เดอะ ไฟแนนซ์ บาร์ “รถเคลื่อนที่” รูปแบบใหม่ของที่ปรึกษาทางการเงิน

ไม่จำเป็นต้อง “หาเงินเก่ง” แค่รู้จัก “ใช้เงินเป็น” เพียงเท่านี้ชีวิตก็อยู่รอดปลอดภัย ไร้กังวล มาร์ช่า บาร์นส์ หญิงชาวเมืองชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา เล่าว่า เธอได้เรียนรู้ “เคล็ดลับนี้” จากพ่อแม่เธอ ที่เคยถูกปลดออกจากงานประจำที่ทำมากว่า 20 ปี แต่ทั้ง 2 กลับไม่รู้สึกตกใจอะไรมากมาย ทั้งนี้เพราะ พ่อแม่เธอต่างรู้จักใช้เงิน และไม่เคยใช้เงินเกินตัว อย่างเช่น เวลาซื้อเสื้อผ้าก็จะซื้อตอนลดราคาเท่านั้น ด้วยวิธีใช้เงิน (เป็น) แบบนี้ที่สามารถช่วยทั้ง 2 ได้เป็นอย่างดี ในยามที่ความไม่แน่นอนของชีวิตมาเยือน

มาร์ช่า อดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารวัย 39 ซึ่งมีประสบการณ์ในสายอาชีพที่ปรึกษาทางการเงินมากกว่า 12 ปี เล่าว่า นิสัยการใช้เงินของพ่อแม่ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอชอบ และสนใจเรื่องวางแผนด้านการเงินส่วนบุคคล กระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2557 เธอจึงสบโอกาสได้มาทำธุรกิจเดอะ ไฟแนนซ์ บาร์ (The Finance Bar) ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคลเคลื่อนที่ โดยลงทุนซื้อ “รถโรงเรียน” มาทำเป็นออฟฟิศ ซึ่งเธอได้คอนเซ็ปต์มาจากธุรกิจรถขายอาหารเคลื่อนที่ ที่กำลังบูมมากในเมืองชาร์ลอตต์ขณะนั้น ซึ่งสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ในการทำธุรกิจของเธอ ที่ต้องการเดินทางไปให้คำปรึกษาทางการเงินตามสถานที่ต่างๆ ที่ผู้จ้างรู้สึกสะดวก

มาร์ช่า เล่าว่า เธอลงทุนซื้อรถโรงเรียนคันเก่า ยาว 45 ฟุต มาจากเว็บ Craigslist ในราคา 3,500 ดอลลาร์ (ราว 126,700 บาท) และควักเงินจ้างนักออกแบบ ตกแต่งภายในอีก 20,000 ดอลลาร์ (ราว 724,000 บาท) เพื่อมาปรับปรุงตกแต่งภายในรถใหม่ ให้มีบรรยากาศเหมือนนั่งอยู่ในบาร์ “ภายในรถมีการตกแต่งให้มีบรรยากาศคล้ายกับบาร์ มีพื้นที่สำหรับนั่งดื่มน้ำ หรือชา กาแฟ มีเก้าอี้บาร์สตูลสีเหลือง และเก้าอี้โซฟาเล็กๆ สีเหลือง ทั้งนี้เพราะประเด็นเรื่องเงินทองเป็นเรื่องอ่อนไหว เปราะบางสำหรับคนเรา และสีเหลืองก็มีคนว่ากันว่าเป็นสีแห่งความสุข ทำให้คนมองแล้วรู้สึกสบายใจ”

เครดิตภาพจาก mayaelious.com

ทั้งนี้เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วที่ มาร์ช่า และสามีได้ขับรถบัสคันนี้ไปตามสถานศึกษา บ้านพักสำหรับผู้ถูกกระทำรุนแรงภายในครอบครัว และหน่วยงานต่างๆ ที่จ้างเธอไปให้คำแนะนำ ปรึกษาทางการเงินแก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งไม่มีเงินมากพอจะไปเข้าเรียนคอร์สอบรมการวางแผนการเงินที่มีราคาแพงๆ

มาร์ช่า เล่าว่า งานของเธอก็คือ การให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าถึงเรื่องกลยุทธ์ต่างๆ ในการจัดทำงบประมาณ และการออมเงิน นอกจากนั้น เธอยังมี “สโมสรออนไลน์” เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกที่อยู่ไกล แม้จะห่างกันคนละมุมโลกสามารถเข้าถึงบริการของเธอที่จะช่วยสร้างนิสัยการใช้เงินที่ดี และมีวินัย

สำหรับการเก็บค่าเล่าเรียน มาร์ช่า เล่าว่า ราคาถูกที่สุดคือ 30 ดอลลาร์ (ราว 1,086 บาท) แต่จะไม่เกิน 55 ดอลลาร์ (ราว 1,991 บาท) ซึ่งความรู้ที่เธอจะถ่ายทอดให้ก็มีตั้งแต่วิธีจัดทำงบประมาณรายรับ รายจ่าย วิธีอ่านรายงานเกี่ยวกับเครดิตบูโรเพื่อจะได้เข้าใจถึงสิ่งที่เครดิตบูโรรายงาน

สำหรับการนัดหมายกับลูกค้า มาร์ช่า เล่าว่า เมื่อมีลูกค้าติดต่อขอจองคิวเรียนเข้ามา เธอมักจะใช้ลานจอดรถของห้องสมุดท้องถิ่นหลายแห่งที่เป็นพันธมิตรกัน ขอเข้าไปใช้สถานที่จอดรถ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความอนุเคราะห์จากห้องสมุดต่างๆ เป็นอย่างดี และเธอพยายามจะเลือกนัดลูกค้าในวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันที่ห้องสมุดปิด ที่จอดรถก็จะว่าง

อย่างไรก็ตาม มาร์ช่า ก็ออกตัวว่า เธอไม่ใช่ที่ปรึกษาวางแผนทางการเงิน แต่เป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ที่จะช่วยให้คำแนะนำในเรื่องพื้นฐาน อย่างเช่น “ทำไม ความน่าเชื่อถือจึงเป็นเรื่องสำคัญ? ทำไมฉัน (ผม) จึงไม่ควรรูดบัตรเครดิตตลอดเวลา? ทำไมการออมเงินจึงสำคัญ ฉันแค่ต้องการนำเรื่องต่างๆ เหล่านี้มาเป็นหัวข้อสำคัญที่คนเราควรจะคำนึงถึงกัน”

เครดิตภาพจาก www.npr.org

มาร์ช่า เล่าด้วยว่า “ฉันถนัดให้คำปรึกษาแก่ผู้หญิง แล้วก็คู่สามีภรรยา ก่อนหน้านี้ก็เคยมีเด็กสาว 2 คน ที่ไม่สามารถจ่ายเงิน 200 ดอลลลาร์ ต่อชั่วโมง (ราว 7,240 บาท) เพื่อไปเรียนกับที่ปรึกษาทางการเงิน พวกเธอก็มาเรียนกับฉัน แล้วเธอก็ได้ประสบการณ์ที่วิเศษสุด”

สำหรับการเรียนรู้เคล็ดลับทางการเงินผ่านสโมสรออนไลน์ มาร์ช่าจะคิดค่าบริการจากสมาชิกเดือนละ 10 ดอลลาร์ (ราว 362 บาท) โดยเธอจะมีสัมมนาผ่านเว็บ มีการสอนกลยุทธ์ต่างๆ ทางการเงิน แล้วสมาชิกยังสามารถใช้ แอพพลิเคชั่นสำหรับการจัดทำงบประมาณได้ด้วย

และในปี 2559 นี้ เธอยังจะมีโครงการจัดอบรมฟรี 2 ชั่วโมงให้แก่ ผู้หญิงในชุมชนของเธอที่จะมานั่งพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงปัญหา ความท้าทายทางการเงินต่างๆ ของพวกเธอ และสามารถขอรับคำแนะนำ ปรึกษาจากเธอได้ นอกจากนั้น มาร์ช่ายังมีโครงการที่จะทำร่วมทำกับสถานีวิทยุท้องถิ่น เป็นรายการวิทยุความยาว 52 สัปดาห์ ชื่อว่า”Getting Your Money Right in 2016″  ซึ่งจะออนแอร์พร้อมๆ กับการเปิดตัวของแอพพลิเคชั่นไฟแนนซ์ บาร์ บนมือถือที่ผ่านการปรับปรุงโฉมใหม่ด้วย