นิวยอร์กแบกะดิน ทำเลดีไม่ได้มีให้ทุกคน

คนที่บ่นเบื่อแผงลอยขายของบนทางเท้าบ้านเรา แล้วชอบพร่ำเพ้อว่าบ้านอื่นเมืองอื่นเขาไม่เห็นทำกันแบบนี้เลย ขอให้รู้ว่าไม่จริง บ้านอื่นเมืองอื่นเขาก็มีกันมากมาย ฉันไม่พูดไกล เอาอย่างที่อเมริกานี่ก็คาหูคาตา นิวยอร์กนี่แหละตัวดีนัก ขายกันตั้งแต่ขนมนมเนย ถั่วอบ เครื่องดื่ม ไอศกรีม เสื้อผ้า ถุงเท้า กระเป๋า สติ๊กเกอร์

ที่จริงแทบทุกเมืองของอเมริกาเขามีขายของบนที่สาธารณะ แต่มักอนุญาตให้ขายได้เฉพาะวันหยุด มีที่ทางให้ขายกันเป็นเรื่องเป็นราว อย่างที่ฉันเล่ามาให้ฟังเยอะแยะ ไม่ว่าจะตลาดกรีน หรือตลาดยูเนียนสแควร์ ที่นิวยอร์กนี่ ตลาดปลอดสารพิษ ที่ซานตาโมนิก้า แอลเอ., ตลาดโรสโบวล์ ที่พาซาดิน่า

     

แต่นิวยอร์กนี่ เขาให้ขายกันบนทางเท้าจะจะเป็นธุรกิจเป็นเรื่องเป็นราวเลย ย่านไหนคนมากเขายิ่งอนุญาตให้ขาย เอาง่ายๆ อย่างย่านไทม์สแควร์ ซึ่งทางหนึ่งเป็นย่านธุรกิจสำคัญ คนมากมายยังกะมดปลวก อีกทางหนึ่งเป็นย่านที่นักท่องเที่ยวมักแวะไปชม แบบว่าไปนิวยอร์กต้องไปให้ถึงไทม์สแควร์ หรือถ้าเป็นผู้หญิง พวกชอบช็อปปิ้งก็ต้องโผล่ไปที่ถนนสายที่ห้า หรือ Fifth Avenue ของไทม์สแควร์ เสียหน่อย เป็นนับว่าได้มาถึงกับเขาแล้ว

ในมหานครนิวยอร์กที่มีพลเมืองกว่า 44 ล้านคนนี่ มีคนขายของบนทางเท้า บนถนน หรือที่เขาเรียกว่า Street Vendor กว่าหมื่นคน นี่นับเฉพาะถูกกฎหมาย ได้ใบอนุญาตขายตลาด ตลาดนัด หรือย่านต่างๆ เป็นเรื่องราวนะคุณ ถ้านับเฉพาะย่านไทม์สแควร์ก็อยู่ที่หลายร้อยแหละ

    

เขาขายอะไรกันบ้าง ก็ถั่วอบ 3 ถุง 10 เหรียญ ถุงมือคู่ละ 9 เหรียญ ผ้าพันคอผืนละ 5 เหรียญ เสื้อยืด I love New York ตัวละ 19 เหรียญ ทั้งหมดคุณภาพอยู่ในขั้นอีลุ่ยฉุยแฉก ซักเมื่อไหร่เป็นได้เรื่อง ฮอตดอกเนื้อฟ่ามๆ อันละ 5 เหรียญ เพรสเซลแป้งหยาบๆ ชิ้นละ 3 เหรียญ แล้วก็เครื่องดื่ม ไปหาเอาเถอะมากมาย ย่านไหนที่ขายกันซ้ำๆ ก็ตะโกนเรียกลูกค้าแข่งกันแบบบ้านเรานี่แหละ ส่วนคุณภาพก็กรุณาทำใจ สินค้าขายแบกะดินคาดหวังได้แค่ไหนก็แค่นั้นแหละคุณ

     

     

ส่วนใหญ่พวกที่ขายของบนทางเท้าคือทหารผ่านศึกจากสงครามเวียดนาม หรือไม่ก็พวกเซ็งลี้ใบอนุญาตต่อมาอีกที เพราะเทศบาลนิวยอร์กเขาอนุญาตเป็นกรณีพิเศษแก่ทหารผ่านศึก เข้าใจว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือนั่นแหละ ส่วนคนอื่นๆ ต้องยื่นขอใบอนุญาต ซึ่งเขาบอกว่า ถ้าดูเอาจากคนที่เข้าบัญชีรอไว้ กว่าจะได้ขายจริงก็รอไปอีก 25 ปี เพราะเขาจำกัดจำนวนคนขาย ตามที่เทศบาลนิวยอร์กเขาบอกน่ะ เขาจำกัดแผงขายอาหารไว้ที่ 3,100 ราย ไม่ใช่อาหาร 853 ราย ใครอยากขายให้ไปลงชื่อขอใบอนุญาตแล้วรอ และอย่างที่บอกว่าต้องรอ 25 ปี ที่จริงเขาปิดรับใบสมัครมา 18 ปีเข้านี่แล้ว ไม่งั้นคิวอาจยาวไปถึง 100 ปี เกิดชาติหน้ามาขายยังทัน

แต่ถ้าเป็นบรรดาทหารผ่านศึก หรือครอบครัว ได้สิทธิพิเศษไม่ต้องเข้าบัญชีรอ แต่ก็ต้องไม่เกินจำนวนที่เขามีไว้ ทหารผ่านศึกคนหนึ่งที่เคยเป็นข่าวคราวว่าสังเกตเห็นคนขับรถมาจอดย่านไทม์ สแควร์ เพื่อเตรียมทำคาร์บอมบ์ แกเป็นทหารผ่านศึกเวียดนามขายเสื้อยืด I love New York มาตั้ง 20 ปีแล้ว เอากะแกสิ

          

อีกพวกหนึ่งที่ไม่ต้องขอใบอนุญาต (แต่ก็ต้องไม่เกินจำนวนที่เขากำหนดไว้) คือคนทำงานศิลปะ แต่เขาก็กำหนดไว้อีกล่ะว่า จะต้องเป็นประเภทภาพวาดและภาพถ่ายเท่านั้น จึงมีหนุ่มหน้าตาเอเชียหรือแอฟริกา ไปนั่งรอวาดรูปเหมือนภาพละ 10 เหรียญกันมากมาย แต่ถ้าเป็นของประดิษฐ์อย่างอื่น แม้จะทำออกมาด้วยความสามารถทางศิลปะ อย่างเครื่องประดับ หรือกระเป๋าหนังแท้เย็บด้วยมือ อันนี้เขาก็ไม่เรียกว่างานศิลปะ ต้องไปเข้าพวกกับสินค้าทั่วไป ซึ่งนี่ก็สร้างเสียงด่าระงมจากคนที่เขาทำกันอยู่ อย่างสาวจากมิชิแกนคนหนึ่ง ขายกระเป๋าตัดเย็บด้วยมือสวยสะ ชีก็บ่นๆๆๆๆ ให้ฟังจนหูชา

ย่านไทม์สแควร์นี่ค่าเช่าอาคารแพงระยับ เอาอย่างถนนสายที่ 5 หรือถนน 57 ที่คนชอบกันนักหนา ค่าเช่าราว 1,350 เหรียญ หรือ 40,000 บาท ต่อตารางฟุต เรียกว่าถ้าจะมีที่วางโต๊ะได้สักตัวจะต้องจ่ายค่าเช่าที่ล้านกว่าบาทขึ้นไป หรืออย่างร้านยีนส์ลีวายส์ ที่ฉันชอบเดินเข้าๆ ออกๆ ค่าเช่าปีละกว่าร้อยล้านบาท

แต่ถ้าเป็นคนขายของแบกะดินในย่านเดียวกัน เสียค่าใบอนุญาตให้รัฐปีละ 75 เหรียญ หรือ 2,000 กว่าบาท

ทำเลเดียวกัน ค่าเช่าต่างกันลิบอย่างนี้ ถ้าคิวมันจะยาวไปถึงพันปีฉันก็ว่าไม่แปลก