วิธีเลือกหน้ากาก รับมือฝุ่นเล็กๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก

ในช่วงที่ผ่านมาคนกรุงคงได้สัมผัสกับภาพยามเช้าที่มองเผินๆ ดูแล้วสวยสบายตา คล้ายหมอกจางๆ กำลังปกคลุมกรุงเทพฯ อยู่ แต่ความจริงแล้วสิ่งที่เห็นคือฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่กระจายตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วยปริมาณหนาแน่น

จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษชี้ว่าในบางพื้นที่และบางช่วงเวลา ปริมาณฝุ่นขนาดเล็กมีค่าสูงเกินกว่ามาตรฐานกำหนด มีผลต่อระบบทางเดินหายใจและโรคอื่นๆ ได้

แล้วเราจะอยู่ร่วมกับฝุ่นเล็กๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเล็กนี้อย่างไร

ในเมื่อยังแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือลดการเกิดฝุ่นไม่ได้ ก็ต้องรับมือที่ปลายเหตุโดยสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งหน้ากากที่มีขายในท้องตลาดมีมากมายหลายประเภท และมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกันไป 3 เอ็ม ผู้ผลิตหน้ากากประเภทต่างๆ ได้ให้ข้อมูล ดังนี้

หน้ากากอนามัย (surgical masks) ที่หลายคนคุ้นเคย ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของอนุภาคขนาดใหญ่จากผู้สวมใส่หน้ากาก (เช่น น้ำลาย น้ำมูก) ไปสู่บรรยากาศโดยรอบ หรือสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือในบริเวณปลอดเชื้อ รวมถึง อาจใช้เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการกระเด็นหรือละอองของเลือด (blood), ของเหลวในร่างกาย (body fluid), สารคัดหลั่ง (secretion) และของเสียจากการขับถ่าย (excretion) เข้าสู่ปากและจมูกของผู้สวมใส่ แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการกรองฝุ่นขนาดเล็กได้ และไม่แนบกระชับใบหน้าพอสำหรับป้องกันระบบหายใจให้กับผู้สวมใส่ ดังนั้น ขณะสวมใส่ระหว่างหายใจจึงมีอากาศจำนวนมากไหลผ่านช่องว่างระหว่างใบหน้ากับหน้ากากอนามัยได้

หน้ากากกรองอากาศ (respirators) ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยลดการรับสัมผัสสารปนเปื้อนในอากาศ เช่น ฝุ่นละออง อนุภาค แก๊ส หรือไอระเหย หน้ากากที่ดีมีประสิทธิภาพต้องแนบกระชับกับใบหน้า เพื่อให้อากาศที่เราหายใจเข้าไปถูกกรองผ่านชั้นกรองของหน้ากากโดยไม่รั่วตามช่องว่างระหว่างหน้ากากกับใบหน้า

ผู้สวมใส่ เพื่อประสิทธิภาพในการกรองอากาศและลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยหรือเกิดโรคจากอนุภาคปนเปื้อนในอากาศชนิดต่างๆ

หน้ากากกรองอากาศที่จะช่วยรับมือกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5, PM 10 รวมถึงช่วยลดการรับสัมผัสเชื้อก่อโรคต่าง ๆ อาทิ เชื้อรา ไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) ไวรัสไข้หวัดนก (avian flu) ไวรัสอีโบลา (ebola virus) แบคทีเรียก่อโรควัณโรค (mycobacterium tuberculosis) เป็นต้น จัดอยู่ในกลุ่มหน้ากากกรองอากาศสำหรับกรองอนุภาค (particulate respirator) การสวมใส่หน้ากากกรองอากาศชนิดกรองอนุภาค จึงช่วยลดการรับสัมผัสอนุภาคขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ระบบหายใจได้เป็นอย่างดี

กรณีฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ปนเปื้อนในอากาศเป็นปริมาณสูงนั้น วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ หลีกเลี่ยงการรับสัมผัสในช่วงเวลาที่มีปัญหามลพิษทางอากาศ ควรอยู่ในบ้านพัก อาคาร หรือในพื้นที่ที่มีอากาศสะอาด หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง แต่หากจำเป็นต้องออกไปทำกิจกรรมภายนอก ควรเลือกสวมหน้ากากกรองอากาศที่เหมาะสม แนบกระชับ มีรับรองมาตรฐานรับรอง และสวมใส่หน้ากากอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของผู้ผลิต เพื่อช่วยลดการรับสัมผัสอนุภาคปนเปื้อนต่างๆ เข้าสู่ระบบหายใจ

มาตรฐานรับรองของหน้ากาก เป็นตัวช่วยบอกประสิทธิภาพในการกรองอากาศ เป็นสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงเมื่อจะเลือกซื้อหน้ากาก โดยดูได้จากมาตรฐานรับรองประสิทธิภาพการกรองระดับนานาประเทศที่ได้รับการยอมรับ อาทิ มาตรฐานอเมริกา (NIOSH Standard, NIOSH 42 CFR 84) ที่มีประสิทธิภาพการกรองอนุภาค ตั้งแต่ 95% 99% และ 99.97% ตามลำดับมาตรฐานยุโรป (European Standard, EN 149) และมาตรฐานออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ (Australia/New Zealand Standard, AS/NZS 1761) มีประสิทธิภาพการกรองอนุภาค ตั้งแต่ 80% 94% และ 99% ตามลำดับ

รู้จักประเภทการใช้งานและวิธีการเลือกหน้ากากกันแล้ว คงจะพอช่วยให้รับมือฝุ่นเล็กๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะลดปริมาณลงเมื่อไหร่ รวมถึงข้อมูลในการเลือกใช้หน้ากากเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ได้ตรงกับคุณสมบัติของหน้ากากแต่ละประเภทด้วย