ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เขียนในคอลัมน์ เก็บป่ามาฝากเมือง ว่าในการออกพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมความรู้จากหมอยาพื้นบ้าน นอกจากความรู้เรื่องหยูกยาแล้ว ผลพลอยได้คือความเชื่อม ประเพณีวัฒนธรรมที่มีพืชพรรณนั้นๆ ไปเกี่ยวข้อง ซึ่งสะเลเต หรือมีชื่ออื่นๆ อาทิ ชายเหิน มหาหงส์ หางหงส์ (ภาคกลาง) ตาหาน ต๋าเหิน เหินแก้ว เหินคำ (แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น
สะเลเต จัดเป็นสมุนไพรไม้ดอกหอมที่มีเรื่องราวที่มีสีสันมากที่สุด และเมตตามหานิยมแก่สถานที่ที่ปลูกและเป็นว่านมหาเสน่ห์ ที่ทำให้หนุ่มสาวหลงใหลซึ่งกันและกัน คนโบราอีสานมักจะห้ามปลูกดอกสะเลเตไว้บริเวณข้างห้องนอนลูกสาว หรือห้ามสาวรุ่นทัดดอกสะเลเต เพราะจะทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศ ด้วยเหตุนี้กระมัง สะเลเตจึงเป็นจำเลยของสามีภรรยาที่ถูกคู่ทิ้ง ดังคำผญา (คำอีสาน หมายถึง คำภาษิตปรัชญา) ที่ยายผาดพูดให้ฟังว่า “ฮ้าง ฮ้าง นี่ฮ้างดอกสะเลเต ผัวพาเพจึงได้เป็นแม่ฮ้าง” ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่นำมาทัดหูเขาจะไม่ว่ากัน เพราะถือว่าเลยวัยไปแล้ว นอกจากนี้ ดอกสะเลเตยังนิยมใช้ในการบูชาพระ รวมทั้งใช้ในการบูชาเทพในศาสนาฮินดู เพื่อขอพรให้มีสุขภาพดีและมีโชค
ส่วนการนำมาใช้ทางยา นิยมนำเหง้ามาหั่นตากแห้ง บดเป็นผงคลุกกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน รับประทานเช้าเย็นก่อนอาหาร เพื่อบำรุงกำลัง และเป็นยาอายุวัฒนะชั้นเยี่ยม นอกจากนั้น สะเลเตยังช่วยย่อยอาหาร บรรเทาอาการหอบหืด
สะเลเตยังใช้เป็นยาภายนอกในการแก้อักเสบ ฟกช้ำดำเขียว ดอกและหน่อของสะเลเตยังรับประทานเป็นผักกับน้ำพริกได้เช่นเดียวกับพืชตระกูลขิง ข่า ทั่วๆ ไป เหง้าของสะเลเตยังใช้ใส่ในเครื่องแกง เพื่อเป็นเครื่องเทศที่ให้รสชาติที่อร่อยไปอีกแบบ