ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
อากาศเมืองไทยช่วงนี้ร้อนจริงๆ หลายคนชุดเปียกตั้งแต่ยังไม่พ้นตัวบ้าน แต่หลายคนยิ่งน่าเห็นใจ มีใช้ชีวิตช่วงกลางวันส่วนใหญ่ท่ามกลางอากาศร้อนถึงร้อนจัด ซึ่งไม่เพียงแสงแดดจะทำให้สีผิวเปลี่ยน เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง เรายังมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือลมแดด รุนแรงขนาดที่ว่าสามารถคร่าชีวิตเราได้แบบไม่ทันตั้งตัว แต่ก็มีวิธีรับมือ
พญ.ปานหทัย ทองมาก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายว่า ฮีทสโตรกเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับความร้อนที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากการควบคุมอุณหภูมิเสียไป จนทำให้อุณหภูมิแกนสูงขึ้นและเกิดความผิดปกติทางระบบประสาท ทั้งนี้ โดยปกติแล้วร่างกายจะมีการควบคุมอุณหภูมิแกน โดยผ่านสมดุลระหว่าง การสร้างความร้อน จากเมแทบอลิซึมหรือระบบเผาผลาญในร่างกาย และจากการดูดซับความร้อนจากสิ่งแวดล้อมกับ การกำจัดความร้อนออกจากร่างกาย ผ่านทางการระเหยเป็นเหงื่อหรือลมหายใจ การแผ่รังสี การนำความร้อน และการพาความร้อน
“ในภาวะปกติทั้งสองด้านต้องทำงานกันอย่างสมดุล เพื่อกำจัดความร้อนก่อนจะถึงจุดที่เป็นอันตราย แต่เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนอุณหภูมิแกนสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป เซลล์และอวัยวะต่าง ๆ จะสูญเสียการทำงานจนเกิดความผิดปกติรวมทั้งระบบประสาทส่วนกลาง ก่อให้เกิดอาการสับสน กระวนกระวาย ซึม ชัก ซึ่งเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้เลย และจากสถิติอัตราการเสียชีวิตจากฮีทสโตรก ก็ค่อนข้างสูงทีเดียว”
ไม่เพียงทหารเกณฑ์หรือนักกีฬาที่เป็นฮีทสโตรกกันบ่อยตามข่าว คนทั่วไปก็มีโอกาสเป็นได้เหมือนกัน โดยเฉพาะคนแก่ เด็กเล็ก คนอ้วน และคนที่อยู่ในภาวะร่างกายขาดน้ำ รวมถึงคนวัยทำงานที่ชอบออกกำลังกายหักโหมเกินไป ก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน โดยคุณหมอปานหทัยเผยว่า ช่วงหลังมานี้ผู้คนเริ่มหันมาสนใจการออกกำลังกายมากขึ้น ทั้งเข้าฟิตเนส ออกกำลังกายกลางแจ้ง ไปร่วมงานวิ่ง ยิ่งต้องระวังตัว เพราะในระหว่างออกกำลัง ร่างกายเราจะมีการสร้างความร้อนจากกระบวนการเผาผลาญที่เพิ่มขึ้น และหากไปอยู่ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงโดยเฉพาะร้อนชื้นด้วยแล้ว ระบบกำจัดความร้อนของร่างกายอาจจะทำงานไม่ทันจนทำให้เกิดอาการได้
สำหรับวิธีสังเกตว่าร่างกายที่ส่งสัญญาณว่าจะเป็นโรคลมแดดแล้วนั้น พญ.ปานหทัยเผยว่า ดูได้จากอาการเตือนเบื้องต้น เช่น เป็นตะคริว รู้สึกหน้ามืด วิงเวียน คล้ายจะเป็นลม หรือเริ่มเหนื่อย อ่อนเพลีย ใจสั่น หากมีอาการเหล่านี้แล้วไม่รีบพัก สุดท้ายอาจจะกลายเป็นฮีทสโตรก แต่บางครั้งโรคนี้ก็มาหาแบบทันทีทันใดไม่ทันตั้งตัว ดังนั้นป้องกันไว้ก่อนดีที่สุดด้วยวิธีง่ายๆ ตรงไปตรงมา คือ ในเมื่อสาเหตุมาจากความร้อนก็ต้องหลีกเลี่ยงความร้อน พยายามอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ และไม่หักโหมหรือฝืนร่างกายจนเกินไป
“แต่หากบังเอิญเห็นใครมีอาการของโรคฮีทสโตรก ให้รีบปฏิบัติดังนี้ พาหลบไปอยู่ในที่ร่มหรือที่เย็นและมีอากาศถ่ายเทสะดวก, หาพัดลมมาเป่าเพื่อช่วยในการระบายความร้อนออกจากร่างกาย, ถอดเสื้อแล้วเช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ เพื่อลดอุณหภูมิ, นำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ต้องจำไว้ว่า ยิ่งลดความร้อนในร่างกายได้เร็วเท่าไร โอกาสรอดยิ่งสูงเท่านั้น ส่วนคนที่ไม่อยากเผชิญหน้ากับโรคร้อนที่มาพร้อมกับอันตรายนี้ ก็ต้องรู้ลิมิตและประเมินตัวเองให้ดี ถ้าช่วงนี้ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ร่างกายไม่พร้อม ก็อย่าเพิ่งคิดไปออกกำลังกายหนักๆ เลย เชื่อเถอะว่ากันไว้ดีกว่าแก้” พญ.ปานหทัยกล่าว