ผิวสวยด้วยลูกประคบหน้า จากดอกสะเลเต วิธีการไม่ยุ่งยาก ทำตามได้ดังนี้

ดอกสะเลเต หรือ มหาหงส์ เป็นพืชลงหัวในตระกูลขิง ข่า เท่าที่พบในปัจจุบัน มี 2 สายพันธุ์ คือ ดอกขาวและดอกเหลือง ดอกสะเลเตจัดเป็นดอกไม้ที่มีรูปร่างสวยงาม ความหอมก็หอมมาก คนไทยใหญ่จะนำไปปักแจกันถวายพระ หรือนำมาร้อยมาลัยถวายพระ ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เล่าว่า คนโบราณมักจะไม่ปลูกต้นสะเลเตไว้ใกล้ห้องลูกสาว หรือเด็กสาวที่ยังไม่แต่งงาน จะไม่นิยมนำดอกสะเลเตมาทัดหู เพราะดอกไม้นี้เป็นนัยที่บอกว่า ถึงเวลาแล้วที่จะมีคู่ ผู้เฒ่าผู้แก่บางท่านบอกว่า ด้วยความหอมเย้ายวนของเจ้าดอกสะเลเต เวลานำมาทัดหูจึงคล้ายๆ กับเป็นฟีโรโมนธรรมชาติก็ว่าได้

ดอกสะเลเต สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งหัวที่มีความหอม นำมาตำกับน้ำพริกได้หรือรับประทานเป็นผักแกล้มกับน้ำพริก รับประทานเป็นยาได้ ช่วยบำรุง หรือจะนำมาทำลูกประคบก็ได้ สำหรับผู้ที่ไม่ชอบความเหลืองของลูกประคบที่ทำจากไพลหรือขมิ้น ลูกประคบจากเหง้าของสะเลเตเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะไม่ทำให้เสื้อผ้ามีสีเหลืองแล้ว เหง้าของสะเลเตยังมีสรรพคุณช่วยลดการอักเสบได้ดีอีกด้วย แต่สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการขุดเหง้าก็มีดอกสะเลเต ที่ออกดอกตลอดมาให้เลือก ในดอกสะเลเตมีน้ำมันหอมระเหยที่สามารถให้ความชุ่มชื้นกับผิวได้เป็นอย่างดี อีกทั้งในขณะที่ทำการประคบหน้าก็จะได้สูดเอากลิ่นที่หอมรัญจวนใจจากดอกสะเลเตไปด้วย

สำหรับผู้สนใจใช้ดอกสะเลเตมีสูตรมาฝาก สมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบแบ่งได้แบบนี้ สมุนไพรบำรุงผิว ได้แก่ ดอกสะเลเต งาดำ ขิง สมุนไพรทำความสะอาดผิว ได้แก่ ผิวมะกรูด สมุนไพรลดการอักเสบ ได้แก่ ตะไคร้ และเกลือเป็นแร่ธาตุที่อุ้มความร้อนไว้ให้อยู่ได้นานๆ โดยหลักการของลูกประคบชนิดนี้คือ ให้ความร้อนเป็นตัวเปิดรูขุมขน ให้น้ำมันจากธรรมชาติ ได้แก่ น้ำมันงา น้ำมันขิง น้ำมันตะไคร้ไปให้ความชุ่มชื้นและปรับสภาพผิว

วิธีการทำให้ไม่ยุ่งยาก คือ น้ำขิงแก่ มะกรูด และตะไคร้ มาล้างทำความสะอาด หั่นหรือสับเป็นชิ้นตามขนาดที่ต้องการ และตำพอหยาบๆ ให้มีน้ำมันออกมา หลังจากนั้น นำดอกสะเลเตและงาดำมาผสมกับขิงแก่ มะกรูด และตะไคร้ เสร็จแล้วใส่เกลือคลุกเคล้าให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว แต่อย่าให้แฉะเป็นน้ำ ใช้ผ้าฝ้ายหรือผ้าดิบห่อเป็นลูกประคบมัดด้วยเชือกให้แน่น นำลูกประคบที่ได้ไปนึ่ง ใช้เวลานึ่งประมาณ 15-20 นาที แล้วนำมาประคบบริเวณใบหน้าหรือบริเวณที่ต้องการ

ขอบคุณข้อมูล จาก ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ในคอลัมน์ พืชใกล้ตัว อภัยภูเบศรสาร ปีที่ 7 ฉบับที่ 84