พืชพื้นบ้าน เป็นทั้งอาหารและยา : ระย่อม ยาลดความดันโลหิตจากป่า

 

ระย่อม เป็นไม้พุ่มเตี้ยๆ ไม่สูงมาก ใบดกหนาทึบสีเขียวสด ลำต้นมักคดงอ รากขนาดใหญ่ ลึกลงไปในดิน ชอบขึ้นตามชายป่า เชิงเขาที่ดินร่วนปนทราย หรือเป็นหินปนกรวดลูกรัง ที่ค่อนข้างชุ่มชื้น พบกระจายพันธุ์มาตั้งแต่ศรีลังกา อินเดีย เนปาล จีน ภูฏาน ทิเบต พม่า ไทย ลาว กัมพูชา ฯลฯ ดอกเป็นช่อคล้ายดอกเข็มแดง สีขาวอมชมพูอ่อน มี 5 กลีบ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เช่นกัน โคนก้านดอกเชื่อมติดกันเป็นช่อสีชมพู พอดอกโรยก็จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ออกดอกช่วงปลายฝนต้นหนาว ติดผลกลมๆ รีๆ สีเขียว เมื่อแก่จะกลายเป็นสีม่วงดำ คล้ายลูกต้นพลองหรือลูกมิกกี้เม้าส์

 

ชื่อสกุลของไม้ระย่อม ถือว่าเป็นการให้เกียรติแก่ Dr. Leonhard Rauwolf นักพฤกษศาสตร์/นายแพทย์ชาวเยอรมัน แต่ชื่อทาง Botany ใช้ตัว V แทน W ส่วนนามสกุล serpentina หมายถึงลักษณะที่คดไปมาเหมือนงู

ระย่อม อยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE เป็นที่รู้กันว่าต้องมีน้ำยางสีขาว ชาวเอเชียเรานั้นรู้จักใช้รากระย่อมเป็นสมุนไพรมาแต่โบร่ำโบราณ แต่มิได้มีการบันทึกไว้ มาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2495 จึงได้มีการรายงานว่ามีการแยกสารอัลกาลอยด์ Reserpine จากรากระย่อมได้เป็นครั้งแรกโดย Muller และคณะ

สาร Reserpine ตัวนี้เองที่เป็นตัวออกฤทธิ์ลดความดันในกระแสโลหิตที่นิยมใช้ที่สุดในปัจจุบัน ทั้งยังช่วยระงับประสาท ลดอาการคลุ้มคลั่งอย่างดี ส่วนตำราแพทย์แผนไทยบอกว่า รากระย่อมช่วยเจริญอาหาร บำรุงประสาท ลดระดับน้ำตาลหรือความดัน ถอนพิษ ดับพิษไข้กาฬ ช่วยให้หลับสบายคลายเครียด แก้ไข้ป่ามาลาเรีย แก้ลมชักในเด็กดีมาก รากนำมาตากแห้ง บดเป็นผงชงชาเป็นยาระบายอ่อนๆ ถ่ายพยาธิไส้เดือน ขับระดู ทำให้หลอดเลือดคลายตัว ลดอาการเกร็ง มีผลต่อต่อมไทรอยด์ ต่อมใต้สมอง ต้านไวรัส ต้านเชื้อรา รากระย่อมตำสดๆ ใส่น้ำมันพืชทาแก้หิดชะงัดนักแล

ที่ค้นพบอีกจัดว่าเด็ดก็คือ ในรากระย่อมนอกจากมี Reserpine ช่วยลดความดัน/กล่อมประสาทแล้ว ยังประกอบไปด้วยอัลกาลอยด์เจ๋งๆ อีกตัวหนึ่งคือ “Rauhinbine” ตัวนี้บำรุงกำหนัดครับ แหะๆ ส่วนตัวผู้เขียนเคยฟังผู้ใหญ่เล่าต่อมาว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นชอบใช้พรานป่าพื้นเมืองไปหารากระย่อมมาให้ไว้ถ่ายพยาธิม้าได้ผลค่อนข้างดี

ป.ล. รากระย่อมมีพิษเบื่อเมาอ่อนๆ สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร ห้ามใช้ยาที่มีส่วนผสมระย่อมเด็ดขาด อนึ่ง ดอกระย่อมนั้นสีสันสวยงามอ่อนหวาน ปัจจุบันตามสวนสมุนไพร ก็นำมาปลูกเป็นแปลง เป็นไม้ประดับได้ไม่แพ้ไม้อื่นเลยเชียวล่ะครับ


ชื่อทั่วไป : Indian snake roots, Serpent wood

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rauvolfia serpentine (Bent.)

Family : APOCYNACEAE

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์