ปลาส้มฟัก การเดินทางของปลาจากเมืองพวน

หลายเดือนที่ผ่านมาฉันเทียวไล้เทียวขื่อ ไปกินนอนฝากท้องอยู่ที่ลพบุรีเสียหลายสิบมื้อ เข้าร้านอาหารไทยพวนอยู่บ่อยๆ ก็พยายามพินิจว่าอาหารพวนคืออะไร เพราะเมนูส่วนใหญ่ก็เหมือนกับอาหารไทยเราดีๆ นี่เอง

ที่เห็นเด่นชัดเป็นอัตลักษณ์ของอาหารพวนคือ อาหารที่ใส่ปลาร้า และปลาส้ม ที่ทำมาจากปลาเกล็ดน้ำจืด โดยเฉพาะปลาตะเพียนทั้งตัวนำมาหมักกับเกลือ ข้าวสุก และกระเทียมจนมีรสเปรี้ยวนำไปทอด รสเค็มๆ เปรี้ยวๆ เจริญอาหารดีนักแล กับอีกอย่างหนึ่งที่มักขายคู่กันคือ “ปลาส้มฟัก” ที่กรรมวิธีทำนั้นคล้ายกันเพียงแต่นิยมใช้ปลาหนังจำพวกปลากรายมาขูดเอาเนื้อสับให้เหนียวแล้วหมักด้วยเครื่องหมักที่เหมือนกับปลาส้ม ห่อใบตอง หรือห่อในถุงพลาสติกหมักจนเปรี้ยวก็กินได้เช่นเดียวกับแหนม หรือที่นิยมกันก็จะนำมาทอดกินแนมกับถั่วลิสงทอด ขิง หอมแดง และพริกขี้หนูสด รสชาติทำนองเดียวกับแหนมเพียงแต่เปลี่ยนจากเนื้อหมูมาเป็นเนื้อปลา

ชาวลาวนอกจากจะนำไปทอดแล้วยังนำไปคั่วกับพริก ขิง กระเทียม ที่โขลกหยาบๆ คั่วแห้งๆ ซึ่งใส่ได้ทั้งเนื้อปลาส้มที่นำไปสับหยาบๆ และปลาส้มฟัก แล้วใส่ต้นหอมและผักชีซอย

ฉันเปิดดูพจนานุกรมภาษาไทยพวนได้ความว่า “ฟัก” เป็นคำกริยา แปลว่า สัน หรือฟันถี่ๆ ปลาส้มฟักก็หมายถึง การนำปลามาสับนั่นเอง ทั้งปลาส้มและปลาส้มฟักเป็นของขึ้นชื่อของชาวไทยพวนลพบุรีที่มักซื้อหากันเป็นของฝาก ซึ่งมีต้นสายมาจากชาวพวนแห่งเมืองพวนในสปป.ลาว ซึ่งปัจจุบันอยู่ในแขวงเชียงขวางทางตะวันออกติดกับประเทศเวียดนาม

ชาวพวนอพยพจากลุ่มน้ำพวนมาสู่ลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำบางปะกงในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์และหัวเมืองต่างๆ ที่เรียกรวมกันว่าหัวพันทั้งห้าทั้งหก อันมีเมืองคำม่วน เมืองคำเกิด เมืองเวียงไชย เมืองไพศาลลี เมืองซำเหนือ และเมืองเชียงขวาง กวาดต้อนมาอยู่ที่เมืองสระบุรี ลพบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ยังมีการกวาดต้อนชาวพวนอีกหลายระลอกคือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  และสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมๆ แล้วมีชาวพวนอยู่ในประเทศไทยถึง 15 จังหวัด ซึ่งยังคงสืบทอดวัฒนธรรมไว้ได้ดี  มีฝีมือในการทอผ้ามัดหมี่และตีนจก

หากมีโอกาสไปเยือนถิ่นชาวพวนอย่าลืมซื้อปลาส้มฟักมาลองลิ้มชิมรสกันนะคะ