ผู้เขียน | รัตติกรณ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กระดาษวาชิ บางเฉียบเหมือนปีกแมลงเม่า คนญี่ปุ่นใช้รักษาของโบราณอายุ 800 ปี
จากครั้งหนึ่งที่ “กระดาษวาชิ” มีความใกล้ชิดกับวิถีชีวิตคนญี่ปุ่น ชนิดพูดได้ว่า แทบจะขาดกันไม่ได้ เนื่องจากกระดาษซึ่งมีเนื้อบางเฉียบราวกับหนังกำพร้าของมนุษย์ และเหนียว ทนทานมาก ได้ถูกนำไปใช้ประดิษฐ์ข้าวของเครื่องใช้หลายอย่าง ตั้งแต่ใช้เขียนหนังสือ วาดรูป ทำโคมไฟ ร่ม และบานประตูเลื่อนที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น แต่เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากชาติตะวันตกมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้กระดาษวาชิ ซึ่งมีอายุเก่าแก่มากว่า 1,300 ปี และได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ลดฮวบลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
แต่ทว่าตอนนี้ ที่โรงงานเล็กๆ ชื่อว่า “ชินเซ” ในเมืองฮิดากะ จังหวัดโคจิ ห่างจากกรุงโตเกียวไป 640 กิโลเมตร นายฮิโรโยชิ ชินเซ ทายาทรุ่นที่ 4 ของผู้ผลิตกระดาษวาชิ กำลังหาวิธีทำให้กระดาษที่ทรงคุณค่าของญี่ปุ่นกลับมาเป็นที่ต้องการอีกครั้งทั้งในบ้านและในต่างประเทศ ด้วยลักษณะการนำไปใช้งานที่พิเศษเฉพาะทางจริงๆ โดยที่ผ่านมากระดาษวาชิ จากโรงงานของฮิโรโยชิ ซึ่งได้ชื่อว่า มีเนื้อบางเฉียบที่สุดในโลก ได้ถูกนำไปใช้อนุรักษ์ ถนอมรักษาเอกสารทางประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ ระดับโลก และห้องสมุดชื่อดังหลายแห่ง รวมทั้งเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ของฝรั่งเศส, พิพิธภัณฑ์บริติช ของอังกฤษ และห้องสมุดรัฐสภา ในกรุงวอชิงตัน ดีซี ของสหรัฐอเมริกา ให้รอดจากการเปื่อย ผุพังย่อยสลายไปตามกาลเวลา
“กระดาษวาชิมีความยืดหยุ่นและทนทานมากกว่ากระดาษทางตะวันตก ซึ่งจะเสื่อมสภาพขาดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเมื่อมีอายุมากขึ้น หนังสือเก่าของญี่ปุ่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 หรือ 8 ทุกวันนี้ยังอยู่ในสภาพดีอยู่เลย ต้องขอบคุณเส้นใยจากต้นโคโซ” นายฮิโรโยชิ วัย 50 ปี บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี
ทั้งนี้ กระดาษวาชิ เป็นกระดาษทำมือ เป็นของเก่าแก่ของญี่ปุ่น ที่ทำขึ้นจากต้นโคโซ หรือ “ต้นหม่อน” ซึ่งมีเส้นใยยาวกว่าวัสดุที่ใช้ผลิตกระดาษในชาติตะวันตก ที่มักใช้เส้นใยไม้และฝ้าย
สำหรับกรรมวิธีผลิตกระดาษวาชิ ที่บางเฉียบราวกับ “ปีกแมลงเม่า” เริ่มต้นจากการนำต้นโคโซไปต้ม แล้วลอกเปลือกออก แล้วนำไปต้มอีกครั้งจนนุ่ม จากนั้นจึงนำมาล้างเอาสิ่งสกปรกออกด้วยมือในน้ำเปล่า ต่อจากนั้นเส้นใยจะถูกนำมาทุบและผสมด้วยกาวและน้ำ ก่อนจะนำไปวางไว้บนแผ่นไม้ แล้วแผ่นไม้นั้นจะถูกนำไปจุ่มลงน้ำหลายครั้ง และนำมาเขย่าจนของเหลวกระจายอย่างสม่ำเสมอ จึงนำไปผลิตเป็นแผ่นกระดาษ ด้วยเทคนิค กรรมวิธีที่ต้องใช้เวลาร่ำเรียนหลายปีกว่าจะเชี่ยวชาญ
เพราะคุณสมบัติของกระดาษวาชิที่เหนียว ไม่ฉีกขาดได้ง่ายๆ จึงสามารถนำไปใช้เพื่อรักษาเอกสารเก่าทางประวัติศาสตร์ให้อยู่คงทน ยาวนาน ด้วยการนำกระดาษวาชิไปหุ้มประกบเอกสารทางประวัติศาสตร์แต่ละแผ่นไว้ และคุณสมบัติของกระดาษวาชิที่บางเฉียบ ทำให้สามารถเห็นข้อความในแผ่นเอกสารทางประวัติศาสตร์ได้เหมือนไม่มีอะไรบดบังสายตา จึงเป็นข้อได้เปรียบกระดาษทางตะวันตก ที่มักจะมีความหนา 0.09 มิลลิเมตร มีน้ำหนักราว 70 กรัม ต่อตารางเมตร ขณะที่กระดาษวาชิ หนาเพียง 0.02 มิลลิเมตร มีน้ำหนัก 1.6 กรัม ต่อตารางเมตร เท่านั้น
“ด้วยความที่เนื้อกระดาษมีลักษณะเป็นตาข่าย เพราะทำจากเส้นใย มันจึงดูคล้ายกับผิวหนังของมนุษย์เลย” นายฮิโรโยชิ บอก
นายทากาโอะ มากิโนะ นักอนุรักษ์วัย 68 ปี สาธิตให้นักข่าวเอเอฟพี เห็นกรรมวิธีที่เขากำลังบรรจงแปะกระดาษวาชิลงบนแท่งไม้หุ้มทองคำ ของโบราณอายุราว 800 ปี เพื่อรักษาวัตถุโบราณล้ำค่านี้ไว้ ไม่ให้ชำรุดเสียหายมากไปกว่าเดิม พร้อมกับเล่าว่า “ผิวของแท่งไม้เริ่มชำรุด หลุดลอกออก ดังนั้น เราจึงใช้กระดาษวาชิมาหุ้มเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความชำรุดเพิ่มขึ้น กระดาษวาชิสามารถพันเข้ากับรูปทรงของรูปปั้น วัตถุต่างๆ ได้อย่างแนบสนิท ซึ่งกระดาษจากตะวันตกที่เส้นใยชุบสารเคมี หรือพวกแผ่นฟิล์มไม่สามารถทำได้ และจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็พิสูจน์แล้วว่า กระดาษวาชิ เหนียว ทนทาน และอยู่คงทนจริงๆ”
นายฮิโรโยชิ เล่าว่า เขาไม่เคยคิดที่จะสานต่อธุรกิจทำกระดาษวาชิของตระกูล แต่แล้ว บัณฑิต เจ้าของปริญญาสาขาบริหารธุรกิจจากเมืองซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา ก็ตัดสินใจบินกลับมาบ้านเกิด ด้วยสำนึกว่า “ที่ผมกลับมา ก็เพราะผมรู้สึกมันเป็นความรับผิดชอบที่ผมต้องส่งไม้ต่อให้แก่คนรุ่นต่อไป ได้อนุรักษ์ของทรงคุณค่านี้ไว้”
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2562