“รังรัก” หลากสไตล์ ไอเดียแหวกคลื่นเศรษฐกิจ

    โรงแรมม่านรูดแบบเดิมๆ หลายแห่งมีอันต้องรูดม่านปิดฉากไปแล้ว เพราะทุกวันนี้ลูกค้ามีทางเลือกใหม่ๆ มากขึ้น ทั้งเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โรงแรมไม่กี่ดาว รวมถึงคอนโดมิเนียม ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วทุกมุมเมือง

     รังรักหลายแห่งในบ้านเราจึงต้องปรับตัวขนานใหญ่เพื่อความอยู่รอด ขยับสู่ “เลิฟโฮเต็ล” ที่เน้นดีไซน์ทันสมัย ไม่ต้องรูดม่านแบบประเจิดประเจ้อเหมือนในอดีต จนบางครั้งก็แยกไม่ออกระหว่างบูติก โฮเต็ล และ เลิฟโฮเต็ล แถมแต่ละห้องยังตกแต่งให้แตกต่าง เพื่อเอาใจคู่รักที่มีรสนิยมหลากหลาย

     ในญี่ปุ่นเอง โรงแรมแห่งรักก็พากันปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลง และสามารถยืนหยัดฝ่ามรสุมเศรษฐกิจได้ดี เพราะความแตกต่างและความเข้าใจลูกค้า

     เอเอฟพี ระบุว่า เลิฟโฮเต็ลในญี่ปุ่นสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า ไล่ตั้งแต่การตกแต่งห้องสารพัดสไตล์ ทั้งคลินิกรักที่คนรู้ใจสามารถเล่นบทหมอกับพยาบาลเพิ่มสีสันแห่งรักได้ รวมไปถึงห้องสำหรับคู่รักนักปาร์ตี้คริสต์มาสที่ไม่ต้องรอฉลองถึงเดือนธันวาคม

     

     นอกจากนี้ รังรักชั่วคราวยังมีบริการรายชั่วโมงในราคาที่สมเหตุสมผล ท่ามกลางความเจริญที่ทำให้ค่าครองชีพในแดนซามูไรแพงติดอันดับต้นๆ ของโลก และตอบสนองแขกที่มาพักด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ไม่เฉพาะที่มาเป็นคู่เท่านั้น คนที่อยากงีบหลับพักสายตาก็มาได้

     น่าสนใจว่า อัตราการเข้าพักในเลิฟโฮเต็ลเหล่านี้ดีจนหลายธุรกิจต้องอิจฉา และทำผลงานได้ดีแม้ในช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในภาวะยากลำบาก ถือเป็นธุรกิจที่สามารถต้านทานภาวะเศรษฐกิจถดถอย และโกยรายได้เป็นกอบเป็นกำในช่วงวาเลนไทน์ที่ผ่านมา

     ช่วงใกล้เทศกาลแห่งความรัก ห้องพักในรังรักชื่อ “ทู-เวย์” ย่านชิบูยะ ในกรุงโตเกียว ช่วงเวลากลางวัน เหลือว่างแค่ 2 ห้อง จากทั้งหมดที่มี 34 ห้อง

     มาซาคัตสึ สึโนดะ ที่คลุกคลีกับธุรกิจห้องพักชั่วคราวมา 15 ปี และเป็นเจ้าของเลิฟโฮเต็ล 5 แห่ง อธิบายว่า ช่วงเวลานี้ของวันเป็นช่วงที่คู่รักนิยมมีสัมพันธ์แห่งรักกันมากที่สุด ส่วนตอนเย็นแขกส่วนใหญ่มักเป็นวัยรุ่น

     แนวคิดของเลิฟโฮเต็ลในญี่ปุ่นก็ยึดหลักพื้นฐาน นั่นคือ บริการห้องพักสำหรับค้างคืน หรือแค่ 2-3 ชั่วโมง สำหรับการพักผ่อนแบบประเดี๋ยวประด๋าว ขณะที่บางคู่ก็ต้องการห้องพักสำหรับนอนหลับอย่างจริงๆ จังๆ

     

     สึโนดะ บอกว่า ที่ควรจะเป็นคือ อัตราการเข้าพักของแต่ละห้องควรจะแบ่งเป็น 4 รอบใน 24 ชั่วโมง ได้แก่ รอบเช้า กลางวัน เย็น และกลางคืน

     โดยห้องพักทั่วไปแบบที่มีห้องอาบน้ำในตัว มีสนนราคาเริ่มต้นที่คืนละ 7,000 เยน ซึ่งถือว่าไม่แพงเกินไปในสังคมญี่ปุ่นที่ค่าครองชีพแพงขึ้นชื่อ ขณะที่ในช่วงเวลากลางวัน เลิฟโฮเต็ลบางแห่งคิดค่าบริการแค่ราว 2,000 เยน

     สำหรับรังรักแบบไฮเอนด์ก็มีอยู่มากมาย โดยจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งผ้าปูที่นอนคุณภาพดี ทีวีจอแบนรุ่นล่าสุด แถมบริการสิ่งบันเทิงเฉพาะผู้ใหญ่ อาทิ เกม รวมถึงกระจกติดผนัง และอ่างอาบน้ำ

     ขณะเดียวกัน การตกแต่งห้องก็มีหลายสไตล์เพื่อเอาใจลูกค้าที่ต่างรสนิยม ตั้งแต่ห้องแนวแปลกที่มีผ้าปิดปาก แส้และหนัง ไปจนถึงห้องที่ตกแต่งแบบหนังสตาร์วอร์ส และปราสาทยุโรปในยุคกลาง

     ลูกค้าบางคนมองว่า ห้องพักเหล่านี้ไม่ได้รองรับเฉพาะคู่รักฉาบฉวย แต่ยังต้อนรับคู่แต่งงานที่ต้องการเพิ่มสีสันให้ความสัมพันธ์ไม่จำเจ

     ที่ลืมไม่ได้คือ ธุรกิจนี้ต้องให้ความสำคัญกับการปกปิดความลับของลูกค้า เลิฟโฮเต็ลเหล่านี้จึงออกแบบให้คู่รักสามารถเช็กอินและเช็กเอาต์โดยไม่จำเป็นต้องพบกับพนักงาน แต่ใช้วิธีโชว์ห้องพักแบบต่างๆ ไว้ที่ล็อบบี้ แล้วให้ลูกค้าเลือกพร้อมชำระค่าบริการที่เครื่องอัตโนมัติ จากนั้นพนักงานก็จะมอบกุญแจห้องผ่านช่องเล็กๆ ที่ไม่เห็นหน้าเห็นตากัน หรือหากมีพนักงานก็จะเน้นความสุภาพและระวังเรื่องความเป็นส่วนตัวของลูกค้ามาก

     

     ที่จริงแล้ว ธุรกิจเลิฟโฮเต็ลในญี่ปุ่นเริ่มมีมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 แล้ว แต่มาบูมมากในทศวรรษ 1950-1960 เพราะคนญี่ปุ่นต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น จากที่สมาชิกในครอบครัวต้องอาศัยรวมกันในอพาร์ตเมนต์ขนาดเล็ก จึงต้องนอนในห้องเดียวกันหมด ทำให้ธุรกิจโรงแรมเบ่งบาน เน้นก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีหลายๆ ห้อง มีเตียงนอนขนาดใหญ่ ทีวี และสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนที่บ้าน

     กระทั่งยุค 1970 เจ้าของโรงแรมก็เริ่มปรับเปลี่ยน หันมาดีไซน์และตกแต่งห้องให้ตอบสนองรสนิยมที่หลากหลายมากขึ้น ตั้งแต่ห้องแนวปราสาทสมัยเก่า และห้องที่มีเตียงแบบพับเก็บได้ พอมาถึงช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งเศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญกับฟองสบู่ แต่เลิฟโฮเต็ลกลับบูมมาก

     ประเมินกันว่า ปัจจุบันมีผู้ให้บริการเลิฟโฮเต็ลในญี่ปุ่นราว 30,000 ราย และมีมูลค่าทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ปีละ 4  ล้านล้านเยน

     ขณะที่ธุรกิจนี้เฟื่องฟูมาได้ตลอดหลายสิบปี แม้แต่ในช่วงหลังฟองสบู่แตก ประกอบกับอินเตอร์เน็ตมีส่วนผลักดันให้ธุรกิจเลิฟโฮเต็ลขยายตัว เพราะสมัยก่อนคู่รักมักจะมองหารังรักแห่งแรกๆ ที่พบเจอบนท้องถนน แต่ทุกวันนี้พวกเขาสามารถใช้สมาร์ตโฟนเสิร์ชหาสถานที่พลอดรักแบบที่ชอบ พร้อมกับเปรียบเทียบกับคู่แข่งรายอื่น ก่อนตัดสินใจเลือก

      แม้จะเป็นธุรกิจที่ยืนยงคงกระพันคู่สังคมญี่ปุ่นมานาน แต่ผู้จัดการของเดอะ ร็อก เลิฟโฮเต็ล สไตล์บ้านผีสิงในโตเกียว ยอมรับว่า เป็นเรื่องยากสำหรับโรงแรมที่จะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง รวมถึงหาสิ่งต่างๆ ที่ลูกค้าไม่มีใช้ที่บ้าน