ภัยเงียบคนทำงาน เครียด-นอนไม่หลับ-อยากอาหารหวาน เสี่ยงต่อมหมวกไตล้า

เคยรู้สึกไหมเวลาทำงานหนักๆ รู้สึกเครียด ร่างกายจะมีอาการ ‘มึนหัว อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ หิวของหวาน อยากของเค็ม’ ซึ่งถ้ามีก็แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เลย เพราะว่านี่ไม่ใช่แค่การเหนื่อยล้าจากการทำงานธรรมดา แต่เป็นกลุ่มอาการที่บ่งบอกว่า คุณหักโหมเกินไปจนร่างกายเริ่มเครียดแล้ว ยิ่งมีความเครียดมากเท่าไหร่ โอกาสที่โรคร้ายจะรุมเร้าก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

นพ.ธรณัส กระต่ายทอง อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ และเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน กล่าวว่า ความเครียดไม่เพียงทำให้สูญเสียพลังงาน แต่ยังนำมาซึ่งโรคร้าย เช่น โรคหัวใจ โรคความดัน โรคกระเพาะอาหาร และไมเกรน ซึ่งตามหลักวิชาการแล้ว ความเครียดเป็นปฏิกิริยาของสมองที่แต่ละคนจะมีปฏิกิริยาตอบสนองไม่เหมือนกัน หรืออีกนัยหนึ่งคือ แต่ละคนทนความเครียดได้ไม่เท่ากัน ดังนั้นร่างกายก็จะแสดงอาการออกมาแตกต่างกันไป โดยมากมักจะปวดหัวหรือปวดท้อง

อายุรแพทย์ฯ กล่าวอีกว่า ส่วนอันตรายก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความเครียด ว่ามากน้อยแค่ไหน และความอดทนของแต่ละบุคคล ซึ่งปกติแล้วในออฟฟิศทั่วไปมักจะมีคนที่เครียดจนเป็นโรค ประมาณร้อยละ 20 ขณะที่ร้อยละ 60-70 ของพนักงานออฟฟิศ จะมีอาการเจ้าปัญหาที่แฝงมากับความเครียดโดยไม่รู้ตัว นั่นคือ ปัญหาต่อมหมวกไตล้า(Adrenal fatigue)

“อาการเครียดที่มากเกินไปจนต่อมหมวกไตสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หากร่างกายเรามีฮอร์โมนตัวนี้มากไปจะเป็นฮอร์โมนทำลายล้าง แต่ถ้ามีน้อยจะทำให้รู้สึกไม่มีแรง ดังนั้นเวลามีคนมาปรึกษาเรื่องความเครียด หมอจึงประเมินจากฮอร์โมนตัวนี้เป็นหลัก ถ้ามีอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ นอนไม่พอ หิวของหวาน อยากของเค็ม ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะฮอร์โมนคอร์ติซอลต่ำ สามารถแก้ไขได้ด้วยการให้ฮอร์โมนหรือให้สารบางอย่างที่ช่วยปรับให้ความเครียดต่ำลง และทำให้ต่อมหมวกไตทำงานได้ดีขึ้น” นพ.ธรณัสกล่าวและว่า

แต่หากตรวจแล้วฮอร์โมนปกติ ร่างกายไม่มีอะไรผิดเพี้ยนเลย นั่นอาจจะบอกได้ว่าคุณมีอาการเครียดจากจิตใจ บางคนจิตใจเครียดจนเกิดความผิดปกติทางพฤติกรรม เช่น ย้ำคิดย้ำทำ ระแวงเกินไป หรือมีปัญหาที่รบกวนคุณภาพชีวิตอย่างการนอนไม่หลับ ทำงานไม่ได้ จนกลายเป็นอาการทางประสาทหรือโรคทางจิตเวช ซึ่งต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาโดยการใช้ยาหรือจิตบำบัดตามแต่อาการ

 

นพ.ธรณัส กระต่ายทอง

นพ.ธรณัสแนะนำให้ปรับสมดุลให้ชีวิตเพื่อไม่ให้ความเครียดก่อกลายเป็นโรค ขั้นต้นให้สังเกตคุณทำงานเยอะไปจนรบกวนนาฬิกาชีวิตของตัวเองหรือเปล่า สังเกตได้จากการนอน โดยทั่วไปแล้วคนเราต้องทำงานเช้าถึงเย็น กลางคืนคือเวลาพักผ่อน แต่หากยังฝืนทำงานต่อจนดึกดื่นจะรบกวนระบบร่างกาย ทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ และมีความเครียด จนเกิดอาการนอนหลับไม่สนิท ฝันร้าย หลับๆ ตื่นๆ นอนเท่าไรก็ไม่พอ หากมีอาการเหล่านี้จำเป็นต้องรีบปรับเปลี่ยนตัวเองโดยด่วน ให้รู้จักแบ่งเวลา วางแผนชีวิตในแต่ละวันว่าจะทำอะไรแค่ไหน ให้เวลากับการทำงานแล้วก็ต้องมีเวลาส่วนตัว รวมถึงเวลาออกกำลังกาย

“ควรวางแผนรวมไปถึงเรื่องอาหารการกินด้วย เพื่อปรับสมดุลทั้งทางร่างกายและจิตใจ หากเกิดอาการเครียดแล้ว แนะนำให้สวดมนต์และทำสมาธิ หรือออกกำลังกายแบบ Breathing Exercise ได้แก่ โยคะ ไทชิ เพราะมีผลการศึกษาวิจัยแล้วว่าช่วยให้หายเครียดได้จริง แต่ไม่ควรออกกำลังกายแบบหักโหม เช่น วิ่งมาราธอน ต่อยมวย เพราะยิ่งทำให้ระดับความเครียดสูงขึ้น”

นพ.ธรณัสกล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้คนทำงานทุกคนเข้าใจไว้ว่า งานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต ทำงานหนักได้ แต่ต้องดูแลและใส่ใจทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของตัวเองให้ดีด้วย ถึงจะเป็นชีวิตที่สมดุลอย่างแท้จริง