ทำงานไม่มีบ่น “หุ่นยนต์ครัว” อนาคตใหม่ของธุรกิจอาหารจานด่วน

ทำงานไม่มีบ่น
ทำงานไม่มีบ่น "หุ่นยนต์ครัว" อนาคตใหม่ของธุรกิจอาหารจานด่วน

ทำงานไม่มีบ่น “หุ่นยนต์ครัว” อนาคตใหม่ของธุรกิจอาหารจานด่วน

โรโบอีทซ์ (Roboeatz) เป็นร้านอาหารเล็กๆ ใต้สะพานคอนกรีตเก่าๆ ในกรุงริกา สาธารณรัฐลัตเวีย แต่ คอนสแตนตินส์ คอร์จอมกินส์ และ เจนิส โพรักส์ เจ้าของร้าน มีความฝันที่ยิ่งใหญ่ว่า คิทเช่น โรบอต หรือ “หุ่นยนต์ครัว” ที่พวกเขาช่วยกันออกแบบ และใช้อยู่ที่โรโบอีทซ์ จะมาช่วยสร้างอนาคตใหม่ให้แก่ ธุรกิจอาหารจานด่วน

โรโบอีทซ์ (Roboeatz) เป็นร้านอาหารเล็กๆ ใต้สะพานคอนกรีต (ภาพจากเอเอฟพี)
โรโบอีทซ์ (Roboeatz) เป็นร้านอาหารเล็กๆ ใต้สะพานคอนกรีต (ภาพจากเอเอฟพี)

ทันทีที่มีออร์เดอร์สั่ง “พาสต้า” เข้ามา ด้วยเวลาแค่ 5 นาที แขนกลของหุ่นยนต์ ก็สามารถทำพาสต้าร้อนๆ น่ากินออกมาได้

“รสชาติอาหารดีกว่าที่ฉันคาด” อีวาทา ราทินิกา ครูในกรุงริกา หนึ่งในลูกค้าของโรโบอีทซ์ บอก และว่าเธออยากชวนให้ลูกศิษย์ของเธอ มาดูการทำงานของหุ่นยนต์ครัวที่นี่ ขณะที่เธอเองยังแอบคิดด้วยว่า เป็นไปได้ที่อีก 2-3 ปีข้างหน้าอาจมีหุ่นยนต์ครัวแบบนี้เปิดให้บริการที่โรงอาหารโรงเรียน

หุ่นยนต์ครัว กำลังปรุงอาหาร (ภาพจากเอเอฟพี)
หุ่นยนต์ครัว กำลังปรุงอาหาร (ภาพจากเอเอฟพี)

ที่ร้านโรโบอีทซ์ นอกจากมีบริการแบบสั่งกลับ สั่งอาหารผ่านแอพโรโบอีทซ์ ยังมีพื้นที่สำหรับนั่งรับประทานอาหาร แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ชอบซื้อแบบสั่งกลับมากกว่า เพราะหากจะนั่งรับประทานในร้าน ต้องมีใบรับรองว่า ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้ในลัตเวีย เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19

คอนสแตนตินส์ และ เจนิส เปิดร้าน โรโบอีทซ์ เมื่อปี 2561 หลังจากทั้งคู่ทำธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อ Woki Toki เมื่อปี 2552 โดยตั้งเป้าหมาย ต้องการปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารจานด่วน

“หุ่นยนต์นี้สามารถแทนแรงงานคนได้ถึง 4-6 คน สามารถช่วยลดต้นทุนค่าแรงงานได้อย่างมาก” เจนิส ซึ่งมีความรู้พื้นฐานทางวิศวกรรมบอก แต่ยืนยันว่า การนำหุ่นยนต์มาใช้ จะไม่เพิ่มอัตราการว่างงานอย่างแน่นอน เพราะ “คนไม่ได้ต่อแถว อยากได้งานพลิกเบอร์เกอร์ กันซะที่ไหน หุ่นยนต์ไม่ได้เข้ามาแทนที่คนที่อยากจะทำงานในร้านอาหาร อย่างเช่นคนที่อยากเป็นเชฟ หรือคนดังด้านอาหารอื่นๆ แต่หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานที่ค่าแรงต่ำ ที่ไม่มีใครอยากทำ”

จากรายงานของเอพี เล่าว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีด้านครัวอัตโนมัติ ได้รับความสนใจ และยิ่งเพิ่มมากขึ้นจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเช่นที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ก็มีร้านอาหาร ที่ลูกค้าสามารถนั่งมองหุ่นยนต์อบ และบรรจุพิซซ่าใส่กล่องได้ 80 กล่องต่อชั่วโมง หรือที่สหรัฐอเมริกา ก็มีหุ่นยนต์ชื่อ “แซลลี” ผลงานของ สตาร์ตอัพ Chowbotics สามารถทำสลัดที่ขายผ่านเครื่องขายอาหารอัตโนมัติได้

คอนสแตนตินส์ คอร์จอมกินส์ ผู้ร่วมก่อตั้ง (ภาพจากเอเอฟพี)
คอนสแตนตินส์ คอร์จอมกินส์ ผู้ร่วมก่อตั้ง (ภาพจากเอเอฟพี)

ขณะที่อังกฤษเมื่อปีที่แล้ว ก็มีการเปิดตัวหุ่นยนต์ครัวเต็มรูปแบบ วางขายในราคา 248,000 ปอนด์ หรือราว 11,457,600 บาท

หุ้นส่วนทั้งสอง เล่าถึงการออกแบบหุ่นยนต์ครัวที่พวกเขาใช้อยู่ตอนนี้ว่า สามารถช่วยทำงานในขั้นตอนเตรียมอาหาร ขณะที่พวกเขากำลังพยายามปรับปรุงพัฒนาเรื่องความปลอดภัยของอาหาร และลดความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในห้องครัวที่มีคนอยู่มาก และว่าต่อไป ครัวหุ่นยนต์สามารถตั้งโปรแกรมให้ทำอาหารได้หลายร้อยสูตร และสามารถตั้งโปรแกรมทำอาหารตามสูตรที่เจ้าของหุ่นยนต์ครัวต้องการ และการแพ้อาหาร

“โรบอตอาร์ม หรือ แขนกลอัตโนมัติ สร้างปัญหาน้อยมาก เราแค่ตั้งโปรแกรมให้โรบอตอาร์มทำในสิ่งที่เราต้องการ” คอนสแตนตินส์ บอก และเล่าว่า “ความท้าทายจริงๆ ก็คือ การออกแบบและประดิษฐ์ครัวทั้งหมดรอบหุ่นยนต์ ซึ่งควรจะประกอบด้วย ส่วนผสมอาหารทั้งหมด เครื่องเทศ และเครื่องปรุงรส รวมทั้งอุปกรณ์หม้อสำหรับต้ม และทอดอาหาร”

 (ภาพจากเอเอฟพี)
(ภาพจากเอเอฟพี)

หวังให้ได้รับความนิยมเหมือนรถไฟฟ้า

คอนสแตนตินส์ และ เจนิส คิดว่า เงินที่พวกเขาลงทุนกับครัวหุ่นยนต์นี้ น่าจะสามารถคืนทุนในเวลาเกือบ 2 ปี

“โดยเฉลี่ยแล้ว ในสหภาพยุโรป พนักงานในครัว 1 คน ทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายราว 16 ยูโรต่อชั่วโมง ราว 740 บาท ซึ่งรวมทั้งเงินเดือน ภาษี ค่าประกัน ค่าฝึกอบรมและทุกๆ อย่าง แต่หุ่นยนต์ไม่จำเป็นต้องมีประกันสุขภาพ ไม่มีลูกที่สามารถเจ็บป่วย ไม่ต้องลาพักร้อน ไม่ต้องลาคลอด ทำงานแบบไม่มีบ่น และไม่สามารถนำโควิดจากบ้านมาติดในที่ทำงาน” เจนิส บอก

เมนูอาหารที่หุ่นยนต์ปรุง (ภาพจากเอเอฟพี)
เมนูอาหารที่หุ่นยนต์ปรุง (ภาพจากเอเอฟพี)

หุ้นส่วนทั้งสอง บอกว่า ตอนนี้บริษัทของพวกเขามีแผนจะขยายสำนักงานขายไปยังแคนาดา สหรัฐอเมริกา ขณะที่ทีมงานในกรุงริกา กำลังพัฒนาโปรแกรมหุ่นยนต์ และว่า พวกเขาไม่วิตกเกี่ยวกับการแข่งขันในหุ่นยนต์ที่ทำงานคล้ายๆ กัน อย่าง หุ่นยนต์ทำพิซซ่าในฝรั่งเศส

“เพราะหุ่นยนต์ของเรา ถูกออกแบบให้ทำงานได้หลายอย่าง มากกว่าแค่ทำพิซซ่า เป้าหมายของเราคือสร้างหุ่นยนต์ที่มีประโยชน์สำหรับอาหารหลายประเภท ด้วยความหวังอย่างยิ่งว่า สักวันหุ่นยนต์ในครัวจะได้รับความนิยมเหมือนรถไฟฟ้า”