วิธีเลือกซื้อไอศกรีม และ น้ำแข็ง ของกินเย็นๆ ช่วยดับร้อน 

วิธีเลือกซื้อไอศกรีม และ น้ำแข็ง ของกินเย็นๆ ช่วยดับร้อน 

ในช่วงหน้าร้อน ที่บางพื้นที่มีค่าดัชนีความร้อนสูงถึง 50 องศาเซลเซียสแบบนี้ คงต้องหาตัวช่วยมาช่วยดับร้อนกันบ้าง หากนั่งอยู่บ้านก็ต้องเปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำ แต่ถ้าเรื่องของกินเย็นๆ มาช่วยดับกระหายต้องยกให้ไอศกรีมหรือน้ำแข็ง และเพื่อให้กินได้อย่างสบายใจ เรามาดูวิธีการเลือกซื้อไอศกรีมและน้ำแข็งกันดีกว่า ว่าควรสังเกตอะไรบ้าง

วิธีเลือกซื้อไอศกรีม

1. อ่านฉลากอาหารก่อนซื้อ โดยฉลากที่แสดงบนบรรจุภัณฑ์ต้องมีข้อความภาษาไทย และมีรายละเอียด ดังนี้ ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ส่วนประกอบ ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต/ผู้นำเข้า วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน วิธีการเก็บรักษา และข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร เป็นต้น

2. ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับอาหารหวาน มัน เค็ม มากเกินไป ที่เป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เนื่องจากกลุ่มไอศกรีมที่ผ่านเกณฑ์สารอาหาร และได้การรับรองให้ใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวต้องมีค่าพลังงานทั้งหมด=130 กิโลแคลอรีต่อหน่วยบริโภค น้ำตาลทั้งหมด ≤20 กรัมต่อ 100 กรัม โซเดียม ≤100 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม 

3. ลักษณะภาชนะบรรจุ ต้องสะอาด ปิดสนิท ไม่ฉีกขาด ไอศกรีมไม่รั่วซึมออกมา

4. ลักษณะไอศกรีม ตัวไอศกรีมต้องไม่เหลวเหมือนเคยละลายมาแล้ว มีสี กลิ่นรส ตามลักษณะของไอศกรีมนั้นๆ

5. สถานที่จำหน่าย ต้องมีตู้แช่แข็งไอศกรีม จัดเป็นสัดส่วนเรียบร้อย ไม่แช่ปะปนกับอาหารหรือสิ่งอื่นๆ

 วิธีเลือกซื้อน้ำแข็งหลอด

1. อ่านฉลากอาหารก่อนซื้อ โดยฉลากบนบรรจุภัณฑ์น้ำแข็ง ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยแต่จะมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้ ระบุรายละเอียดของชื่ออาหาร เลขสารบบอาหารมีข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ ผู้นำเข้า และประเทศผู้ผลิตสำหรับน้ำแข็งนำเข้าแล้วแต่กรณี น้ำหนักสุทธิเป็นกรัมหรือกิโลกรัม

2. ลักษณะภาชนะบรรจุ ถุงที่บรรจุต้องสะอาด ปิดสนิทแน่นหนา ไม่ฉีกขาด

3. ลักษณะน้ำแข็ง ต้องใส สะอาด ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีสิ่งแปลกปลอมในก้อนน้ำแข็ง เมื่อน้ำแข็งละลายจะต้องใสไม่มีตะกอนขาวขุ่นๆ อยู่ก้นแก้ว

4. สถานที่จำหน่าย ตู้เก็บต้องสะอาดและถูกสุขลักษณะ

ที่มา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา