ซีไอเอ็มบี ไทย ร่วมสร้าง รพ.จักษุบ้านแพ้ว ในโครงการ ติดปีกเติมฝัน “ทำดีให้คน (มอง) เห็น”

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ร่วมสร้างโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว ในโครงการ ติดปีกเติมฝัน “ทำดีให้คน (มอง) เห็น” ชวนทุกคนร่วมกันมอบแสงสว่างให้ผู้ป่วยโรคตา คุณทำได้

นายประภาส ทองสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สื่อสารองค์กร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว เป็นโรงพยาบาลของรัฐที่ไม่ได้อยู่ในการกำกับดูแลของภาครัฐ เป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวในประเทศไทยที่ขอแยกตัวออกมาได้ แพทย์และพยาบาลมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทุกคนถูกฝึกให้สามารถผ่าตัดต้อกระจก โดยหมอหนึ่งคนจะใช้เวลาเพียง 8 นาทีในการผ่าตัดคนไข้ เหตุที่ต้องใช้ความรวดเร็วในการผ่าตัดเป็นเพราะผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการมีมากมายมหาศาล ความตั้งใจของโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้วคือต้องการสร้างอาคารไว้เป็นพื้นที่สำหรับรักษาคนไข้ จะได้ไม่ต้องลำบากเดินทางไปรักษาในกรุงเทพฯ บางคนจองคิวกว่าจะได้ผ่าใช้เวลานาน 3 ปี

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารจึงเข้าร่วมสนับสนุนการหาทุนก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว เนื่องจากเล็งเห็นถึงปัญหาของจำนวนผู้ป่วยภาวะตาบอดที่ต้องทนทุกข์ในโลกอันมืดมิดมากกว่า 100,000 ราย ทั้งที่โรคเหล่านี้แก้ไขหรือชะลอไม่ให้เกิดภาวะตาบอดได้ หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันเวลา เป็นที่มาของการก่อสร้างโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร โดยมูลนิธิโรงพยาบาลบ้านแพ้วและภาคประชาชน โดยมีเงินที่จะร่วมบริจาคในครั้งนี้เป็นจำนวนเงิน 566,838.25 บาท

ด้านนายแพทย์พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เล่าว่า เคยเจอคุณยายท่านหนึ่งตอนไปออกหน่วยผ่าตัดต้อกระจกที่จังหวัดกำแพงเพชรเมื่อหลายปีก่อน ยาย อายุ 70 กว่าๆ ต้องมีคนจูงมาตรวจเนื่องจากมองไม่เห็นทั้ง 2 ข้าง ที่จำได้แม่นเพราะญาติบอกว่า ยายต้องกินข้าวกับน้ำตามานาน 10 ปี ตอนแรกเข้าใจว่าฟังผิด แต่ญาติบอกว่า เวลากินข้าวร้องไห้ตลอดเนื่องจากมองไม่เห็น ญาติต้องจับมือยายให้ใช้ช้อนเคาะจานข้าวตัวเองแล้วไปเคาะจานกับข้าวเพื่อให้กะระยะได้

“ยายทรมานมองไม่เห็นต้องกินข้าวกับน้ำตามานานร่วม 10 ปี ผมได้ทำการผ่าตัดต้อกระจกให้กับยายไป รุ่งเช้าตรวจหลังผ่าตัด ภาพที่ผมเห็นทำให้ผมประทับใจมาก จากยายที่ต้องมีคนจูง วันนี้ยายมองเห็นและเดินเข้ามาสวัสดีผมด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มและผมที่หวีจนเรียบแปล้ บอกถึงว่าวันนี้ยายน่าจะมีความสุขมากวันหนึ่ง และวันนี้จะเป็นวันแรกที่ยายไม่ต้องกินข้าวกับน้ำตาอีกต่อไป” นายแพทย์พรเทพ กล่าวเสริม

ปัจจุบัน มีผู้ป่วยที่มีภาวะตาบอดต้องทนทุกข์อยู่ในโลกมืดมิดมากกว่า 100,000 ราย โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากโรคต้อกระจก โรคต้อหิน และโรคจอประสาทตา ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถช่วยเหลือหรือชะลอไม่ให้เกิดภาวะตาบอดได้ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันเวลา โดยโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เป็นศูนย์รับส่งต่อโรคทางจักษุในเขตบริการสุขภาพที่ 5  ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้การดูแลผู้ป่วยโรคซับซ้อนทางตาตั้งแต่จังหวัดสุพรรณบุรีถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  อีกทั้งยังเป็นศูนย์รับส่งต่อการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา ร่วมกับศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย  ตลอดจนได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการดำเนินโครงการผ่าตัดต้อกระจกเคลื่อนที่ให้แก่ผู้ยากไร้ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดารตลอดระยะเวลามากกว่า 16 ปี

“จากความเชี่ยวชาญดังกล่าวส่งผลให้มีผู้ป่วยเดินทางมารับบริการที่ศูนย์จักษุโรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นจำนวนมากเฉลี่ยถึง 500 รายต่อวัน  รวมถึงความซับซ้อนของโรคที่ต้องใช้เวลานานในการวินิจฉัยและตรวจรักษา แม้ทางศูนย์จะมีจักษุแพทย์เฉพาะทางถึง 16 คน แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ที่มีห้องตรวจเพียง 7 ห้อง และห้องผ่าตัดเพียง 2 ห้อง ทำให้ผู้ป่วยต้องรอคอยการรักษาที่ยาวนานและแออัด”

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาในปี 2558 ทางมูลนิธิโรงพยาบาลบ้านแพ้วและภาคประชาชนจึงมีดำริที่จะสร้างโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้วขึ้น ด้วยเงินบริจาคของประชาชนโดยมิได้ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด โดยจะเป็นอาคารสูง 9  ชั้น ที่สามารถรองรับการให้บริการผู้ป่วยได้ไม่ต่ำกว่า 600 รายต่อวัน  มีห้องตรวจ 23 ห้อง ห้องผ่าตัดที่ทันสมัย 9 ห้อง ศูนย์เลเซอร์และศูนย์เครื่องมือพิเศษที่ทันสมัย และที่สำคัญ จะมีศูนย์วิจัยเพื่อช่วยเหลือคนตาบอดภายในอาคารนี้ด้วย

“ต้องใช้งบประมาณก่อสร้างอาคารประมาณ 400 ล้านบาท และกำหนดแล้วเสร็จในปี 2562 เบื้องต้นโรงพยาบาลสามารถระดมทุนรับบริจาคได้ 280 ล้านบาท จึงได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์และตอกเสาเข็มขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 โดยยังขาดงบประมาณอีกถึง 120 ล้านบาท ส่งผลให้ก่อสร้างได้เพียงโครงคอนกรีตขนาด 9 ชั้น และไม่สามารถดำเนินการต่อได้มาเป็นระยะเวลา 2 ปี ปัจจุบันมีปริมาณผู้ป่วยโรคซับซ้อนทางตาเข้ามารับการรักษาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดความแออัดอย่างมาก จึงจำเป็นต้องเร่งระดมทุนรับบริจาคเพื่อนำรายได้ไปใช้ในการจัดสร้างอาคารให้แล้วเสร็จโดยเร็ว” นายแพทย์พรเทพ กล่าว