“ชาหมัก” เครื่องดื่มมาแรง ยอดขายพุ่งในอเมริกา เชื่อกันว่า มีประโยชน์กว่าดื่มน้ำอัดลม

เครดิตภาพจาก AFP

“ชาหมัก” เครื่องดื่มมาแรง ยอดขายพุ่งในอเมริกา เชื่อกันว่า มีประโยชน์กว่าดื่มน้ำอัดลม

สมัยนี้นอกจาก “ของอร่อย” ของดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพก็เป็นของ “ขึ้นหม้อ” ขึ้นห้าง เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจกับการดูแลสุขภาพกัน ล่าสุดก็มีข่าวว่าเครื่องดื่มที่เรียกกันว่า คอมบูชา (kombucha) หรือ “ชาหมัก” กำลังเป็นเครื่องดื่มมาแรง มียอดขายพุ่งในสหรัฐอเมริกา โดยจากข้อมูลของบริษัท นีลเซ็น บริษัทวิจัยทางการตลาดพบว่า เมื่อปี 2561 ชาหมักมียอดขายในสหรัฐอเมริกาเป็นเงินถึง 412 ล้านดอลลาร์ หรือราว 12,772 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 42% จากปี 2560

ในรายงานของเอเอฟพี เล่าว่า ชาหมักที่แม้ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลที่รู้ถึงส่วนผสมอย่างแน่ชัด อีกทั้งยังไม่มีผลการศึกษาอย่างเป็นทางการว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพจริงหรือไม่ แต่เชื่อกันว่า เป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลต่ำ และมีส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติ และเป็นประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร ทุกวันนี้มีวางขายอยู่ในห้างวอลมาร์ตและร้านค้าทั่วสหรัฐอเมริกา ที่มีชาหมักวางขายอยู่เกือบ 10 ยี่ห้อ

เครดิตภาพจาก AFP

อเล็กซ์ อินกอลส์ เจ้าของชาหมักยี่ห้อไพลอต คอมบูชา (Pilot Kombucha) ที่เปิดตัวเมื่อปี พ.ศ. 2558 เชื่อว่า ความนิยมชาหมักมาจากปัจจัยหลายอย่าง อย่างเช่น จากกลุ่มคนที่ดื่มชาหมักมาเป็นเวลานานหลายปี เพราะเชื่อว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะระบบย่อยอาหาร โดยเชื่อว่าในกระบวนการหมักชาหมัก ได้ก่อให้เกิดจุลินทรีย์และยีสต์สายพันธุ์ดีหรือโพรไบโอติกส์ปริมาณมาก ซึ่งดีต่อระบบย่อยอาหารของร่างกาย ซึ่งจะไปช่วยการเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้

อีกปัจจัยก็คือ กลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ ที่เชื่อว่า อย่างน้อยการดื่มชาหมัก ก็มีประโยชน์กว่าการดื่มน้ำอัดลม หรือแม้แต่น้ำผลไม้ เพราะว่ามีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่า

“ทุกวันนี้ ทุกคนต่างระวังเกี่ยวกับการบริโภคน้ำตาล พวกเขาพยายามดื่มน้ำอัดลมให้น้อย แม้แต่น้ำอัดลมแบบไดเอต” อเล็กซ์ อินกอลส์ บอก

เครดิตภาพจาก AFP

เรนาตา ออนแมน หนึ่งในผู้ดื่มชาหมัก และสนใจเข้าคลาสเรียนทำชาหมักดื่มเอง ซึ่งสอนโดย เชอริล พาสวอเตอร์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Contraband Ferments บอกว่า “เป็นเพราะฉันไม่อยากดื่มน้ำอัดลมมากเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้น เมื่อฉันมองหาเครื่องดื่มที่มีรสชาติ ฉันจึงคิดว่าชาหมัก เป็นทางเลือกที่ดี”

ซาราห์ กิลเบิร์ก  หนึ่งในผู้สนใจอีกคนที่เข้าคลาสเรียนทำชาหมักดื่มเอง ซึ่งสอนโดย เชอริล พาสวอเตอร์ บอกว่า “ฉันพยายามกินของที่ประโยชน์ต่อร่างกายเท่าที่ฉันสามารถทำได้ และฉันก็คิดว่าชาหมักเป็นเครื่องดื่มยามว่างที่ดีสำหรับตอนบ่าย ดื่มแล้วฉันรู้สึกมีกำลัง”

กิลเบิร์ก เล่าว่า ที่เธอตัดสินใจมาเข้าคลาสเรียนทำชาหมัก เพราะ “แทนที่จะไปซื้อชาหมักดื่มสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทำเอง มันประหยัดเงินกว่า”

ทั้งนี้ อเล็กซ์ อินกอลส์ เชฟทำอาหารที่ผันตัวมาทำชาหมักขาย เล่าว่า 4 ปีที่ผ่านมา บริษัทไพลอต คอมบูชา ของเธอผลิตชาหมัก 368,000 ลิตรต่อปี วางขายตามร้านค้าต่างๆ 400 แห่ง และเป็นหนึ่งในชาหมักแบรนด์แรกๆ ของนิวยอร์ก ทั้งยังคาดว่า ผลผลิตของเธอจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในตลาดชาหมักตอนนี้ นอกจากชาหมักเจ้าใหญ่อย่าง GT’S อเล็กซ์ยังจะมีคู่แข่งอย่าง บริษัท PepsiCo ที่ซื้อชาหมักยี่ห้อ KeVita มาเมื่อปี 2559 และ บริษัท Coca-Cola ซึ่งลงทุนผลิตชาหมักยี่ห้อ Health-Ade มาหลายปีแล้วเช่นกัน