ภัยเงียบอย่ามองข้าม! นอนกรน ตื่นกลางดึก ง่วงทั้งวัน ไม่มีสมาธิ ส่อโรค

Unhappy exhausted mature woman with closed eyes lying in bed, touching temples close up, tired female suffering from headache or migraine, feeling unwell, suffering from insomnia, lack of sleep

ภัยเงียบอย่ามองข้าม! นอนกรน ตื่นกลางดึก ง่วงทั้งวัน ไม่มีสมาธิ ส่อโรค ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์ รพ.วิมุต ชี้ อย่านิ่งนอนใจ รีบรักษาก่อนเสี่ยงอีกหลายโรค!

หลายๆ คนคงทราบกันดีว่าการนอนหลับเต็มอิ่มถือเป็น “ยาวิเศษ” ที่ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ลดความเครียดและความเหนื่อยล้าในแต่ละวัน พร้อมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายได้เป็นอย่างดี ในทางกลับกัน การนอนหลับไม่สนิท สะดุ้งตื่นกลางดึก กรนหรือหายใจติดขัด จนตื่นบ่อยๆ ก็ทำให้ตื่นเช้ามาไม่สดชื่น

ร่างกายอิดโรยไม่พร้อมสำหรับการเริ่มวันใหม่ได้เหมือนกัน ซึ่งหลายคนอาจไม่ทราบว่าอาการเหล่านี้อาจเป็นเพราะเรา “หยุดหายใจ” ระหว่างที่หลับ และหากเป็นเช่นนี้บ่อยๆ ก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคร้ายแรงอื่นๆ ตามมาได้

พญ.เพชรรัตน์ แสงทอง แพทย์ผู้ชำนาญการโสต ศอ นาสิก จากศูนย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลวิมุต จะชวนมาทำความรู้จักกับ “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ” ซึ่งเป็นความผิดปกติของการหายใจขณะหลับชนิดหนึ่งที่ คนไทยจำนวนมากไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังเป็น พร้อมเล่าถึงสัญญาณอันตรายที่ไม่ควรละเลย ตลอดจนแนวทางการรักษาที่สามารถทำให้เรากลับมานอนหลับดีมีประสิทธิภาพได้อีกครั้ง

โดยอธิบายว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ก็คือการหยุดหายใจชั่วคราวขณะนอนหลับ ซึ่งทำให้สมองตื่นตัวเป็นระยะ จนไม่สามารถหลับได้ยาวๆ ตามปกติ สังเกตได้จากการสะดุ้งตื่นกลางดึก หลับไม่ต่อเนื่อง พอตื่นเช้ามาจะไม่สดชื่น แม้นอนนานๆ ก็ยังง่วงตอนกลางวัน

พญ.เพชรรัตน์ แสงทอง แพทย์ผู้ชำนาญการโสต ศอ นาสิก จากศูนย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลวิมุต

โดยแพทย์ชี้ว่า ภาวะดังกล่าวส่งผลต่อการใช้ชีวิตในแบบที่หลายคนคาดไม่ถึง เพราะการนอนหลับไม่ปกติอาจทำให้อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ จนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และหากโชคร้าย ก็อาจเกิดอาการหลับในระหว่างที่ขับขี่ยานพาหนะหรือระหว่างที่ทำงานกับเครื่องจักร จนประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตได้

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน ประเภทที่ 1) คือภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น พบได้มากถึง 80% ของคนไข้ที่เป็นภาวะนี้ โดยเกิดจากการยุบตัวหรือหย่อนลงของอวัยวะทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ จมูก เพดานอ่อน ลิ้นไก่ โคนลิ้น และฝาปิดกล่องเสียง ซึ่งเกิดขึ้นได้ตอนที่เราหลับและส่วนต่างๆ ของร่างกายก็ผ่อนคลาย อวัยวะทางเดินหายใจเหล่านี้ก็อาจหย่อนลงทำให้ปิดทางเดินหายใจ จนเราหยุดหายใจตอนหลับได้

ประเภทที่ 2) คือ ภาวะหยุดหายใจจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เกิดจากประสาทส่วนกลางสั่งการหยุดหายใจ อันนี้จะพบในกลุ่มคนไข้ที่มีอาการทางสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือ Stroke นอกจากนี้ อาจพบในกลุ่มคนที่เดินทางขึ้นที่สูงมากๆ หรือในผู้ที่ใช้ยาหรือสารเสพติดบางชนิด โดยเฉพาะฝิ่นหรือยาแก้ปวดกลุ่ม Opioids ซึ่งทำให้มีการกดการหายใจ หรือแม้แต่คนไข้กลุ่มที่เพิ่งเริ่มใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก ซึ่งเดี๋ยวคุณหมอจะเล่าต่อว่าเหตุใดเราจึงไม่ควรซื้อเครื่องมาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์

“อาการที่เข้าข่ายอย่างแรกเลยคือ การนอนกรน เพราะเป็นสัญญาณว่าทางเดินหายใจส่วนบนเริ่มตีบลง นี่รวมถึงอาการสำลักน้ำลายแล้วสะดุ้งตื่นขึ้นมา อาการหายใจสะดุด แบบกรนแล้วเงียบไปและกลับมากรนดังๆ เป็นต้น อีกหนึ่งอาการที่ควรสังเกตคือ อาการง่วงทั้งๆ ที่นอนเพียงพอครบ 7-8 ชั่วโมง แต่ยังอ่อนเพลียไม่สดชื่น รวมถึงอาการที่รุนแรงอย่าง การหลับใน หมายถึงการหลับเฉียบพลัน”

“ซึ่งถ้ากำลังขับขี่ยานพาหนะอยู่หรือทำงานกับเครื่องจักร ก็อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ คนที่มี BMI หรือดัชนีมวลกายเกิน 23 สำหรับคนไทย ก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะนี้มากขึ้น เพราะไขมันที่เกาะตามอวัยวะต่างๆ มีโอกาสปิดกั้นการหายใจได้ เช่น ที่คอหรือที่เรียกว่า ‘เหนียง’ เวลาที่อยู่ในท่านอน เหนียงก็สามารถไปปิดกั้นทางเดินหายใจได้เช่นกัน” คุณหมอบอกว่า หากมีอาการเสี่ยง โดยเฉพาะมีหลายอาการร่วมกัน ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำ Sleep Test เพื่อหาสาเหตุของอาการและหาแนวทางการรักษากันต่อไป

หากมาพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ พญ.เพชรรัตน์ เผยว่า แนวทางการรักษานั้นมีหลายวิธี ทั้งแบบไม่ผ่าตัดและผ่าตัด สำหรับแบบไม่ผ่าตัดเราจะเรียกว่าวิธีอนุรักษ์ อย่างแรกที่ทำได้ด้วยตนเอง คือ การควบคุมน้ำหนัก ดัชนีมวลกายคนไทยควรน้อยกว่า 23 อีกวิธีคือการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เครื่องฯ จะทำหน้าที่ดูดอากาศในห้องนอน แล้วทำเป็นแรงลมอัดอากาศ เพื่อเปิดทางเดินหายใจขณะนอนหลับ

แต่ว่าตามที่เกริ่นไว้ คือ คนไข้ไม่ควรซื้อเครื่องนี้มาใช้เองโดยเด็ดขาด ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการสมองสั่งให้หยุดหายใจ แทนที่จะหายอาจเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ ยังมีวิธีอีกมากมายที่ช่วยลดอาการได้ เช่น การใส่ทันตอุปกรณ์ เพื่อเปิดทางเดินหายใจส่วนบน, การปรับท่านอน ล่าสุดจะมีเครื่อง Sleep Position Trainer ที่สั่นเตือนให้เรานอนในท่าที่เหมาะสมได้

รวมถึงการฝึกกล้ามเนื้อช่องคอ, การใช้ Nasal Strip ที่ช่วยเรื่องการหายใจและลดอาการกรน หรือแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม ก็ช่วยลดอาการในคนบางกลุ่มได้ ตลอดจนการใช้ยา เช่น กลุ่มโรคอาการจมูกตัน พวกภูมิแพ้มีอาการคัดจมูก การพ่นยาเพื่อเปิดจมูกก็อาจช่วยเรื่องกรนได้

สำหรับการรักษาด้วยการผ่าตัด คุณหมอ บอกว่า ปัจจุบันนี้มีเทคนิคการผ่าตัดมากมายที่ทันสมัย ส่วนจะผ่าตัดอวัยวะทางเดินหายใจใด ขึ้นอยู่กับว่าเราตีบหรือตันตรงไหน เช่น จมูก เพดานอ่อน โคนลิ้น เป็นต้น คนที่ลองทำตามวิธีที่อธิบายไปข้างต้นแล้วไม่ได้ผล ก็อาจต้องลองวิธีผ่าตัด ท้ายที่สุดแล้ว จะใช้แนวทางการรักษารูปแบบใด ทั้งแบบผ่าหรือไม่ผ่า พญ.เพชรรัตน์ แสงทอง กล่าวว่า อยากให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์และทำการตรวจร่างกายก่อน พร้อมการทำ Sleep Test เพื่อดูความรุนแรงของโรค

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบต่อทุกระบบในร่างกายอย่างไม่น่าเชื่อ โดยโรคนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคความดัน ไขมัน เบาหวาน และอ้วนลงพุง นอกจากนี้ ยังเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคความจำเสื่อม มีความผิดปกติทางอารมณ์ และเป็นโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย เพื่อการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที แพทย์แนะนำให้ผู้มีอาการเสี่ยงพบแพทย์เพื่อรักษาอาการ ก่อนที่โรคจะรุนแรงและส่งผลต่อระบบอื่นๆ ของร่างกายในภายหลัง

สำหรับผู้ที่สนใจพบแพทย์เพื่อรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลวิมุต ชั้น 5 โรงพยาบาลวิมุต พหลโยธิน หรือโทรศัพท์นัดหมาย 02-079-0050 เวลา 08.00-20.00 น.