วิจัยพบผู้หญิงโสมขาวอายุคาดเฉลี่ยเกิน 90 ปี นักวิทย์ชี้ก่อนหน้านี้ไม่เชื่อเป็นไปได้

FILE PHOTO: Elderly residents exercise on the island of Yeonpyeong, which lies in the Yellow Sea, South Korea, April 9, 2014. REUTERS/Damir Sagolj/File Photo

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ผลการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่เปิดเผยในวารสารการแพทย์แลนเซตเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ระบุว่า ภายในปีพ.ศ.2573 อายุคาดเฉลี่ยของผู้หญิงในเกาหลีใต้อาจมากกว่า 90 ปี นับเป็นค่าเฉลี่ยอายุขัยที่เชื่อกันมายาวนานว่าเกินกว่าที่มนุษย์จะสามารถมีได้

ผลวิจัยระบุด้วยว่า นอกจากจะเป็นประเทศแรกในโลกที่ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 90 ปี แต่เกาหลีใต้ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่สถิติการมีอายุยืนของผู้คนเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยอายุเฉลี่ยของผู้หญิงเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 6.6 ปี ตามด้วย สโลวีเนีย 4.7 ปี และโปรตุเกส 4.4 ปี

ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วแห่งอื่นๆ ตามมาอย่างไม่ห่างมากนัก โดยผู้หญิงฝรั่งเศสและญี่ปุ่นมีอายุคาดเฉลี่ยที่ 88 ปี

ศาสตราจารย์มาจิด เอซซาติ แห่งมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระบุว่า “เมื่อเร็วๆ นี้ก่อนขึ้นศตวรรษใหม่ นักวิจัยจำนวนมากเชื่อว่า อายุคาดเฉลี่ยของมนุษย์ไม่มีทางเกิน 90 ปี”

ขณะที่ผลการศึกษาระบุไว้ด้วยว่าประเทศที่มีอายุคาดเฉลี่ยของผู้ชายยืนยาวที่สุดภายในปี 2573 ที่ 84 ปี มีแนวโน้มว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่ประเทศที่มีอัตราการเพิ่มอายุเฉลี่ยของผู้ชายมากที่สุดคือ ฮังการี 7.5 ปี เกาหลีใต้ 7.0 ปี และสโลวีเนีย 6.4 ปี

ผลวิจัยระบุด้วยว่า อายุคาดเฉลี่ยโดยรวมของ 35 ประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) จะเพิ่มขึ้นทั้งหมดในช่วง 15 ปีข้างหน้า

ข่าวระบุว่า ความสำเร็จของเกาหลีใต้ในเรื่องนี้มาจากสถานะทางเศรษฐกิจ ร่วมกับการพัฒนาด้านโภชนาการเด็ก ความสามารถในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย นอกจากนี้ ผู้หญิงเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นยังมีอัตราการเป็นโรคอ้วน และสูบบุหรี่ต่ำมากอีกด้วย

ขณะที่สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีอายุคาดเฉลี่ยรั้งท้ายเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน โดยเป็นเพียงประเทศเดียวที่ไม่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งผลวิจัยระบุว่าเป็นเสาหลักสำคัญในยุทธศาสตร์การลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ใหญ่ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยเตือนด้วยว่า แม้เรื่องนี้จะถือว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน การที่ประชากรมีอายุยืนมากขึ้นเป็นความท้าทายใหญ่หลวงของระบบสาธารณสุขและบริการสังคมเช่นเดียวกัน

 

ที่มา มติชนออนไลน์