอกาสที่จะขยายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศอีกมาก โดย ณ สิ้นปี 2561 มีเงินให้สินเชื่อคงค้างจำนวน 29,441 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2560 เท่ากับ 1,546 ล้านบาท