กล้ามเนื้อหัวใจตาย ระวังเสียชีวิตกะทันหัน

กล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction)หรือบางทีเรียกว่า Heart attack

คำจำกัดความ เป็นความผิดปกติที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายเสียหายจากการที่เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจส่วนนั้นไม่เพียงพอ ปัจจุบันพบว่าหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับแรกในคนไทย อันได้แก่ อุบัติเหตุมะเร็ง และโรคหัวใจ

หัวใจของเราเป็นอวัยวะหนึ่งที่ทำงานหนักที่สุดตลอดชีวิต หลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจประกอบด้วยหลอดเลือดแดงหลัก 2 เส้น เรียกว่า หลอดเลือดแดงโคโรนารีย์ ด้านขวา 1 เส้น และด้านซ้าย 1 เส้น ซึ่งด้านซ้ายจะแตกแขนงออกเป็น 2 เส้นใหญ่ นอกจากนั้นแต่ละเส้นยังส่งแขนงย่อยๆ ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอีกด้วย

ดังนั้นหากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจเหล่านี้เกิดการตีบ หรืออุดตัน ก็จะนำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือดกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ กล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นผลขั้นสุดท้ายของหลอดเลือดโคโรนารีอุดตัน หรือมีการหดตัวอย่างรุนแรงและเป็นเวลานาน ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นเสียหายอย่างถาวร จากการขาดออกซิเจนและสารอาหารอย่างรุนแรง เมื่อนานเข้าก็เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถคืนดีดังเดิมได้ กล้ามเนื้อหัวใจที่ตายจะหยุดทำงาน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตตั้งแต่แรกจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Ventricular fibrillation) หรืออาจตายจากภาวะหัวใจวายในเวลาต่อมา การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายนับเป็นภาวะฉุกเฉินที่อันตรายยิ่ง เพราะผู้ป่วยอาจเสียชีวิต ทันทีถึงครึ่งหนึ่ง ณ ที่เกิดเหตุ โดยมีสาเหตุจากการนำไฟฟ้าที่ผิดปกติเป็นผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ การใช้ไฟฟ้าช็อคหัวใจให้กลับมาเต้นปกติร่วมไปกับการปั๊มหัวใจ และช่วยการหายใจอย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ในขั้นต้น

สาเหตุใหญ่ของหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน
เพราะมีการสะสมของสารต่างๆ หลายชนิดบนผนังหลอดเลือด สารที่เกิดการสะสมมากที่สุดก็คือไขมัน และคอเลสเตอรอลคือ ไขมันตัวร้ายที่สุดที่ไปสะสมอย่างตามผนังหลอดเลือด การสะสมของไขมันนี้เกิดตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่น โดยมีลักษณะเป็นปื้นไขมันเล็กๆ สีเหลือง ซึ่งอาจหายไปได้หลังจากได้รับการรักษา

คอเลสเตอรอลในร่างกายของเรามาจาก 2 แหล่งคือ ส่วนที่ร่างกายสร้างขึ้นเองและส่วนที่มาจากอาหาร ตามปกติคอเลสเตอรอลเป็นสารไขมันที่ให้ประโยชน์ ร่างกายมีกลไกที่ควบคุมดูแลคอเลสเตอรอลไม่ให้สร้างปัญหาขึ้นได้ แต่บางครั้งกลไกควบคุมนั้นก็อาจเกิดปัญหาขึ้นมาเสียเองหลอดเลือดโดยมีพังผืดหุ้มไว้บางๆ เมื่อเปลือกหุ้มไขมันนี้เกิดปริแตกออก ก็จะทำให้ไขมันข้างใต้ทันที เป็นผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ
พบว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้ ได้แก่ อายุ เพศ โดยเฉพาะชาย (ฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิงจะช่วยป้องกันโรคนี้) พันธุกรรมก็เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงไม่เปลี่ยนแปลงได้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่

          1. ความดันโลหิตสูง
          2. คอเลสเตอรอลในเลือดสูง
          3. โรคเบาหวาน
          4. ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
          5. สูบบุหรี่จัด อัตราการเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากหัวใจวายในคนที่สูบบุหรี่นั้นมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่อย่างน้อย 2 เท่า
          6. ขาดการออกกำลังกาย

อาการเจ็บหน้าอกจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
เป็นความรู้สึกบีบรัดและแน่นอึดอัด เหมือนมีอะไรมาทับที่บริเวณกลางหน้าอก หรือส่วนบนของร่างกาย อาจมีอาการปวดร้าวไปตามแขน คอ กราม อาการมักจะรุนแรงและอาจมีเหงื่อแตกร่วมด้วย อาการมักจะเป็นเวลานานมากกว่า 20 นาที มักพบในคนวัยกลางคน และผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการเมื่อออกกำลังกาย และรู้สึกทุเลาเมื่อได้พัก อย่างไรก็ตาม ในบางคนอาจพบอาการเจ็บหน้าอกขึ้นเองในขณะพัก อาการเจ็บหน้าอกสามารถรักษาได้หลายวิธีตามคำแนะนำจากแพทย์ แต่ในบางครั้งก็อาจมีอาการที่แตกต่างกันไป เช่น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย หายใจขัด หอบเหนื่อย เป็นลม

การตรวจ
การตรวจร่างกายมักจะพบว่ามีชีพจรเบาเร็ว ความดันอาจจะปกติ ต่ำหรือสูงก็ได้ อาจได้ยินเสียงผิดปกติของการบีบตัวของหัวใจหรือได้ยินเสียงฟู่ (Murmur) เสียงผิดปกติของปอดจากภาวะน้ำท่วมปอด (Crepitation)
          – ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (E.K.G)
          – การตรวจเลือดหาเอ็นไซม์ที่แสดงถึงการที่มีกล้ามเนื้อหัวใจตาย เช่น Troponin-T, Troponin-I, CK-MB
          – การตรวจเอกซเรย์ปอด
          – การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echo-Doppler)

การรักษา
การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเป็นการรักษาที่เร่งด่วน จำเป็นต้องรับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 1-14 วัน ต้องอยู่ใน C.C.U. เพื่อติดตามดูการเต้นหัวใจอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ผู้ป่วยจะต้องรับออกซิเจนเพื่อให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น นอนพักบนเตียงเพื่อให้หัวใจทำงานน้อยที่สุด การได้รับยาต่างๆ เช่น ยาขยายหลอดเลือด ยาลดการทำงานของหัวใจ ยาต้านการเกาะตัวของเกร็ดเลือด ยาลดไขมัน ยาละลายลิ่มเลือด เป็นต้น การรักษาทันท่วงทีรวมทั้งการปฏิบัติการกู้หัวใจ และการเปิดหลอดเลือดที่อุดตันให้เร็วที่สุดเพราะยิ่งเวลาผ่านไป (เกิน 6 ชม.) ผนังกล้ามเนื้อที่ขาดเลือดก็จะยิ่งถูกทำลาย และอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายในเวลาต่อมา การแก้ไขให้เลือดไหลผ่านโดยเร็วจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วย และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดตามมาได้ การรักษาที่ได้ผลดีที่สุดก็ คือการขจัดก้อนเลือดที่อุดตันนี้โดยเร็ว ซึ่งอาจทำได้ด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือการใช้ลูกโป่งขยายหลอดเลือด

ยาละลายลิ่มเลือด : จะต้องให้ภายใน 6 ชั่วโมง โดยต้องไม่มีข้อห้ามใช้ซึ่งแพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้พิจารณาการให้ยาละลายลิ่มเลือด

การขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ด้วยสายสวนพิเศษชนิดบัลลูนหรือการใช้ขดลวดค้ำยันร่วมด้วย
เป็นการรักษาที่ดีและได้ผลรวดเร็ว ซึ่งอาจทำได้เลยตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงหรือมีข้อจำกัดไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ หรือในกรณีที่ให้ยาละลายลิ่มเลือดแล้วผู้ป่วยยังมีอาการเจ็บหน้าอกอยู่

การป้องกัน

          1. หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ลดปริมาณไขมันในอาหาร
          2. เลิกบุหรี่โดยเด็ดขาด
          3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
          4. ควบคุมเบาหวานและความดันโลหิตสูง
          5. ทำจิตใจให้ผ่องใส ควบคุมอารมณ์ ไม่เครียด
          6. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วน

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย : งดบุหรี่โดยเด็ดขาด รับประทานยาลดไขมันในเลือดหากควบคุมอาหารไม่ได้ผลดี ให้คอเลสเตอรอลน้อยกว่า 200, LDL น้อยกว่า 100 ควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิตให้ปกติ ออกกำลังกาย ตามสมควรตามคำแนะนำของแพทย์ หากแน่นหน้าอกรุนแรงต้องรีบมาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที ยิ่งมาเร็วยิ่งดี