จักรยานไม้ไผ่ ธุรกิจแบบพอเพียง

กระแสเห่อปั่นจักรยานในบ้านเรายังแรงดีไม่มีตก เพราะได้แรงหนุนจากความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมและเทรนด์ใส่ใจสุขภาพ แถมบวกปัญหาจราจรที่ติดขัดแบบสาหัส

ความนิยมปั่นพาหนะ 2 ล้อไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทยเท่านั้น แต่ในหลายประเทศก็เกิดกระแสนี้คล้ายๆ กัน บางประเทศจัดเลนสำหรับจักรยานโดยเฉพาะ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับจักรยานก็พลอยเติบโตตามไปด้วย

ซีเอ็นเอ็น ระบุว่า กระแสปั่นจักรยานที่เกิดขึ้นในหลายมุมโลก นอกจากจะส่งผลดีในแง่สิ่งแวดล้อม เพราะเป็นยานพาหนะที่ไม่ปล่อยมลภาวะที่ทำให้โลกร้อน ยังช่วยสร้างโอกาสด้านธุรกิจให้กับคนเล็กคนน้อยในประเทศกานาที่ผลิตจักรยานไม้ไผ่จำหน่ายไปทั่วโลก

ทั้งๆ ที่ไม้ไผ่เป็นวัสดุที่ทนทาน กันแรงกระแทก และพร้อมสำหรับการใช้งานหลากหลายรูปแบบ แต่กลับไม่มีใครนำไม้ไผ่มาเป็นวัสดุในการผลิตจักรยานขายในเชิงพาณิชย์

ครั้งแรกๆ ที่มีคนคิดค้นนำไม้ไผ่มาขึ้นโครงจักรยานเริ่มตั้งแต่ปี 2437 แต่ไอเดียดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกสานต่อมานานร่วม 120 ปี จนเพิ่งเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนจากฝีมือของช่างในกานาและหน่วยงานต่างๆ ที่พยายามอย่างหนักให้จักรยานไม้ไผ่แจ้งเกิด

เบอร์นีซ ดาปาห์ ผู้อำนวยการบริหารโครงการริเริ่มจักรยานไม้ไผ่ บอกว่า ตอนนี้กำลังการผลิตแทบจะไม่พอรองรับความต้องการของลูกค้าที่สั่งทำจักรยานไม้ไผ่ และคาดหวังว่าจะเริ่มผลิตขายเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนมิถุนายนปีนี้

          

แม้จะมีแผนผลิตในเชิงพาณิชย์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเพิ่มการผลิตได้มากพอ เพราะขณะนี้บริษัทมีลูกจ้างทั้งหมด 30 คน สามารถผลิตจักรยานไม้ไผ่แฮนด์เมดได้ราวๆ เดือนละ 60-100 คัน บริษัทจึงต้องเร่งเพิ่มกำลังการผลิต และนำเทคโนโลยีมาช่วยบางส่วน

โดยพนักงานจะยังทำจักรยานด้วยมือ แต่จะมีเครื่องสำหรับทำโครงประกอบ ซึ่งเมื่อทุ่นเวลาในส่วนนี้ได้ ก็จะช่วยให้กระบวนการผลิตเร็วขึ้น

จักรยานไม้ไผ่เหล่านี้ใช้กระบวนการผลิตที่พัฒนาโดยวิศวกรชาวอเมริกัน “เครก คาลฟี” ที่ออกแบบจักรยานทดลองทำด้วยไม้ไผ่ตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งนำไม้ไผ่มาใช้ร่วมกับไฟเบอร์และเคลือบด้วยเรซิ่นสังเคราะห์

วิธีการนี้ทำให้จักรยานไม้ไผ่แข็งแรงทนทานไม่แพ้โครงจักรยานที่ทำจากเหล็ก จึงสามารถขับขี่ได้อย่างราบรื่น และเป็นที่นิยมในหมู่ลูกค้าต่างชาติ

ดาปาห์ เล่าว่า จักรยานไม้ไผ่เหล่านี้ได้รับความสนใจจากลูกค้าในอังกฤษ ซึ่งผู้คนมักใช้จักรยานขับขี่ไปไหนมาไหน อีกทั้งยังได้รับความนิยมจากร้านรวงและสถานที่จัดแสดงสินค้า เพราะผู้บริโภคชอบดูจักรยานเหล่านี้

จักรยานไม้ไผ่ต้นแบบคันแรกที่ผลิตจากโรงงานในกานา อวดโฉมมาตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว และรุ่นนี้ยังคงผลิตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าจักรยานไม้ไผ่รุ่นบุกเบิกทนทาน และจะยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคต่อไปอีกหลายปี

 น่าสนใจว่า แนวคิดผลิตจักรยานไม้ไผ่เหมาะสมกับประเทศกานา เพราะจักรยาน 1 คันใช้ไม้ไผ่ประมาณ 2 ลำ ขณะที่ในหลายพื้นที่ของกานามีไม้ไผ่เกลื่อนกลาดและไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ หมายความว่าโครงการจักรยานไม้ไผ่จะไม่ขาดแคลนวัตถุดิบ

นอกจากนี้ จักรยานไม้ไผ่ยังได้แรงหนุนจากที่ประชุมว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่ง “บัน คี มุน” เลขาธิการยูเอ็น รับบทเป็นพรีเซ็นเตอร์กิตติมศักดิ์ สวมหมวกกันน็อกและถ่ายรูปกับจักรยานไม้ไผ่ที่ผลิตโดยประเทศกานา

คริสเตียนา ฟิเกอเรส หัวหน้าที่ประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของยูเอ็น มองว่า จักรยานไม้ไผ่เป็นประโยชน์ต่อประเทศกานามาก เพราะผลิตโดยผู้หญิงที่สอนความรู้ในการผลิตจักรยานไม้ไผ่ต่อๆ กันเป็นทอดๆ และเมื่อผลิตจักรยานไม้ไผ่ได้แล้วก็สามารถขายให้ลูกค้า สร้างรายได้ในครัวเรือนได้อีกด้วย

           

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในกานาคล้ายคลึงกับยุคบูมจักรยานในสหรัฐและยุโรปช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ที่การกำเนิดของจักรยานมีส่วนเปลี่ยนชีวิตของผู้หญิง เพราะไม่เพียงแต่ทำให้พวกเธอมีอิสระที่จะไปไหนมาไหน หากแต่ยังปฏิรูปขนบเดิมๆ โดยการก่อตั้งสมาคมที่ให้คำแนะนำสำหรับคุณผู้หญิงในการแต่งตัวให้เหมาะสมเวลาขี่จักรยาน

ทุกวันนี้ โครงการจักรยานไม้ไผ่ดังกล่าวกำลังอบรมการผลิตสินค้าให้กับผู้หญิงราว 20-25 คน และน่าจะมีผู้หญิงเข้ามาทำงานในโรงงานมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดจะใช้วัสดุหมุนเวียน เพื่อไม่ให้ทำลายป่าไผ่จนหมด และต้องการสร้างงานให้คนในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น

 ขณะนี้โรงงานยังไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนทุกชนิดได้เอง เช่น โซ่ ที่ต้องนำเข้า แต่ก็มีชิ้นส่วนบางอย่างที่ผลิตได้เอง หากบริษัทสามารถหาพันธมิตรได้ ในระยะกลางและระยะยาวก็อาจจะสามารถผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นยาง ล้อ และโซ่