“กรมเจรจาฯ” ผนึกกำลังพันธมิตร บุกแม่ฮ่องสอน เพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทย เตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดการค้าเสรี

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ดำเนินโครงการ “เพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทย พร้อมรุกตลาดการค้าเสรี” ด้วยการลงพื้นที่พบปะเกษตรกร พร้อมจัดสัมมนา “การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี”ทั่วทุกภูมิภาค

พบว่าในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตรมากมาย ทั้งผลิตภัณฑ์จากงา ถั่วเหลือง ถั่วหลายเสือ ข้าวโพด ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผ้าพื้นเมือง

ที่น่าสนใจและกำลังมาแรงคือกาแฟที่มีเกษตรรุ่นใหม่ หรือ สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ มีการดำเนินครบวงจร ตั้งแต่ต้น กลาง และ ปลายน้ำ สามารถสร้างแรนด์กาแฟจนเป็นที่รู้จักได้ คือ Oneoff Coffee ไม่เพียงเท่านั้นยังช่วยส่งเสริมองค์ความรู้และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะใช้ประโชน์จากเขตการค้าเสรีได้นอนาคต

คุณณิสาพัฒน์ ทองประทุม กรรมการคลัสเตอร์กาแฟแม่ฮ่องสอน และเจ้าของแบรนด์กาแฟ Oneoff Coffee คุณอมตะ สุขพันธ์ คนรุ่นใหม่ที่เบื่อชีวิตในเมือง ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ จ.แม่ฮ่องสอน ผันตัวเองมาทำอาชีพเกษตรเพาะปลูกกาแฟตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟสายพันธุ์อราบิก้ากว่า 20 ไร่ ทั้งคู่ได้ทำการรวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ห้วยมะเขือส้ม,ปางอุ๋ง, รักไทย, นาป่าแปก ส่งเสริมการเพาะปลูกกาแฟที่ดีมีคุณภาพ โดยนำองค์ความรู้ไปเผยแพร่ให้กับเกษตรกรในพื้นที่

คุณอมตะ เผยว่า ผลิตภัณฑ์ของ Oneoff Coffee มีหลายประเภทไม่ว่าจะเป็น เมล็ดดิบ เมล็ดขั่ว ที่ส่งขายทั่วประเทศ เป็นวัตถุดิบที่รับซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่ ตั้งแต่การเพาะปลูก แปลงปลูก ลานตากเมล็ดกาแฟ โรงสีเม็ดเชอร์รี่ โรงคั่ว โรงบด บรรจุภัณฑ์ และร้านกาแฟ พบว่าเป็นการผลิตเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ ต้องใส่ใจการผลิตทุกขั้นตอนตั้งแต่ การปลูกกาแฟหันหน้ารับแสงพระอาทิตย์ และปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ เพื่อรักษาผืนป่าเก็บเมล็ดกาแฟทีละเมล็ด เก็บเมล็ดกาแฟในคืนวันเพ็ญ เกิดเป็นเรื่องเล่าที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและนำมาแปรรูปส่งขาย

ปริมาณการรับซื้อเมล็ดกาแฟอยู่ที่ 10 ตันต่อปี จำนวนเหล่านี้ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้มากกว่าเดิม ซึ่งเมื่อก่อนการปลูกกาแฟเป็นเพียงอาชีพเสริม แต่กลายมาเป็นอาชีพหลักที่ทำให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีในปัจจุบัน

นอกเหนือจากนี้แบรนด์ Oneoff Coffee กำลังพัฒนาธุรกิจไปในรูปแบบของแฟรนไชส์ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการวางระบบ คุณณิสาพัฒน์บอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการทำแฟรนไชส์นั้น คือการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ฉะนั้นจะไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การขยายสาขา แต่จะเน้นเรื่องคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ อย่าง การเพาะปลูกซึ่งเป็นหัวใจหลักที่จะทำให้กาแฟมีคุณภาพดีหรือไม่ดี ไปจนถึงปลายน้ำ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดแฟรนไชส์ได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้

จังหวัดแม่ฮ่องสอนยังถือเป็นประตูการค้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของไทย เช่น เมียนมา ซี่งภายใต้ความตกลงการค้าเสรีของอาเซียน เมียนมาได้ยกเลิกการเรียกเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าส่วนใหญ่จากไทยแล้ว ยกเว้นสินค้าเกษตรอ่อนไหว 7 กลุ่มสินค้า ที่เมียนมายังคงอัตราภาษีอยู่ ได้แก่ ชาเขียว ถั่วลันเตา อัตราภาษีร้อยละ 15. กาแฟยังไม่ได้คั่ว และข้าว (ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวสีแล้ว จมูกข้าว)  อัตราภาษีร้อยละ 5  ไหมดิบ เศษไหม รังไหม อัตราภาษีร้อยละ 3  ฝ้าย และเศษฝ้าย อัตราภาษีร้อยละ 1 และน้ำตาลดิบ อัตราภาษี ร้อยละ 0.5.  

ดังนั้น การเพิ่มแต้มต่อในการแข่งขันให้กับเกษตรกรของไทย ผ่านการพัฒนาคุณภาพสินค้า การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์  และการสร้างเรื่องราวต่างๆ เป็นต้น จะช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการลดเลิกภาษีของประเทศคู่ค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ส่งสินค้าเกษตรของไทยออกไปขายในตลาดโลกได้อย่างมีศักยภาพมากขึ้น