รู้จัก ไซยาไนด์ สารพิษคร่าชีวิตคน โดนแล้วมีอาการแบบไหน ปฐมพยาบาลอย่างไร

รู้จัก ไซยาไนด์ สารพิษคร่าชีวิตคน โดนแล้วมีอาการแบบไหน ปฐมพยาบาลอย่างไร 

ก่อนหน้านี้เราอาจพบเห็นและได้ยินชื่อสารไซยาไนด์จากการ์ตูนชื่อดัง อย่าง ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน แต่เมื่อมีการนำมาใช้ในชีวิตจริง จนเกิดเป็นคดีสะเทือนขวัญ ทำให้มีผู้เสียชีวิตที่มีลักษณะอาการคล้ายๆ กันจำนวนมาก นั่นยิ่งทำให้หลายคนตื่นตระหนก และอยากรู้จักสารไซยาไนด์กันมากขึ้น เพื่อที่จะได้ระวังตัวได้อย่างถูกต้อง 

สารไซยาไนด์ เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่มีความเป็นพิษสูง มีการนำมาใช้ทางอุตสาหกรรมต่างๆ หรือเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์บางประเภท เช่น ยาฆ่าแมลง น้ำยาขัดเงาโลหะ น้ำยาทำความสะอาดเครื่องเพชรพลอย ใช้ในอุตสาหกรรมการถลุงโลหะ เป็นต้น โดยจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เวลานำเข้า ผลิต ส่งออก ครอบครอง ต้องขออนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมก่อน โดย ห้ามใช้ทางสาธารณสุข ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอาง จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก และครอบครอง 

ไซยาไนด์สามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ โดยพบในพืชบางชนิด เช่น เมล็ดของแอพริคอต และเชอร์รีดำ และสารลินามาริน (Linamarin) ซึ่งพบได้ในหัวและใบของมันสำปะหลัง นอกจากนี้ กระบวนการเผาผลาญภายในร่างกายมนุษย์ก็สามารถก่อให้เกิดสารไซยาไนด์ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไซยาไนด์ปริมาณเพียงเล็กน้อยที่พบในพืชและกระบวนการเผาผลาญนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

ลักษณะอาการเมื่อถูกสารพิษ

อาจมีอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ หมดสติ ชัก เลือดเป็นกรดรุนแรง และเสียชีวิตได้โดยผลกระทบจากการได้รับไซยาไนด์อาจแบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้

ภาวะเป็นพิษจากไซยาไนด์แบบเฉียบพลัน เป็นอาการที่เกิดขึ้นในทันที เช่น หายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก และหมดสติ เป็นต้น

ภาวะเป็นพิษจากไซยาไนด์แบบเรื้อรัง เกิดจากการได้รับไซยาไนด์ ปริมาณเล็กน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ในเบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่นแดง และอาจมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้หัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดปกติ ผิวหนังบริเวณใบหน้าและแขนขากลายเป็นสีม่วง หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด

ยาต้านพิษไซยาไนด์ 

ได้แก่ ยาฉีดโซเดียมไนไตรต์ และ ยาฉีดโซเดียมไธโอซัลเฟต เป็นยาในโครงการยาต้านพิษของประเทศไทย มีสำรองที่โรงพยาบาลระดับจังหวัดขึ้นไปทุกแห่งทั่วประเทศ โดยควรได้รับยาต้านพิษไซยาไนด์อย่างทันท่วงที ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น 

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น 

1. ห้ามสัมผัสกับผิวหรือเสื้อผ้า ให้ใช้กรรไกรตัดผ้าออกเป็นชิ้นๆ นำออกจากลำตัว อย่าให้ถูกผิวส่วนอื่น ให้ล้างผิวด้วยน้ำและสบู่ และรีบส่งโรงพยาบาล 

2. หากสัมผัสดวงตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องอย่างน้อย 10 นาที และรีบส่งโรงพยาบาล 

3. หากสูดดมและรับประทาน กรณีหยุดหายใจ ให้ทำ CPR และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล ห้ามใช้วิธีเป่าปาก

 

ที่มา 

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์

FDA Thai