‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’ ป้องกันได้ด้วย ‘ตัวเรา’

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และมีการพบว่าโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นกันมากขึ้น โดยปี พ.ศ. 2540 มีประมาณการว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักสูงถึง 131,200 ราย (มะเร็งลำไส้ใหญ่ 94,100 ราย มะเร็งทวารหนัก 37,100 ราย) และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 54,900 ราย (มะเร็งลำไส้ใหญ่ 46,600 ราย มะเร็งทวารหนัก 8,300 ราย)

ในปี พ.ศ. 2545 อัตราการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงเป็นอันดับ 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมดในเพศชายและเพศหญิง

ในประเทศไทย พบว่าการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น พบทั้งในเพศชายและเพศหญิง ตามการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ประชาชนมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ และพบว่ามีพฤติกรรมการบริโภคอาหารแบบประเทศตะวันตกมากขึ้น

จากสถิติโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2542 และ พ.ศ. 2543 พบมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในเพศชายเป็นอันดับที่ 4 และ 3 ในเพศหญิง อันดับ 6 และ 3 ตามลำดับ และพบมากในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากขึ้นอุบัติการณ์ก็มากขึ้นด้วย

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเกิดจากการแบ่งตัวและมีการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์เยื่อบุผิว (Epithelial Cell) ภายในลำไส้ใหญ่ เกิดเป็นก้อนที่มีขนาดผิดปกติ แล้วกลายเป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรง ตำแหน่งที่พบบ่อยคือลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Rectum) 50% รองลงมาคือที่ลำไส้ใหญ่ส่วนตรง (Sigmoid colon) 20-25% ที่ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น (Cecum) 15% ที่ลำไส้ใหญ่ด้านขวาและลำไส้ใหญ่ด้านซ้าย (Ascending colon, Descending colon) ประมาณ 6-8% อีกประมาณ 1% พบที่ทวารหนัก (Anus)

มะเร็งลำไส้ใหญ่ก้อนโตเร็วและก่อให้เกิดอาการจากก้อนมะเร็งที่โตขึ้นไปกดเบียดอวัยวะใกล้เคียงหรือลำไส้ใหญ่อุดตัน และการลุกลามของมะเร็งไปทำลายเนื้อเยื่อปกติและหลอดเลือดเกิดเป็นแผลและสูญเสียเลือด เมื่อมะเร็งลุกลามทำให้เกิดการแตกทะลุของลำไส้ใหญ่และแพร่กระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ไกล โดยผ่านทางระบบน้ำเหลือง ระบบการไหลเวียนเลือด ซึ่งมักจะแพร่กระจายไปที่ตับ ปอด และกระดูกเป็นส่วนใหญ่

สาเหตุ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ทั้งนี้ พบว่ามียีนเป็นตัวควบคุมให้เซลล์ธรรมดาเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค ได้แก่ 1. ประวัติเป็นโรคของลำไส้บางชนิด ได้แก่ ติ่งเนื้องอกที่ผนังลำไส้ (Adenomatous Polyps) โรคแผลอักเสบของลำไส้เรื้อรัง (Chronic Ulcerative Colitis) นาน 10 ปีหรือมากกว่า จะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ 5-10 เท่า 2. กรรมพันธุ์อื่น มีประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว ผู้หญิงที่มีประวัติโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งมดลูก ก็จะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากขึ้น 3. อาหาร กินอาหารประเภทเนื้อสัตว์และไขมันสัตว์สูง อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง อาหารที่กากใยน้อย อาหารที่ปนเปื้อนสารพิษ หรือการสะสมแบคทีเรียในลำไส้ การคั่งค้างของของเสียจนเกิดเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) โดยเฉพาะที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Rectum) เป็นบริเวณที่คั่งค้างสัมผัสกากอาหารที่มีสารก่อมะเร็งเป็นเวลานานๆ 4. ปัจจัยอื่นๆ เช่น การชอบดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่มากและนานกว่า 35 ปี จะเพิ่มอัตราการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยไม่ทราบสาเหตุ

อาการและอาการแสดง : ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็งที่เป็นก้อนเนื้องอกร้ายแรง ได้แก่ 1. ลำไส้ใหญ่ด้านขวา มักมีอาการอ่อนเพลีย ปวดท้องเป็นประจำ มีเลือดออกในลำไส้ใหญ่ คลำได้ก้อนที่ท้องบริเวณด้านขวามักมีอาการซีด น้ำหนักลดร่วมด้วยเสมอ 2. ลำไส้ใหญ่บริเวณด้านซ้าย มักมีอาการของลำไส้ใหญ่อุดตันหรือถ่ายผิดปกติ ท้องผูกกับท้องเสีย ท้องอืด ไม่ผายลม ปวดท้องรุนแรงหรือถ่ายเป็นมูกเป็นเลือด 3. ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย มีอาการปวดทวารหนัก ถ่ายเป็นเลือด รู้สึกปวดเบ่ง ถ่ายไม่สุด เข้าห้องน้ำบ่อยๆ 4. ช่องทวารหนักคลำได้ก้อน ถ่ายเป็นเลือดสดๆ ถ่ายแล้วปวด หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต

การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค : 1. การซักประวัติ : ปัจจัยเสริม อาการและอาการแสดง ประวัติการรักษา เช่น มะเร็งของครอบครัว 2. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ : การตรวจเลือดในอุจจาระ (Fecal Occult Blood Test : FOBT) การตรวจหาแอนติเจนของเซลล์มะเร็ง (Carcino Embryonic Antigen : CEA) 3. การตรวจทางทวารหนัก (Digital Rectal Examination : DRE) ในผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป อาจจะพบก้อนเนื้องอกได้ 4.การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนตรงและลำไส้ใหญ่ส่วนโค้ง (Flexible Sigmoidoscopy) สามารถส่องกล้องดูลำไส้ได้ประมาน 60 ซม. ไม่ตลอดความยาวของลำไส้ทั้งหมด 5. การตรวจบางสิ่งโดยการใช้สารแบเรียม (Double Contrast Barium Enema : DCBE) สามารถเห็นก้อนเนื้องอกแต่ไม่เห็นความผิดปกติในบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนตรงและส่วนล่าง 6. การส่องกล้องตรวจภายในลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) สามารถตรวจดูได้ตลอดความยาวของลำไส้ และเห็นก้อนมะเร็งที่อยู่ส่วนบนของลำไส้ใหญ่ได้ชัดเจน ระหว่างส่องกล้องสามารถตรวจตัดชิ้นเนื้อเยื่อของลำไส้ใหญ่ไปตรวจหาเซลล์มะเร็งได้

การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีหลักปฏิบัติ 7 ประการ ต้องพิจารณาปฏิบัติได้ด้วยตัวเราเองเท่านั้น เป็นจุดเริ่มต้น ได้แก่ 1. ลดกินอาหารที่มีปริมาณไขมันสัตว์ให้น้อยลง (ต่ำกว่า 30% ของแคลอรีที่ควรได้ต่อวัน) 2. เพิ่มปริมาณของเสียใยอาหาร บริโภคธัญพืชที่ไม่ขัดสี ผักหลายสี และผลไม้หลากสีตามฤดูกาลเป็นประจำ เช่น ข้าวกล้อง กะหล่ำปลี ข้าวโพดอ่อน ขี้เหล็ก ดอกแค ดอกกุยช่าย ขนุนอ่อน ถั่วฝักยาว ผักกระเฉด มะเขือเทศ มันฝรั่งพร้อมเปลือก กล้วย งา ฝรั่ง ชมพู่ แอปเปิ้ล มะม่วง ส้มเขียวหวาน ละมุด เป็นต้น 3. เพิ่มอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีจากแสงแดดอ่อนๆ ให้ได้แคลเซียมไม่น้อยกว่า 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ และยังลดความเสี่ยงของโรคกระดูกผุ โรคความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง 4. พักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และทำจิตใจให้แจ่มใส 5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 15-30 นาทีต่อครั้ง ไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ 6. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว 7. ขับถ่ายให้เป็นเวลา อย่ากลั้นอุจจาระไว้ และควรรับการตรวจเมื่อมีอาการท้องผูก หรือท้องผูกสลับกับท้องเสียเป็นประจำ

กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจหาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มี 3 กลุ่มหลักๆ คือ 1. กลุ่มผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระทุกปี (Occult Blood) และส่องกล้องดูลำไส้ใหญ่ทุก 5 ปี 2. กลุ่มที่มีประวัติเนื้องอกที่ผนังลำไส้ใหญ่ หรือมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรได้รับการส่องกล้องตรวจดูลำไส้ใหญ่ทุก 1-2 ปี หรือตรวจเมื่ออายุน้อยกว่าญาติที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ทุก 5-10 ปี 3. กลุ่มที่มีมะเร็งลำไส้ใหญ่หลังจากผ่าตัดแล้ว ควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่หลังผ่าตัด 1 ปี ถ้าผลปกติ ให้ตรวจซ้ำทุก 3 ปี และทุก 5 ปี

การปฏิบัติตัวของผู้ที่มีช่องเปิดลำไส้หรือมีทวารใหม่ คำแนะนำผู้ที่ทำการผ่าตัดช่องเปิดลำไส้ใหญ่เพื่อให้อุจจาระออกทางหน้าท้อง ในกรณีที่ตรวจพบเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และต้องผ่าตัด มีหลักการดูแล 3 ข้อใหญ่ที่ผู้ป่วยต้องหัดดูแลทำได้ด้วยตนเอง หลักแพทย์หรือพยาบาลได้สอนให้ไปทำเองที่บ้าน ดังนี้

1. ทำความสะอาดช่องเปิดลำไส้ โดยทำความสะอาดช่องเปิดลำไส้และใช้อุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายที่เหมาะสม จะช่วยให้ผู้ที่มีช่องเปิดลำไส้ หรือผู้มีทวารใหม่ หรือออสโตเมท มีสุขอนามัยที่ดี ช่วยลดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ คลายความวิตกกังวล เกิดความมั่นใจมากขึ้น

2. การดูแลตนเองและการป้องกันอาการผิดปกติของช่องเปิดลำไส้ อาการผิดปกติช่องเปิดลำไส้และผิวหนังโดยรอบที่พบบ่อย ได้แก่ 2.1 การมีเลือดออกจากช่องเปิดลำไส้ มักเกิดจากการเช็ดบริเวณช่องเปิดลำไส้แรงเกินไป หรือได้รับบาดเจ็บโดยไม่รู้ตัว 2.2 ผิวหนังเป็นรอยแดงเป็นผื่น หรือผิวหนังลอกเป็นแผลตื้นๆ มีอาการคันเกิดจากการแพ้กาวของอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่าย หรือการลอกอุปกรณ์แรงเกินไป 2.3 ผิวหนังเป็นตุ่มอักเสบ มักเกิดจากขนหลุด เนื่องจากการลอกอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายรุนแรงเกินไป หรืออาจเกิดมีการขังของสิ่งขับถ่าย

การดูแลป้องกันมี 5 ประการ : 1. ทำความสะอาดผิวหนังด้วยสบู่อ่อนๆ และน้ำสะอาดจนหมดคราบสกปรกและคราบสบู่ 2. เลือกใช้ถุงรองรับสิ่งขับถ่ายชนิดที่มีแผ่นป้องกันผิวระคายเคือง 3. ไม่ใช้อุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดของช่องเปิดลำไส้ของตน 4. หมั่นสังเกตการขังของสิ่งขับถ่ายอุปกรณ์รองรับ ถ้าพบควรถอนออก และทำความสะอาดพร้อมเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ 5. ขณะสอดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายออกจากผิวหนัง ควรใช้มืออีกข้างหนึ่งกดผิวหนังใกล้เคียงไว้ และค่อยๆ สอดอุปกรณ์ออกช้าๆ

3. การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันสำหรับออสโตเมท : อาบน้ำได้ตามปกติ ทั้งขณะที่ใส่ถุงและถอดถุงออก โดยวิธีตักออกใช้ฝักบัว หรือลงอ่างอาบน้ำ การแต่งกายเป็นไปตามปกติ สวมเสื้อผ้าที่หลวมเล็กน้อย หรือเสื้อผ้าที่มีจีบด้านหน้า การสอดถุงรองรับของเสียไว้ด้านในของกางเกงจะช่วยให้เดินและเคลื่อนไหวรวดเร็วมากขึ้น การรับประทานอาหารในระยะ 2 เดือนแรกหลังผ่าตัด ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเส้นใยมาก เช่น ถั่ว และผลไม้แห้ง หลังจากนั้นเริ่มรับประทานอาหารได้ทีละน้อย เคี้ยวให้ละเอียด ไม่มีข้อจำกัดใดเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร ยกเว้นอาหารประเภทที่อาจมีผลกระทบต่อการขับถ่าย

ประเภทอาหารที่มีผลต่อการขับถ่าย : อาหารที่มีเส้นใยสูง : จะช่วยทำให้อุจจาระเป็นก้อนมากยิ่งขึ้น เช่น กล้วย ข้าว ขนมปัง มันฝรั่ง ถั่ว เนยแข็ง ควรเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืนเพื่อป้องกันท้องผูกและลำไส้อุดตัน อาหารที่ทำให้ท้องเสีย : ได้แก่ อาหารเผ็ดจัด ผลไม้ดิบ ถั่วสีเขียว บร็อกโคลี่ ผักโขม น้ำผลไม้ เบียร์ ช็อกโกแลต เป็นต้น อาหารที่ทำให้อุจจาระมีกลิ่นรุนแรง : ได้แก่ อาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้ง ไข่ หน่อไม้ฝรั่ง หัวหอม กระเทียม เครื่องเทศ อาหารตระกูลถั่ว กะหล่ำปลี บร็อกโคลี่ สะตอ ชะอม ลูกเดือย เห็ดหอม ทุเรียน เป็นต้น อาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส ได้แก่ อาหารตระกูลถั่ว เห็ด เบียร์ น้ำอัดลม กะหล่ำปลี แตงกวา หัวหอม ผักโขม ข้าวโพด บร็อกโคลี่ หัวผักกาดแดง กะหล่ำดอก ถั่วงอกดิบ ยีสต์และนม เป็นต้น อาหารช่วยลดแก๊ส : ได้แก่ โยเกิร์ต อาหารที่ช่วยสลายกากอาหาร : ได้แก่ น้ำผลไม้คั้น น้ำลูกพรุน น้ำส้ม มะละกอสุก และควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว

การเดินทาง : สามารถเดินทางไปที่ต่างๆ ได้ ควรเตรียมอุปกรณ์สำรองไป 2-3 ชุด ได้แก่ กระดาษชำระ น้ำสะอาด อุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่าย และยาแก้ท้องเสีย

การเล่นกีฬา : ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การวิ่งหรือเดินเพื่อสุขภาพ เล่นกีฬาได้ตามถนัดแต่ไม่หักโหม หลีกเลี่ยงกีฬาที่มีการกระทบกระแทกบริเวณหน้าท้อง

การมีเพศสัมพันธ์ : ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและจิตใจดีสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ ทำความสะอาดร่างกาย เปลี่ยนถุงรองรับของเสียอันใหม่ จะช่วยลดความรู้สึกไม่มั่นใจลง ผู้หญิงที่มีช่องเปิดลำไส้ก็สามารถตั้งครรภ์มีบุตรได้ แล้วแต่แพทย์แนะนำให้ชะลอการมีบุตรไว้ก่อน

ท้ายสุดนี้ผู้เขียนเองรู้สึกว่า ถ้าหากเพื่อนๆ แฟนคลับมติชนหรือประชาชนทั่วไปเกิดเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว มักจะต้องเพิ่มภาระการดูแลสุขภาพตัวเองหลายอย่างหลายเรื่อง แม้จะมีชีวิตรอดปลอดภัยระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นภาระหลายอย่างที่ต้องปฏิบัติตัว และอีกประการหนึ่ง เมื่อเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ต้องผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออก ฉายรังสี และตามด้วยคีโมแล้วก็ตาม เซลล์มะเร็งรายนี้ยังแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นได้ เช่น ตับ ปอด กระดูก เป็นต้น ทำให้เจ็บปวด อายุสั้นลงไปอีก และตายในที่สุด ทางที่ดีแล้วคือสร้างสุขภาพที่ดี ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือทวารหนักได้ด้วยตัวเราเองดีที่สุด ด้วยหลักการ 7 ประการดังกล่าว

อีกทั้งกรณีตัวอย่างที่เป็นข่าว สื่อมวลชนเสนอพาดหัว ทั้งทีวีและหนังสือพิมพ์ ระบุถึง…การสิ้นชีวิตของตลกรุ่นเก๋า? “เพชร ดาราฉาย” ด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และลามไปที่ตับ ทนทุกข์ทรมานเจ็บปวดและเสียชีวิตด้วยวัย 79 ปี ณ บ้านซอยพัฒนาการ 87 ตามที่เป็นข่าวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2560 เวลา 11.00 น. เป็นกรณีเตือนสติให้พวกเราได้ตระหนักว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่ป้องกันได้ด้วยตัวเรานะครับ หรืออาจจะกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า “สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง” นะครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2560