ฝุ่นตลบ นมเด็ก โจทย์ท้าทาย ทำอย่างไรไม่ผิด

พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 8 กันยายนที่ผ่านมา เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการควบคุมดูแลการทำกิจกรรมการตลาดอย่างเต็มรูปแบบ เพราะขณะนี้กระบวนการอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกราว 3 เดือน จึงจะได้เห็นกฎหมายลูกออกมาบังคับใช้เพิ่มเติมในอนาคต

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “แพทย์หญิงกิติมา ยุทธวงศ์” ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก สำหรับแนวทางที่ผู้ผลิตอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่ออกมาพูดเป็นครั้งแรกหลังกฎหมายบังคับใช้ว่า ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ผู้ผลิตจะยังทำอะไรได้บ้าง เหล่านี้ล้วนมีผลต่อความเคลื่อนไหวทางธุรกิจของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ อาทิ แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส, ดูเม็กซ์, มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย), เนสท์เล่ (ไทย), เนสท์เล่ (ไทย) แผนกธุรกิจไวเอท นิวทริชั่น และแปซิฟิค เฮลธ์แคร์ (ไทยแลนด์)

แพทย์หญิงกิติมาระบุว่า ผู้ผลิตทุกรายพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ยอมรับว่า ในช่วงแรกของการบังคับใช้ยังมีหลายฝ่ายที่สับสนว่าผลิตภัณฑ์ใดถูกกฎหมายฉบับนี้ควบคุมบ้าง ระยะแรกผู้ผลิตจึงยึดถือเอกสารที่พบในเว็บไซต์กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อกำหนดขอบเขตการทำกิจกรรมของตัวเองให้สอดคล้องกับกฎหมายที่ออกมา

เอกสารดังกล่าวระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่ถูก พ.ร.บ.นี้ควบคุมคืออาหารทารก ได้แก่ นมผงสูตร 1 (สำหรับทารกแรกเกิด-1 ปี), นมผงสูตร 2 (สูตรต่อเนื่องสำหรับทารก 6 เดือน-เด็ก 3 ปี), อาหารเสริมสำหรับทารก ตลอดจนอาหารเด็กเล็ก (ตามประกาศรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ)

ขณะที่นมผงสูตร 3 (สำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป) นมสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร นมโค นมสด นมพาสเจอไรซ์ นมยูเอชที ไม่ถูกควบคุมภายใต้นิยามตาม พ.ร.บ.

ดังนั้นการปรับตัวของผู้ผลิตในเวลานี้จึงโฟกัสการทำการตลาดในกลุ่มนมผงสูตร 3 และอาหารอื่น ๆ สำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไปที่ไม่ได้ถูก พ.ร.บ.ควบคุม โดยจะพยายามหาวิธีการสื่อสารให้แตกต่างจากอาหารสำหรับทารก ไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเชื่อมโยงถึงอาหารทารกที่กฎหมายห้ามทำกิจกรรมการตลาดทุกอย่างให้มากขึ้น

“ผลิตภัณฑ์นมสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไปยังคงโฆษณาได้ ทำกิจกรรมการตลาดได้ แต่ต้องไม่ให้เข้าใจว่าเป็นอาหารทารก ซึ่งระหว่างที่ผู้ผลิตต้องหาแนวทางการสื่อสาร รวมทั้งการจัดทำฉลากที่เหมาะสม ก็ต้องรอความชัดเจน เพื่อยึดถือแนวทางให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน”

ทั้งนี้ ความสับสนที่เกิดขึ้นในระยะแรกก็มีผลกับการทำงานของคนในแวดวงโฆษณาบ้าง เพราะไม่แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ใดบ้างที่กฎหมายห้ามโฆษณา ที่ผ่านมาทางสมาคมจึงพยายามสื่อสารทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของกฎหมายทำให้การทำงานเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการทำฉลากใหม่เริ่มตั้งแต่การออกแบบฉลาก ยื่นขออนุญาตจาก อย. สู่การผลิตจนถึงการกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาด ต้องใช้เวลารวมกว่า 17 เดือน ซึ่งทางสมาคมกังวลว่าอาจจะต้องใช้เวลาที่นานกว่ากฎหมายให้ไว้

“สมาคมอยากเสนอให้ตัวแทนภาคเอกชน อาทิ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรง ตลอดจนภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการพิจารณาร่างและออกกฎหมายรองของ คสตท. วิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมร่วมกัน”

ระหว่างรอให้ฝุ่นที่ตลบอยู่จางลง สิ่งที่ผู้ผลิตทำได้ในตอนนี้คือการปรับรูปแบบการสื่อสารการตลาดให้เหมาะสม โดยไม่ขัดกับกฎหมายใหญ่และต้องรอลุ้นต่อไปว่า กฎหมายลูกที่ออกมาจะผ่อนคลายหรือแน่นหนายิ่งกว่าเดิม

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์