สตาร์ตอัพ…บุกห้องครัว! เปิดบ้านเสิร์ฟอาหารแขกแปลกหน้า

ชีวิตคนเมืองอาจมีทางเลือกหลากหลาย ทั้งเรื่องอาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้ ไลฟ์สไตล์ในแบบที่ชื่นชอบ แต่บางครั้งเราก็โหยหาสิ่งที่ขาดหายในชุมชนเมือง

เว็บไซต์สเตรตส์ไทม์สของสิงคโปร์ หยิบยกเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมเมืองอันเร่งรีบและต่างคนต่างอยู่ เป็นการรุกคืบของเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ที่มาเคาะถึงประตูห้องครัว

นั่นคือ เทรนด์แบ่งปันอาหารระหว่างคุณแม่บ้านที่รักการทำอาหารและพร้อมเปิดบ้านให้แขกแปลกหน้ามาร่วมมื้อค่ำ กับลูกค้าที่ต้องการเมนูแบบที่ชอบและได้กลิ่นอายเหมือนนั่งกินที่บ้าน

เทรนด์นี้เกิดขึ้นในสิงคโปร์มาระยะหนึ่งแล้ว จนเริ่มมีบริษัทน้องใหม่ หรือสตาร์ตอัพ อย่างน้อย 5 แห่ง กระโดดเข้าร่วมธุรกิจนี้ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น “ไดน์ อินน์” (Dine Inn), “แชร์ ฟู้ด สิงคโปร์” (Share Food Singapore), “ฮุค” (Hcook), “ฮาร์ตแลนด์ เชฟ” (Heartland Chefs) และ “ยัมมี่แบงก์” (YummyBank)

โดยสตาร์ตอัพเหล่านี้จะสร้างสรรค์เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นที่เป็นตัวกลางระหว่างเหล่าแม่บ้านที่รักการทำกับข้าวและลูกค้า

ธุรกิจอาหารอารมณ์บ้านๆ นี้เริ่มต้นจากลูกค้าเข้าเว็บไซต์หรือแอพในการค้นหาข้อมูล ซึ่งจะแยกเป็นหมวดเมนูอาหาร และทำเลที่ตั้งบ้านแม่ครัวที่ร่วมโครงการ จากนั้นก็ดูภาพอาหาร คำบรรยาย รวมถึงความคิดเห็นของลูกค้าที่เคยอุดหนุนมาแล้ว หากสนใจเมนูอาหารของแม่บ้านคนไหนก็สามารถคุยกันได้โดยตรง

สำหรับสนนราคาก็ขึ้นอยู่กับเมนูอาหารที่สั่ง ส่วนการชำระเงินก็ทำได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการจ่ายเงินสดเมื่ออาหารดีลิเวอรี่มาถึงมือ รวมถึงบัตรเครดิต ซึ่งหากลูกค้าสั่งอาหารไม่มากก็อาจจะเสียค่าจัดส่งแพงกว่าเมื่อเทียบกับลูกค้าที่สั่งเมนูจำนวนมาก

จากข้อมูลพบว่า ความต้องการในธุรกิจแบ่งปันอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีคำสั่งซื้อราวๆ 40-200 ครั้ง ต่อสัปดาห์

บรรดาแม่ครัวที่พร้อมทำอาหารเสิร์ฟแขกแปลกหน้า ซึ่งอยู่ในสังกัดบริษัทสตาร์ตอัพแต่ละแห่ง ก็มีจำนวนราวๆ 100-400 คน ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านและคนทำงานที่ชอบทำอาหารในยามว่าง

“ลิลี่ หว่อง” เป็นตัวอย่างหนึ่งของแม่บ้านที่ยอมเปิดใจให้แขกมาร่วมกินข้าวในบ้าน ซึ่งเป็นแฟลตของรัฐบาลที่มีขนาด 4 ห้อง

เธอเริ่มทำธุรกิจวันแรก โดยใช้เวลานานถึง 5 ชั่วโมง เพื่อเตรียมกับข้าวให้แขกผู้หญิง 2 คน ที่สั่งอาหาร 4 เมนู รวมถึงไก่อบสับปะรดกับขิง และซุปรากบัว ซึ่งมีราคาอยู่ที่คนละ 40 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเกือบๆ 1,000 บาท

“หว่อง” บอกว่า เธอสนุกกับการทำกับข้าว แต่ก็มีแค่สามีเท่านั้นที่ได้ลิ้มลองอาหารฝีมือของเธอ บริการแบ่งปันอาหารแบบนี้จึงเป็นวิธีที่ดีในการหาคนอื่นๆ มาทดลองกินอาหารที่เธอทำ และแลกเปลี่ยนเคล็ดลับในการทำอาหารกับเพื่อนใหม่

แต่ผู้ที่จะเปิดบ้านเสิร์ฟอาหารให้ลูกค้าแปลกหน้าได้ จะต้องได้รับอนุญาตจากทางการในการเตรียมอาหารปริมาณไม่มากเพื่อการค้า รวมทั้งจะต้องไม่รบกวนเพื่อนบ้าน ซึ่งบริษัทคนกลางจะจำกัดการทำอาหารของแม่บ้านแต่ละคนด้วย

เทรนด์การกินอาหารแบบนี้ยังช่วยเติมเต็มช่องว่างในตลาดอาหารท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง “ลู เปย เวิน” ผู้อำนวยการบริหารของแชร์ ฟู้ด สิงคโปร์ อธิบายว่า ลูกค้าหลายคนคิดไม่ออกว่าอยากกินอะไรในศูนย์อาหาร ซึ่งมีแต่ร้านแฟรนไชส์ที่ขายอาหารซ้ำๆ กัน

บริการแบ่งปันอาหารยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ซึ่งผู้บริโภคที่เข้าใจอินเตอร์เน็ตขับเคลื่อนผ่านการแบ่งปันทรัพย์สินและบริการต่างๆ เช่น แบ่งปันห้องพัก แบ่งปันรถยนต์ในเวลาที่เจ้าของไม่ได้ใช้

“ลุค ลี” ผู้ก่อตั้งไดน์ อินน์ บอกว่า ผู้คนเปิดกว้างและรู้สึกสะดวกในการแบ่งปันกันมากขึ้น ซึ่งในกรณีนี้คือ แบ่งปันห้องครัว โดยมีผู้สมัครเป็นแม่ครัวเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ลูกค้าก็ชื่นชอบการผจญภัยและประสบการณ์การกินอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

อีกแง่หนึ่ง โมเดลนี้ก็ช่วยให้แม่บ้านที่มีรายได้น้อย สามารถประกอบอาชีพเสริมโดยไม่ต้องลงทุนอะไรมาก

ทว่าการแบ่งปันอาหารเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม ความท้าทายของธุรกิจนี้ก็คือ ความมั่นใจเรื่องสุขอนามัย ทำให้หลายบริษัทต้องเปิดคอร์สอบรมแก่แม่บ้านที่ร่วมโครงการ ตรวจสอบสภาพบ้านพักและห้องครัว รวมถึงทำประกันเผื่อเกิดกรณีอาหารเป็นพิษ

ขณะเดียวกัน บางบริษัทก็ขยายช่องทางใหม่ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าเพิ่มขึ้น อย่างกรณีของ “ยัมมี่แบงก์” ที่เพิ่งเปิดตัวบริการ “ยัมมี่ลันช์” (YummyLunch) ซึ่งเป็นบริการทำกล่องข้าวมื้อกลางวัน สำหรับลูกค้ากลุ่มพนักงานออฟฟิศที่ไม่ได้มีเวลามากนัก

นับเป็นความคิดสวนกระแส ไม่ต้องรอให้ลูกค้าเข้ามาสั่งอาหารและกินที่บ้าน แต่เป็นการผลักอาหารออกไปหาลูกค้า เป็นการเพิ่มความต้องการบริโภคจากเดิม

………..

ที่มาภาพ

http://www.straitstimes.com

https://c1.staticflickr.com

https://alainlicious.files.wordpress.com

Logo Large

Homepage