‘ตำลึง’ ผักข้างรั้ว ที่ปลอดภัยและมีคุณค่า

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ในบรรดาพืชผักที่เป็นที่นิยมและรู้จักของคนไทย เชื่อแน่ว่าคงมีไม่กี่คนที่ไม่รู้จัก “ผักตำลึง” โดยเฉพาะชาวชนบททั่วทุกภาคของไทยเรา มีผักชนิดนี้ขึ้นประดับผืนไร่ สวนข้างรั้วหลังบ้าน หน้าบ้าน เป็นไม้เถาที่มากประโยชน์ ขึ้นง่ายกับที่ดินทุกชนิด โดยเฉพาะย่างเข้าหน้าฝน จะอวดยอดอวบอ้วนพร้อมมือจับที่ม้วนงอ แกว่งไหวกระดุกกระดิกคล้ายส่ายเสาะ หาที่เกาะปีนป่ายขึ้นอวดโฉมชูยอด

จริงหรือที่มีคนเล่าว่า ถ้ากินผักตำลึงหน้าฝนจะเป็นไข้ ปวดท้อง คนเก่าแก่ในชนบทเล่าให้ฟังเหมือนกันว่า หน้าฝนยิ่งมีฝนตกหนักๆ ไปเก็บยอดตำลึงมาต้มแกงกินจะมีอาการไข้ไม่สบาย ปวดท้อง เห็นกันมาบ่อยๆ ก็เล่าต่อกันมา จริงเท็จอย่างไรมาช่วยกันไขปริศนานี้กันให้ที

จากทฤษฎีร้อนเย็น ซึ่งเป็นความเชื่อมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณแพร่หลายมาสู่พ่อค้าชาวอาหรับ ชาวสเปนและกลายเป็นความเชื่อขั้นพื้นฐานของการแพทย์แบบดั้งเดิม และในปัจจุบันทฤษฎีร้อนเย็นยังมีแพร่หลายอยู่ทั่วไป จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย และแถบละตินอเมริกา ในทฤษฎีร้อนเย็นกล่าวถึงอาหารคือ อาหารร้อน จะมีฤทธิ์กระตุ้น เช่น อาหารรสเผ็ด รสหวาน อาหารทอด ส่วนอาหารเย็น จะมีฤทธิ์ยับยั้งทำให้ร่างกายรู้สึกเย็นจนกลายเป็นวัฒนธรรมการกินเกี่ยวพันถึงพืชที่เป็นอาหารด้วย พืชอาหารร้อน เช่น พริก พริกไทย กะเพรา แมงลัก พืชอาหารเย็น เช่น ฟักเขียว มะระ แตง ผักกระเฉด ผักบุ้ง และผักตำลึง เป็นต้น

ฤดูร้อน ความร้อนธรรมชาติจะเพิ่มสูง ความร้อนจะกระทบร่างกายเป็นมูลเหตุให้ธาตุไฟในร่างกายกำเริบ ปวดศีรษะ วิงเวียน อ่อนเพลีย ร้อนใน ท้องผูก ถ้ากินอาหารที่เป็นพืชอาหารร้อนจะยิ่งเป็นผลกระทบ ทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ ฤดูฝน ความเย็นและชื้นมีผลต่อธาตุลมในร่างกาย ธรรมชาติความเย็นจะทำโทษร่างกาย มักจะเจ็บป่วยได้ ควรกินพืชอาหารร้อนช่วย แต่ถ้ากินพืชอาหารเย็นจะยิ่งส่งให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ คงจะตอบโจทย์ที่ว่า กินตำลึงหน้าฝนจะป่วยไข้ ปวดท้องนะ มีส่วนเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นพอสรุปได้ว่า ใช้พืชอาหารร้อนเย็นช่วยระงับการกำเริบของธาตุในร่างกายไม่ให้แปรปรวนได้ ธรรมชาติร้อนก็กินพืชอาหารเย็นช่วยดับการกำเริบธาตุไฟ เช่น ผักตำลึง เป็นต้น

ผักตำลึง เป็นพืชเถาที่คนนิยมนำมาปรุงอาหาร ลวก ต้ม นึ่ง จิ้มน้ำพริก แกงส้ม แกงจืดผักตำลึง ผัดผักตำลึงใส่ไข่ แม้แต่อาหารยอดฮิตก๋วยเตี๋ยวตำลึงชามละ 50 บาท ประโยชน์ทางโภชนาการ ยอดอ่อนนำมาปรุงอาหาร ใบและยอดตำลึง 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 35 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย วิตามินเอ 18}608 IU วิตามินบี หนึ่ง 0.17 มิลลิกรัม วิตามินบี สอง 0.13 มิลลิกรัม วิตามินซี 34 มิลลิกรัม ไนอะซิน 1.2 มิลลิกรัม เหล็ก 4.6 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม แคลเซียม 126 มิลลิกรัม เส้นใย (ไฟเบอร์) 1 กรัม

สรรพคุณทางยา เถาตำลึงเป็นยาเย็นดับพิษ ตัดยาวประมาณ 1 นิ้วฟุต คลึงให้ช้ำแล้วเป่าอีกทางจะเป็นฟองฟู่ออกมา ใช้หยอดตา แก้ตาช้ำ ตาแดง ตาแฉะ แก้เจ็บตาได้ดีมาก ใบตัวผู้ผสมเป็นยาเขียวแก้ไข้ ใบสดๆ ขยี้ทาถอนพิษหมามุ่ยหรือพิษจากขนใบไม้พิษทั่วไป แก้คัน แก้ปวดแสบปวดร้อน รากต้มดื่มให้ลดความร้อนในร่างกาย แก้ไข้ทุกชนิด ทั้งต้นมีสรรพคุณแก้โรคผิวหนัง ลดน้ำตาลในเลือด อีกสารพัดคุณประโยชน์ ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันความเสื่อมของเซลล์ บำรุงผิวพรรณ เถาแก่ต้มน้ำหรือคั้นผลดิบกินบำบัดโรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง บำรุงกระดูก เพราะมีแคลเซียม บำรุงสายตาเพราะมีวิตามินเอ รักษาป้องกันจอประสาทตาเสื่อม ตาแดง ตาฟาง ตาช้ำ รากต้มดื่มรักษาตาฝ้า ฯลฯ

 

ลักษณะต้นตำลึง เป็นไม้ล้มลุกเช่นเดียวกับแตง น้ำเต้า ฟักข้าว ฟักแฟง ลำต้นเป็นเถาทอดเลื้อยไปตามดินและมีมือจับ (Tendril) คล้ายลวดสปริง เกาะปีนป่ายสิ่งที่อยู่ใกล้ เวลาถูกลมพัดจะแกว่งไกวไปมา ลำต้นอ่อนมีขนาดเล็กต้องอาศัยยึดเกาะไปอย่างนั้น แต่ถ้าปล่อยไว้หลายปี จะมีเถาที่โตขนาดข้อมือคนเราก็มี ใบตำลึงรูปร่างคล้ายห้าเหลี่ยม มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีแฉกเว้าลึกมากเรียกว่า “ตำลึงตัวผู้” ส่วนใบที่ขอบใบไม่เว้าลึกเรียก “ตำลึงตัวเมีย” ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามบริเวณซอกใบ ดอกแยกเพศกันอยู่คนละต้น มีฐานดอกสีเขียวโตประมาณครึ่งนิ้ว ปลายดอกแยกออกเป็น 5 แฉก โคนดอกตัดกันเป็นกรวย กลีบดอกสีขาว ดอกตัวเมียมีรังไข่ ก้านดอกเป็นรูปคล้ายผลอ่อน สามารถนำมากินได้อร่อยด้วย ผลสดสีเขียวประจุดขาว กลมรีคล้ายแตงไทย แตงกวา แต่เป็นผลเล็กๆ แก่มาจะมีสีส้มและแดงจัด นกชอบจิกกินแล้วไปถ่ายมูลทิ้งเกิดต้นใหม่ จึงพบต้นตำลึงอยู่ทั่วไป

การปลูกตำลึงนอกจากจะปล่อยให้นกกินแล้วถ่ายมูลงอกเป็นต้นใหม่ มีคนต้องการให้ขึ้นเป็นที่ ข้างรั้วหรือขึ้นหลักไม้กิ่งไม้ที่ว่างก็นำผลแดงๆ ไปบี้เอาเมล็ดหยอดไว้ ไม่กี่วันก็ขึ้นเป็นต้นใหม่ หรือจะปลูกเป็นแปลงใหม่ก็อาศัยเข่งหรือสุ่มไก่เก่าไปวางเป็นระยะๆ หาผลตำลึงแดงๆ ไปบีบหยอดเมล็ด หรือตัดเถาแก่ไปวางไว้ กลบดินบางๆ ให้น้ำ ก็ได้แปลงตำลึง ที่เถาตำลึงพันเถาขึ้นเต็ม การดูแลรักษาไม่มีศัตรูรบกวนมากนัก หน้าแล้งรดน้ำให้หน่อย ออกยอดตลอดปี ยิ่งหมั่นเด็ดยอด จะยิ่งมียอดใหม่ให้เด็ด

ตำลึง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coccinia qrandis Voigt. หรือ Coccinia indica Wight & Arn. (Syn) อยู่ในวงศ์ CUCURBITACEAE มีชื่อเรียก เช่น ภาคเหนือเรียก “ผักแคบ” อีสานเรียก “ผักตำนิน หรือตำนิน” กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียก “แคเดาะ” แต่ที่แน่ๆ ทั่วไปเรียก “ตำลึง” หรือ 4 บาท ก็มาตราค่าเงินไทย 25 สตางค์ เป็น 1 สลึง 4 สลึง เป็น 1 บาท 4 บาท เป็น 1 ตำลึง 20 ตำลึง เป็น 1 ชั่ง ไงละครับ สมัยก่อนผักตำลึงคงมีค่าราคาเช่นเงินตั้ง 4 บาทเชียวนะ ภาษิตไทยที่น่าเก็บมาใช้สำหรับนักวิจารณ์ ที่พยายามจะวิจารณ์ผู้เขียนเรื่อง “ตำลึง” โบราณว่า พูด (วิจารณ์) ไป เสียสองไพเบี้ย นิ่งเสีย ตำลึงทอง นะท่านนะ ขอบพระคุณครับ

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์