ผู้เขียน | นันทนา ปรมานุศิษฏ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ชาวไทยเราตื่นเต้นกับฟักข้าวว่าเป็นสุดยอดอาหารเมื่อไม่กี่ปีมานี้ หลังจากที่ปล่อยให้ลูกฟักข้าวห้อยโตงเตงเน่าคาค้างอย่างไม่มีใครสนใจใยดีมาเป็นศตวรรษ เมื่อค้นพบว่าสีแดงในเยื่อหุ้มเมล็ดและสีเหลืองของเนื้อของผลฟักข้าวสุกนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระ มีเบต้าแคโรทีนสูงกว่าแคร์รอต และมีไลโคปีนมากกว่ามะเขือเทศอย่างทิ้งห่างหลายเท่าตัว ชาวต่างชาติรู้จักลูกไม้ชนิดนี้ในชื่อของ “Gac” ที่มาจาก “Gấc” ในภาษาเวียดนาม “แก๊ก” หรือ “กั๊ก” ออกเสียงก้ำกึ่งกัน ชาวเวียดนามรู้จักนำสีแดงจากเยื่อหุ้มเมล็ดนี้มามูนข้าวเหนียว มานานแต่โบราณ
ข้าวเหนียวของเวียดนามมีสารพัด หลากหลายมากทั้งคาวหวาน เช่น ใส่ไก่ หรือใส่หมู และเครื่องในพะโล้เป็นแบบคาว หรือใส่ธัญพืชนานาชนิดทั้งข้าวโพด ถั่วทอง ถั่วลิสง และใส่แก๊ก เป็นแบบหวานที่เรียกว่า “โซยแก๊ก” หรือ “โซยกั๊ก” (Xôi gấc) แปลตรงๆ ว่า ข้าวเหนียวแก๊ก
โซยแก๊กนี้ถือว่าเป็นข้าวเหนียวมูนที่นิยมกินกันในงานมงคล ทั้งงานแต่งงาน งานฉลองเทศกาลตรุษญวน หรือ เต็ต (Tết) ใช้เซ่นไหว้ขอบคุณเทพยดาฟ้าดินที่ช่วยคุ้มครองปกปักรักษาพืชผลทางการเกษตร ด้วยความเชื่อว่า สีแดงเป็นสีมงคล เป็นสีแห่งโชคลาภ นอกจากนี้แล้วยังนิยมกินกันทั่วไป ร้านที่ขายข้าวเหนียวนึ่งชนิดต่างๆ จะต้องมีข้าวเหนียวมูนฟักข้าวนี้ด้วยเสมอ ข้าวเหนียวชนิดนี้เป็นแบบหวาน แต่รสชาติจะหวานน้อยกว่าข้าวเหนียวมูนบ้านเรา
วิธีทำ เขาจะนำข้าวเหนียวไปแช่น้ำข้ามคืน แล้วนำมาผึ่งให้สะเด็ดน้ำ ระหว่างนั้นก็ผ่าผลฟักข้าว ตักเอาแต่ส่วนรกที่เป็นสีแดงสดพร้อมเมล็ด ใส่เหล้าขาวลงไป 1 ช้อน แช่ทิ้งไว้สักครู่จึงนำมาคลุกกับข้าวจนมีสีแสดทั่วเมล็ดข้าว แล้วเลือกเมล็ดออกให้หมด ใส่เกลือลงไปปลายช้อน คลุกให้เข้ากัน แล้วนำไปนึ่งให้สุกใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที เมื่อข้าวเหนียวสุกดีแล้วก็ใส่กะทิที่ผสมน้ำตาลทรายลงไป ใช้ตะเกียบตะกุยให้ทั่วถึงกัน แล้วจึงนึ่งต่ออีก 5 นาทีก็จะได้ข้าวเหนียวมูนสีส้มสวยสดรสหวานอ่อนๆ
การกินนั้นเขาจะเอามือแมวขูดมะพร้าวทึนทึกมาโรยหน้า หรือไม่ก็หั่นหมูยอมากินด้วยกัน นับว่าเข้ากันได้ดีทีเดียว เท่าที่ฉันเห็นนอกจากที่นำฟักข้าวมานึ่งข้าวเหนียวที่นิยมมากที่สุดแล้ว ก็ยังเห็นเขาทำเต้าหู้หลอดใส่ฟักข้าวด้วย มีสีโอลด์โรส รสชาติก็เหมือนเต้าหู้หลอดทั่วไปแต่เพิ่มคุณค่ามากขึ้น ลองเปลี่ยนจากน้ำฟักข้าว มาเป็นข้าวเหนียวมูนแบบเวียดนามนี้บ้างก็เข้าทีดีค่ะ