คนไทยเกือบ 40 % มีปัญหา ‘นอนไม่หลับ’ ก่อ ‘เครียด-หงุดหงิดง่าย’ เปิด 10 วิธีหลับได้ไม่ยาก

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การนอนหลับที่เพียงพอช่วยให้ร่างกายและจิตใจได้ฟื้นสภาพรู้สึกสดชื่นแจ่มใส เป็นผลดีต่ออารมณ์ความรู้สึกในวันถัดไป โดยทั่วไปคนเราใช้เวลานอนหลับ 1 ใน 3 ของเวลาทั้งหมด คนส่วนใหญ่ต้องการนอนวันละ 8 ชั่วโมง บางคนอาจนอนมากน้อยแตกต่างกัน ในกลุ่มของผู้สูงอายุต้องการนอนวันละ 7-8 ชั่วโมงไม่แตกต่างจากคนทั่วไปเช่นกัน แต่ที่ผ่านมายังมีประชาชนบางส่วนเข้าใจว่าผู้สูงอายุต้องการนอนหลับน้อยกว่าคนวัยอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ประชาชนทุกคนมีโอกาสเกิดปัญหานอนไม่หลับในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตได้ สถานการณ์ในประเทศไทยพบประชาชนไทยประสบปัญหานอนไม่หลับในช่วงกลางคืนหรือหลับไม่เพียงพอร้อยละ 30-40 และมีปัญหานอนไม่หลับเรื้อรังร้อยละ 10 ส่วนในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดปัญหานอนไม่หลับ เนื่องจากเซลล์ประสาทในสมองที่ควบคุมการนอนหลับเสื่อมสภาพและมีจำนวนลดลง กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการสำรวจขนาดปัญหาในระดับชาติครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2556 ผลพบว่าประสบปัญหาการนอนหลับในช่วงกลางคืนร้อยละ 22 หรือพบได้ 1 คน ในผู้สูงอายุทุกๆ 5 คน อาการที่พบมีทั้งเกิดเดี่ยวๆได้แก่หลับยาก หลับๆตื่นๆกลางดึก และเกิดควบคู่กัน 2 อาการขึ้นไป เช่น หลับยากร่วมกับหลับๆตื่นๆ กลางดึก ผู้หญิงจะนอนไม่หลับสูงกว่าผู้ชาย

“ผลกระทบจากการนอนไม่หลับหรือนอนไม่พอ จะเป็นพื้นฐานก่อให้เกิดความเครียดอารมณ์หงุดหงิดง่าย ร่างกายอ่อนเพลีย ขาดสมาธิ ความจำไม่ดี ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน การเรียน การตัดสินใจแย่ลง ในผู้สูงอายุอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่ายขึ้นหากเกิดในผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อมอาจทำให้มีอาการรุนแรง ความจำสับสน หลงวันหลงเวลามากขึ้น ประชาชนจึงไม่ควรมองข้าม และขอแนะนำให้ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับเป็นเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ควรพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อให้การรักษาตรงกับต้นเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับ ควบคู่กับการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในการนอน จะช่วยให้อาการดีขึ้น ถ้าปล่อยให้เป็นมาก การรักษาจะยากขึ้น” อธิบดีฯกล่าว

นพ.จุมภฎ พรมสีดา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การนอนไม่หลับเป็นอาการ ไม่ใช่โรค ส่วนใหญ่มักจะมาจาก 3 สาเหตุ ได้แก่ ปัญหาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ การใช้ยารักษาโรคบางชนิดที่ทานอยู่ประจำ และพฤติกรรมการนอนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งต้องแก้ไขตามสาเหตุ สำหรับการป้องกันปัญหานอนไม่หลับและช่วยให้การนอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น แนะนำให้ประชาชนปฏิบัติ 10 วิธี ดังนี้

1. เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน เพื่อให้เกิดความเคยชิน
2.ลุกจากที่นอนทันทีเมื่อตื่น การสัมผัสแสงแดดอ่อนๆในตอนเช้า ออกกำลังกายเบาๆหลังตื่นนอน 10 -15 นาที จะช่วยสมองและร่างกายตื่นตัว
3. อาบน้ำอุ่น ดื่มนมหรือดื่มน้ำผลไม้ อ่านหนังสือเบาๆสมองประมาณ 10 นาที ก่อนนอน 1-2 ชั่วโมง และเลี่ยงการทำงานหรือกิจกรรมที่ตึงเครียด
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันในช่วงเช้าหรือช่วงเย็นอย่างน้อยวันละ 30 นาที ช่วยลดความตีงเครียดร่างกายและอารมณ์
5. จัดห้องนอนให้มืด เงียบ สบาย ปลอดภัย อากาศถ่ายเทดี
6. ควรใช้ที่นอนเวลานอนกลางคืนเท่านั้น ไม่ควรทำงาน ดูทีวีหรืออ่านหนังสือบนที่นอน
7. หากเข้านอนแล้วยังไม่หลับภายใน 15 – 30 นาที ให้ลุกจากที่นอนและทำกิจกรรมให้ความเพลิดเพลินเช่นฟังเพลง อ่านหนังสือ เมื่อรู้สึกง่วงจึงกลับไปนอนใหม่ ไม่แนะนำให้ดูทีวี ดูข่าว เล่นคอมพิวเตอร์ เนื่องจากจะเร้าความรู้สึกตื่นตัว ทำให้นอนไม่หลับ
8. ไม่ควรงีบหลับในช่วงกลางวัน หากจำเป็นไม่ควรงีบเกิน 30 นาที
9. ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ก่อนนอน ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาแฟอีนเช่นชา กาแฟ เกินวันละ2 ครั้ง
10. รับประทานอาหารมื้อเย็นเบาๆ เช่นนม น้ำผลไม้ ไม่ควรดื่มน้ำมากก่อนเข้านอนเพราะจะให้ปวดปัสสาวะบ่อย รบกวนการนอน

 

ที่มา มติชนออนไลน์